“ปานเทพ” พร้อมทนายพันธมิตรฯ ร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ปธ.สภาฯ-312 ผู้ทรงเกียรติ แก้ ม.68 ล้มการปกครอง มีผลยุบพรรคตัดสิทธิการเมือง ขอศาลรวมพร้อม 4 คำร้องที่ร้องก่อนหน้าสั่งรวมเป็นสำนวนเดียวกัน โฆษกพันธมิตรฯ ยันไม่ช้าเกิน ชี้เติมเต็ม 4 คำร้องที่ขาด มัดพฤติกรรมนายใหญ่หวังแก้ ม.68 ปูทางล้ม รธน. ไม่ได้จินตนาการ ซัด กมธ.โกหก ปชช. ลิดรอนสิทธิปกป้อง รธน.
วันนี้ (27 พ.ค.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เวลา 15.30 น. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68 ของประธานรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภา 312 คน เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรรคเป็นเวลา 5 ปีหรือไม่ โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญนำคำร้องดังกล่าวไปรวมพิจารณากับ 4 คำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับและมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นสำนวนเดียวก่อนหน้านี้
โดยนายปานเทพกล่าวว่า การมายื่นคำร้องครั้งนี้ไม่ถือว่าช้าเกินไป แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมในวันที่ 29 พ.ค. เพื่อพิจารณาว่าจะกำหนดกระบวนวิธีพิจารณาอย่างไร เพราะคำร้องที่ยื่นเป็นการเติมเต็มให้กับ 4 คำร้องที่ศาลฯ รับวินิจฉัยไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีการชี้ให้เห็นถึงพฤติการณ์ต่างๆ ของแกนนำพรรคเพื่อไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เห็นถึงเจตนาของการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68 ว่าจะนำไปสู่การล้มเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งไม่ถือเป็นเรื่องของการจิตนาการ หรือเป็นการคาดการณ์ไปก่อนล่วงหน้า
นายปานเทพยังกล่าวอีกว่า พันธมิตรฯ เห็นว่าการที่กรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 68 จะมีการแก้มาตราดังกล่าว โดยกำหนดเงื่อนเวลาให้อัยการพิจารณา กรณีมีคำร้องว่ามีการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ และหากพ้นระยะเวลาแล้วอัยการดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ผู้ที่พบเห็นการกระทำสามารถยื่นตรงให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้นั้น ไม่ได้ถือว่าเป็นการคงสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชน เพราะในทางคดีหากพิจารณาล่าช้าไปเพียงวันเดียวก็ทำให้เกิดความเสียหายได้ อีกทั้งเรื่องของการกำหนดระยะเวลานั้นเป็นการกำหนดเฉพาะในหมวดที่ 3 ที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการกระทำตามหมวดอื่น เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่อยู่ในหมวดที่ 15 ประชาชนจะไม่มีสิทธิยื่นคำร้องได้เลย ไม่ว่าจะผ่านอัยการสูงสุดหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น ที่กรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ออกมาระบุว่าที่แก้ไขมาตรา 68 นั้นไม่ได้ เป็นการลิดรอนสิทธิประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญถือว่าเป็นการหลอกลวงประชาชน
รายงานข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า สำหรับการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 29 พ.ค.นั้น จะเป็นการพิจารณาว่า คำชี้แจงของผู้ถูกร้องใน 4 คำร้องที่รับไว้พิจารณาวินิจฉัยส่งมานั้นครบถ้วน มีหลักฐานเพียงพอให้วินิจฉัยได้เลยหรือไม่ หรือศาลจะต้องไต่สวนเพิ่มเติม หากจะไต่สวนเพิ่มเติมจะใช้วิธีการใด ส่วนคำร้องที่กลุ่มพันธมิตรฯยื่นมาในวันนี้ แม้จะมีลักษณะเดียวกับ 4 คำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งรับไว้พิจารณาวินิจฉัย ก็ถือว่าเป็นคำร้องใหม่ที่ต้องให้ตุลาการประจำคดีเป็นผู้พิจารณาก่อนว่าสมควรจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีการยืนยันชัดเจนว่าในการประชุมคณะตุลาการวันที่ 29 พ.ค.นี้ จะมีการเสนอคำร้องดังกล่าวของกลุ่มพันธมิตรให้ที่ประชุมได้พิจารณาหรือไม่