ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ณ วันที่ 5 มีนาคม 2556 กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางได้ดำเนินการจ่ายคืนเงินให้กับประชาชนที่ซื้อรถยนต์กับโครงการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรก ไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 99,269 ราย เป็นเงินรวม 6,889 ล้านบาท แต่ข้อมูลจากกรมสรรพสามิตที่ได้แจ้งต่อกรมบัญชีกลางถึงจำนวนผู้ซื้อรถยนต์ในโครงการรถยนต์คันแรกและครบกำหนดที่จะขอใช้สิทธิ์ในปี 2556 คิดเป็นเงินจำนวน 3.8 หมื่นล้านบาท แต่กระทรวงการคลังได้ตั้งงบประมาณไว้เพียง 7 พันล้านบาท ทำให้จำนวนเงินที่เหลืออยู่นั้นไม่เพียงพอ ยังขาดอีก 3.1 หมื่นล้านบาท
ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าเงินที่เหลืออีกกว่า 3.1 หมื่นล้านบาทนั้น กรมบัญชีกลางจะไปควานหาเงินจากส่วนไหนมาจ่ายคืนให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ แหล่งเงินถุงเงินถังที่สำคัญที่กรมบัญชีกลางเห็นว่าพอจะหยิบยืมมาเพื่อใช้ในโครงการนี้ให้อยู่ได้ตลอดรอดฝั่งโดยไม่คำนึงถึงวินัยทางการคลังคือการดึงเงินคงคลังที่มีอยู่กว่า 3 แสนล้านบาทมาโปะโครงการนี้ให้ปิดโครงการได้อย่างสวยงาม
โดยก่อนหน้านี้ กรมบัญชีกลางได้เตรียม 4 แนวทางที่จะดึงเงิน คือ 1.จากงบฉุกเฉินกลาง โดยขอเกลี่ยจากส่วนราชการที่ยังไม่ได้ใช้ แต่พิจารณาแล้วพบว่างบส่วนนี้จะเกลี่ยได้ยาก เนื่องจากส่วนราชการได้เตรียมที่จะใช้จ่ายไว้เรียบร้อยแล้ว 2.ขอแปรญัตติงบประมาณ 3.ใช้วิธีการกู้เงิน ทั้งแนวทางที่ 2 และ 3 นั้น ต้องยกเลิกไป เพราะเกรงว่า จะเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านนำมาโจมตีรัฐบาล ทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้น
และแนวทางสุดท้ายที่กรมบัญชีกลางเลือกเป็นแนวทางที่ 4 คือ การขอใช้เงินคงคลัง เพราะเห็นว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมมากที่สุด และระดับเงินคงคลังก็มีเหลืออยู่มาก แต่จะต้องใช้คืนในปีงบประมาณถัดไปตามกฎหมาย ส่วนปีงบประมาณหน้านั้น ทางกรมบัญชีกลางจะขอตั้งงบประมาณเต็มจำนวนสำหรับผู้ที่ครบกำหนดใช้สิทธิ์โครงการทั้งหมด
เรื่องดังกล่าว มนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ออกมายอมรับอย่างชัดเจนว่า กรมบัญชีกลางได้จ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ใช้สิทธิ์ในโครงการรถยนต์คันแรกแล้วจำนวน 99,269 ราย เป็นเงินรวม 6,889 ล้านบาท ขณะที่วงเงินที่ตั้งงบประมาณไว้ในปีนี้มีจำนวน 7,000 ล้านบาท ฉะนั้นจึงเหลือวงเงินที่จะจ่ายได้ประมาณกว่า 200 ล้านบาทเท่านั้น กรมบัญชีกลางจึงเตรียมที่จะดึงเงินของส่วนราชการที่ตั้งขอเบิกเป็นงบกลางไว้ เพื่อนำไปใช้จ่ายในโครงการดังกล่าว
"ขณะนี้กำลังพิจารณาดึงเงินของส่วนราชการที่ตั้งงบขอเบิกเป็นงบกลางไว้ แต่ไม่ได้ใช้จ่าย นำกลับมาใช้ในโครงการคืนภาษีรถยนต์คันแรก เนื่องจากการเบิกจ่าย ณ วันที่ 5 มีนาคม 2556 เป็นยอดเงิน 6,889 ล้านบาท จำนวน 99,269 ราย จากจำนวนผู้เข้าโครงการทั้งสิ้น 1.25 ล้านราย ขณะที่วงเงินงบประมาณปี 2556 ตั้งไว้ปีนี้ 7,000 ล้านบาท"
กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ก็ออกมายืนยันว่า รัฐบาลไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณสำหรับคืนเงินให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการคืนภาษีรถคันแรกแต่อย่างใด แม้ขณะนี้งบประมาณที่เหลืออยู่จะมีเพียงเล็กน้อย
ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ที่มีสิทธิ์จะได้รับเงินคืนต้องครอบครองรถยนต์ครบ 1 ปี คือเงินที่คืนให้กับรถคันแรกจึงเป็นเงินที่เจ้าของรถจ่ายมาแล้ว ซึ่งไม่น่าเป็นห่วง ส่วนผู้ตัดสินใจยกเลิกการจองซื้อรถคันแรกมีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบการจองสิทธิ์ 1.25 ล้านคัน เพราะยังมีผู้ต้องการซื้อรถตามที่จองไว้ถึง 99% นอกจากนี้กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมาตรการรัฐบาลที่สนับสนุนการผลิตรถยนต์ คาดว่าในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า ไทยจะผลิตรถได้ถึง 3 ล้านคันต่อปี เพราะไทยมีความสำคัญ เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ 1 ใน 10 ของโลก
ด้าน อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า กระทรวงการคลังตัดสินใจที่จะดึงเงินงบประมาณในส่วนที่เป็นเงินคงคลัง เพื่อใช้สนับสนุนโครงการคืนเงินรถยนต์คันแรก เนื่องจากงบประมาณประจำปี 2556 ที่ตั้งเอาไว้สำหรับจ่ายในโครงการดังกล่าวประมาณ 7 พันล้านบาทนั้น ขณะนี้ได้จ่ายคืนเงินให้กับผู้มีสิทธิ์ในโครงการฯ แล้วประมาณ 6,889 ล้านบาท คิดเป็น 99,200 ราย ทำให้ขณะนี้เหลือเงินอยู่เพียงแค่กว่า 300 ล้านบาทเท่านั้น
"ปีนี้ตั้งงบเพื่อจ่ายคืนเงินฯ เอาไว้ที่ 7 พันกว่าล้านบาท แต่ภาระที่ต้องจ่ายจริง ประมาณ 38,000 ล้านบาท โดยกรมบัญชีกลางจ่ายไปแล้ว 99,200 ราย รวม 6,889 ล้านบาท ทำให้ไม่พอจ่ายให้กับผู้ได้สิทธิ์ฯในเดือน เม.ย.นี้ และทำให้ยังขาดเงินที่ต้องจ่ายคืนทั้งปีอีกประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท จึงตัดสินใจใช้เงินคงคลังที่มีอยู่กว่า 2-3 แสนล้านบาทในปัจจุบันมาใช้ก่อน แล้วค่อยไปตั้งงบประมาณชดเชยในปี 2557 อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าเราไม่ได้ขาดสภาพคล่องหรือไม่มีเงินแต่อย่างใด"
เมื่อย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นโครงการสมัยที่พรรคเพื่อไทยประกาศเป็นนโยบายหาเสียงเอาไว้ โดยประมาณการณ์เบื้องต้นไว้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 5 แสนราย ใช้งบประมาณในการคืนเงิน 7,250 ล้านบาทเท่านั้น แต่แคมเปญนี้ดีเกินคาดมีผู้แห่เข้ามาร่วมโรงการสูงถึง 1.25 ล้านราย ใช้เม็ดเงินสำหรับโครงการนี้ทั้งสิ้น 9.1 หมื่นล้านบาท
นี่ยังไม่นับโครงการประชานิยมอื่นๆ ทั้งรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดที่ต้องใช้เงินอีก 4.1 แสนล้านบาท จนแทบทำให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือ ธ.ก.ส. แทบขาดสภาพคล่องจากการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลอย่างไร้ประสิทธิภาพมาแล้ว
หากรัฐบาลยังดึงดันที่จะผลักดันโครงการประชานิยมเพื่อตักตวงคะแนนเสียงเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการ อีกไม่นานประเทศไทยก็คงมีปัญหาภาระทางงบประมาณจนอาจเกิดวิกฤติทางการเงินเช่นเดียวกันกับหลายประเทศที่กำลังหาทางออกอยู่ในขณะนี้อย่างแน่นอน!...