รายงานการเมือง
คำสั่งปลัดกระทรวงการคลังที่สับเปลี่ยนหน้าที่ “นางสาวสุภา ปิยะจิตติ” รองปลัดกระทรวงการคลัง
จากเดิมที่ดูแลกรมบัญชีกลาง และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ไปรับผิดชอบ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ลงวันที่ 27 พ.ค. 2556
ถือเป็น “ใบเสร็จ” ยืนยันถึงการบริหารที่ไร้ธรรมาภิบาลของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เพราะคนที่ติดตามเรื่องความเสียหายจากโครงการจำนำข้าวอย่างต่อเนื่อง จะเข้าใจทันทีถึงสาเหตุที่ทำให้ “สุภา” ถูกเด้งออกจากความรับผิดชอบเดิม ซึ่งมีอีกสถานะหนึ่งคือเป็นประธานคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกด้วยนั้น ย่อมมีความชัดเจนอยู่ในตัวว่า
รัฐบาลกำลังดิ้นหนีตายจากการสร้างความเสียหายครั้งมโหฬารจากโครงการจำนำข้าว ที่ไม่เพียงแต่ทำลายอนาคตข้าวไทย แต่ยังทำเงินแผ่นดินเจ๊งยับถึง 2.6 แสนล้านในช่วงเวลาไม่ถึง 2 ปีที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศ
ด้วยการปกปิดข้อมูล แทนที่จะทบทวนโครงการที่สร้างความเสียหายให้กับชาติบ้านเมือง นับจากนี้ไปตัวเลขความเสียหายเกี่ยวกับโครงการจำนำข้าวที่จะออกมาคงไม่ตรงไปตรงมา เหมือนในยุคที่ “สุภา” เป็นประธานคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวอีกต่อไป
เนื่องจากรัฐบาลที่ไม่ชอบการพูดความจริงได้โยกย้ายเอาคนที่สั่งได้ไปนั่งปั้นตัวเลข ตามที่ฝ่ายการเมืองต้องการเรียบร้อยแล้ว
สิ่งที่คนไทยควรย้อนกลับไปทบทวนดูคือ คุณูปการที่ “สุภา ปิยะจิตติ” ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ชาติบ้านเมืองที่ปรากฏให้เห็นประจักษ์เด่นชัดจากการทำหน้าที่ตรงไปตรงมาโดยไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมของเธอมีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน
เรื่องแรกที่ฮือฮาสร้างความสั่นสะเทือนถึงโครงการจำนำข้าว ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่มีคนรวยจากโครงการนี้แต่ไม่ใช่ชาวนา คือ รายงานผลการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 และพิจารณาปริมาณและวงเงินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสุภาชงเอกสารให้ ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ลงนามเสนอ ครม.ให้พิจารณาถึงปัญหาโครงการจำนำข้าวที่จะสร้างภาระด้านงบประมาณอย่างหนัก และสร้างหนี้เพิ่มถึงปีละ 2.2 แสนล้านบาท
ในเอกสารดังกล่าว ยังมีเนื้อหาสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาประโยชน์ชาติและเงินแผ่นดินอย่างชัดเจน โดยไม่ได้มุ่งตอบสนองการเมืองอย่างไร้สติ
“เนื่องจากเงินค้ำประกันในปีงบประมาณ 2556 มีจำกัด กระทรวงการคลังเห็นควรจัดสรรวงเงินกู้ไม่เกิน 150,000 ล้านบาท สำหรับเป็นการหมุนเวียนในการดำเนินโครงการที่มีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลทางการเกษตรตามนโยบายรัฐบาล โดยโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 เป็นส่วนหนึ่งของกรอบหนี้
โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินกู้และดอกเบี้ย รัฐบาลรับภาระชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยจากเงินกู้ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินโครงการทั้งหมด”
เอกสารดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ อย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นจำเลยที่ถูกเร่งรัดให้ต้องรีบระบายข้าวเพื่อหาเงินมาคืน ธ.ก.ส.โดยเร็ว แทนที่จะผลักภาระให้คลังหาเงินกู้หรือให้ ธ.ก.ส.สำรองจ่ายจนอาจกระทบต่อสถานะทางการเงินของธนาคารในที่สุด
ขณะเดียวกัน ในฐานะประธานคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ สุภา ยังแทงหนังสือคัดค้านการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า
อาจมีการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชน รวมทั้งอาจเข้าข่าย พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ (พ.ร.บ.ฮั้ว) จนถูก กสทช.เล่นงานกลับด้วยการทำหนังสือด่วนที่สุดถึง อารีย์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อเอาผิดทางวินัยเลยทีเดียว
แต่ก็ไม่ได้ทำให้ สุภา สะทกสะท้านหรือหวั่นไหว เธอออกมายืนหยัดต่อสู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ชาติโดยไม่หวั่นเกรงว่า จะกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่ทางราชการของตัวเองหรือไม่
“กสทช.เป็นองค์กรอิสระก็จริง แต่เป็นเพียงอิสระจากการแทรกแซงทางการเมืองโดยรัฐบาล แต่ไม่ได้เป็นอิสระจากการตรวจสอบของประชาชน และต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติ”
นี่คือคำพูดของหญิงเหล็กที่คนไทยควรยกย่อง
ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุดที่ทำให้รัฐบาลสะดุ้งยิ่งกว่างูถูกตีขนดหาง คือ รายงานการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวที่สรุปความเสียหายในโครงการนี้ว่าขาดทุนไปแล้ว 206,000 ล้านบาท บวกกับค่าบริหารจัดการการเก็บข้าวโดยกระทรวงพาณิชย์อีก 33,000 ล้านบาท และการเสื่อมค่าของข้าวที่เก็บไว้อีก 20,000 ล้านบาท รวมขาดทุนถึง 260,000 ล้านบาท
ความจริงที่ สุภา รายงานต่อรัฐบาลเพื่อฟ้องต่อสังคม ทิ่มแทงใจดำรัฐบาลจนนั่งไม่ติด ต้องโยกให้พ้นจากความรับผิดชอบในเรื่องการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวทันที และด้วยความเป็นข้าราชการอาชีพ สุภา ไม่เอ่ยปากขอความเห็นใจจากใคร นอกจากการยืนหยัดทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเข้มแข็งต่อไป โดยยึดคติว่าอยู่ที่ไหนก็ทำเพื่อชาติได้
ถ้ายังจำกันได้ผู้หญิงคนนี้คือคนที่กล้าให้ความเห็นว่า เมื่อกรมสรรพากรไม่อุทธรณ์เรื่องการเก็บภาษีหุ้นจาก พานทองแท้ และพินทองทา บุตรชายและบุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท ก็ต้องไปเก็บภาษีจากเจ้าของหุ้นตัวจริงคือ พ.ต.ท.ทักษิณ
และเธอทำความเห็นนี้ในยุคที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี ชื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
สังคมไทยเหลือข้าราชการที่ดีน้อยเต็มที คนไทยควรจะได้เชิดชูข้าราชการที่ทำหน้าที่ตอบแทนคุณแผ่นดินรักษาประโยชน์ชาติ ในขณะที่ข้าราชการคนอื่นๆ ที่กินเงินหลวง มีรายได้จากภาษีของประชาชน ก็ควรจะได้สำนึกว่า
พวกท่านมีความสำคัญยิ่งที่จะช่วยยับยั้งความเสียหายให้กับชาติบ้านเมือง เพราะหากกลไกข้าราชการรับใช้ประเทศชาติ ไม่ใช่ตอบสนองฝ่ายการเมืองร่วมทำร้ายประเทศเพื่อความเจริญก้าวหน้าส่วนตัวแล้ว ไม่ว่าใครหน้าไหนเข้ามามีอำนาจก็ทำลายบ้านเมืองไม่ได้
ถึงเวลาที่พี่น้องข้าราชการต้องลุกขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ก่อนที่จะไม่เหลืออะไรไว้ให้ลูกหลาน