xs
xsm
sm
md
lg

292:155 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 57 วงเงิน 2.52 ล้านล้านแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ที่ประชุมสภาฯ มีมติ 292 ต่อ 155 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 วงเงินรวม 2.52 ล้านล้านบาท ตั้ง กมธ.วิสามัญ 63 คน ประชุมนัดแรก 3 มิ.ย. ก่อนปิดสมัยประชุมฯ “อภิสิทธิ์” จี้รัฐต้องดูโครงสร้างจำนำข้าวขาดทุน ความเหลื่อมล้ำ และขึ้นค่าแก๊สหุงต้ม ด้าน “กิตติรัตน์” อ้างทำตามยุทธศาสตร์ประเทศ

วันนี้ (31 พ.ค.) ที่รัฐสภา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 วงเงินรวม 2.52 ล้านล้านบาท เป็นวันที่ 3 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายว่า ตนได้รับหนังสือที่ส่งมาจากรัฐบาลที่อ้างว่าเป็นยุทธศาสตร์ประเทศหลังจากที่ตนได้อภิปรายว่าการจัดสรรงบประมาณใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ไม่ได้สะท้อนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ซึ่งตนเกรงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะเข้าใจผิดคิดว่าตนอภิปรายว่ารัฐบาลไม่มีเอกสารเรื่องยุทธศาสตร์ประเทศ ทั้งนี้พวกตนไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลประเมินว่าขณะนี้การขาดดุลงบประมาณลดลง เพราะรัฐบาลกำลังกู้เงินนอกระบบงบประมาณ 2.35 ล้านล้านบาท ซึ่งประเทศที่กำลังพัฒนากู้เงินได้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ไม่อยากให้รัฐบาลประมาท ซึ่งหากรัฐบาลดูเฉพาะการขาดดุลงบประมาณในการประเมินสถานะทางการคลังนั้น รัฐบาลกำลังตั้งอยู่บนความประมาท และเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทที่จะนำไปใช้ก็ไม่ได้ทำตามที่นายกฯชี้แจง อาทิ การทำเครือข่ายการขนส่งเชื่อมต่อนั้นก็ไม่ใช่ เพราะรถไฟที่กำหนดให้ไปถึงหนองคายก็ไปหยุดที่นครราชสีมา และรถไฟไปปะดังเบซาก็ไปหยุดที่หัวหิน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า มีหลายเรื่องที่ถึงเวลารัฐบาลจะต้องดูโครงสร้าง อาทิ เรื่องจำนำข้าวที่มีการชี้แจงว่ามีการปิดบัญชีขาดทุนกว่า 2.6 แสนล้านบาท ก็มีการชี้แจงว่าเป็นเรื่องของ 17 โครงการ และทำหลายปี แต่กลับไม่ชี้แจงว่าแต่ละปีขาดทุนเท่าไหร่ ซึ่งตนเชื่อว่าหากเอาเงินทำโครงการจำนำข้าวทุกปีนอกเหนือ 2 ปีรัฐบาลนี้ ๆ ไม่มีทางได้ 1 ใน 3 ของการขาดทุนที่กำลังเกิดขึ้น และกลับมีการสร้างความเข้าใจว่าเรามีข้าวเก็บมากเป็นมหาอำนาจ แต่รายได้จากการขายข้าวกำลังลดลง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยก็สรุปแล้วว่าใน 4 ไตรมาสที่ผ่านมา กำลังซื้อรายได้ภาคการเกษตรติดลบ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรทบทวน ส่วนเรื่องความเหลื่อมล้ำทั้งเรื่องโครงสร้างที่ดิน สวัสดิการ และเงินออม รัฐบาลกลับไม่มีการจัดงบประมาณเรื่องนี้ และการขึ้นค่าแก๊สหุงต้ม และขึ้นค่าน้ำมันก็เป็นการซ้ำเติมประชาชน รวมทั้งปัญหาไข่แพง ดังนั้นหลายเรื่องถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องดูโครงสร้าง

“การที่นายกฯ ยืนยันว่าสิ่งที่รัฐบาลทำมาทั้งหมด ทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศดีขึ้นแล้ว แต่ตัวเลขขีดความสามารถการแข่งขันที่นายกฯพูดทุกด้านนั้น ไม่มีด้านใดเลยที่อยู่ในอันดับที่ดีกว่าปี 2553 ทั้งศักยภาพการแข่งขันบอกขั้นมา 27 ปี 53 อยู่ที่ 26,ด้านเศรษฐกิจอยู่อันดับ 9 แต่ปี 53 อยู่อันดับ 6, เสถียรภาพรัฐบาลอยู่อันดับ 22 ปี 53 อยู่อันดับ 18, ด้านธุรกิจปีนี้ลำดับที่ 28 ปี 53 อยู่อันดับ23, ด้านโครงสร้างพื้นฐานอันดับ 48 ปี 53 อยู่อันดับ 46 ฉะนั้นการที่ท่านอ้างตัวเลขนี้จึงไม่ใช่คำยืนยันว่ามาถูกทิศทางแล้ว เพราะยังไม่ถึงปี53 เลย จึงอยากฝากความห่วงใยเรื่องนี้และยืนยันว่าพวกเราไม่สามารถรับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี รมว.คลัง กล่าวขอบคุณสมาชิกที่ใช้เวลาดำเนินการอภิปรายร่างงบในชั้นรับหลักการเป็นเวลา 3 วัน ถือเป็นการพิจารณาที่มีความหมาย ซึ่งจะมีอภิปรายในรายละเอียดในวงกว้างต่อไป โดยยืนยันว่าการจัดทำงบประมาณเพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์ประเทศสอดคล้องต่อนโยบายที่แถลงต่อสภาโดยเน้นการ กระจายงบประมาณไปยังประชาชนอย่างเป็นธรรม และทั่วถึง มุ่งหวังให้เกิดความยั่งยืน ใข้ทรัพยากรชาติอย่างคุ้มค่า จึงขอให้สมาชิกรับในหลักการและเชื่อว่า ทุกความเห็นและข้อสังเกตุที่อภิปรายกันว่าตลอด 3 วัน จะมีการนำไปประกอบการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการเพื่อให้การจัดสรรงบประมาณเป็นไปอย่างรอบคอบต่อไป

จากนั้นที่ประชุมได้มีการลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ด้วยคะแนนเสียง 292 เสียง ไม่รับหลักการ 155 เสียง งดออกเสียง 27 เสียง ไม่ลงคะแนน 4 เสียง โดยมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 63 คน และกำหนดวันแปรญัตติ 30 วัน และกำหนดให้คณะกรรมาธิการวิสามัญประชุมนัดแรกในวันที่ 3 มิ.ย. จากนั้นได้รับทราบพระบรมราชโองการพระราชกฤษฏีกา ปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ 1 มิ.ย.นี้

โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโอการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า ตามที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2556 ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. 2556นั้น บัดนี้สมควรจะปิดประชุมได้แล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 128 และมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2556 ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2556 ให้ไว้ ณ วันที่ 30 พ.ค. 2556 เป็นปีที่ 68 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี











กำลังโหลดความคิดเห็น