ประธาน กบอ.เผยจ้างบริษัทที่ปรึกษาโครงการน้ำ 2 ประเภท คาดใช้งบ 6-7 พันล้าน พร้อมตั้ง กก.ชุด “ธงทอง” คัดโครงการสัปดาห์หน้า นำข้าราชการมีส่วนร่วม จี้เจ้าของที่ถูกเวนคืนมีจิตสาธารณะ ซัดแล้งน้ำใจ ไล่ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อทำไม่ได้ เล็งนำน้ำเสียพัทยาไปบำบัดใช้อุตสาหกรรม หยันไจก้าออกแบบเขื่อนแม่งัดไม่มีน้ำ
วันนี้ (24 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดจ้าง บริษัทที่ปรึกษาในการก่อสร้างโครงการน้ำว่า บริษัทที่ปรึกษาจะแบ่งเป็น 2 ประเภท โดยประเภทแรก ทำหน้าที่ช่วยบริหารและตรวจกำกับแบบ ซึ่งจะใช้ 4 กลุ่มบริษัท แต่บริษัทที่ 4 ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับคลังข้อมูลจะมีการเพิ่มหน้าที่คุมการก่อสร้างและตรวจการจ้างด้วย ซึ่งจะดำเนินการภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ โดยจะเป็นการเปิดประมูลทีโออาร์ ที่มี 2 ซอง คือซองด้านเทคนิค และ ราคา มีการกำหนดคุณสมบัติว่าต้องมีบุคลากรประเภทไหนจำนวนกี่คนไว้อย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นวิธีปกติในการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทั่วไป ส่วนที่ 2 จะจัดจ้างเมื่อการก่อสร้างใกล้เข้ามา เพื่อทำหน้าที่คุมการก่อสร้างไปอยู่ที่หน้างานและคอยให้คำแนะนำเรื่องการตรวจรับ โดยส่วนนี้น่าจะมี 20-30 บริษัท และจะมีการตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ที่เป็นนายช่างโครงการ คอยดูแลโครงการที่จะทำงานควบคู่กับบริษัทที่เข้ามาด้วย
นายปลอดประสพ ยังกล่าวถึงงบประมาณในการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาทั้ง 2 ส่วนในระยะเวลา 5 ปี ด้วยว่า จะให้เป็นเปอร์เซ็นต์ ซึ่งประเภทแรกตนได้ยินว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2-2.5 ของวงเงินโครงการ ส่วนที่ 2 น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2 เป็นไปตามระเบียบที่มีอยู่ โดยวงเงินทั้งหมดน่าจะอยู่ที่ 6-7 พันล้านบาท
นอกจากนี้นายปลอดประสพ ยังกล่าวด้วยว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการแต่งตั้งกรรมการชุดของ ธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเป็นเพียงการตั้งตำแหน่งแต่ไม่มีตัวบุคคล ต่อไปก็จะตั้งตัวบุคคลตามตำแหน่งให้ครบทุกหน่วยงานของน้ำ โดยจะนำข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำ เช่น ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงเกษตร เข้ามามีส่วนร่วม
ประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย ยังให้สัมภาษณ์ถึงการเวนคืนพื้นที่ สำหรับการก่อสร้างโครงการน้ำว่า การเวนคืนโครงการน้ำไม่ได้ต่างจากการเวนคืน สำหรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯแต่อย่างใด เพราะต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเวนคืน จะต้องมีการจ่ายเงินให้กับประชาชนตามระเบียบที่มีอยู่ และประชาชนก็ต้องเข้าใจต้องมีจิตสำนึกสาธารณะ
“ไม่ต่างจากรถไฟฟ้าที่วิ่งอยู่ในกรุงเทพฯขณะนี้ ผมก็ยังแปลกใจว่า ทำถนนก็แล้ว ทำสนามบินก็แล้ว ไม่มีเรื่อง พอทำน้ำมีเรื่อง ตกลงน้ำมันเป็นอย่างไร ถึงแล้งน้ำใจกันขนาดนี้ และสถานที่เวนคืนของโครงการน้ำเทียบกับรถไฟฟ้า ก็ต่างกันอยู่ในพื้นที่ไกล ต้องคิดดูว่าเกิดอะไรขึ้น เพียงแต่มันไม่มีเอ็นจีโอ ทางสายรถไฟฟ้า สนามบิน แต่มีเอ็นจีโอเรื่องน้ำ” นายปลอดประสพ กล่าว
เมื่อถามว่า หากประชาชนไปร้องต่อศาลปกครองจะทำให้โครงการชะลอหรือไม่ นายปลอดประสพ กล่าวว่า ไม่ได้เพราะเป็นกฎหมายแล้วแย้งไม่ได้ ต้องไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่า พระราชกฤษฎีกาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และโดยพื้นฐานก็แย้งไม่ได้เพราะพระราชกฤษฎีกาเวนคืนมีไปแล้วเป็นหมื่นฉบับ และนี่เป็นพระราชกฤษฎีกาเวนคืนสำหรับโครงการสาธารณะ บริษัทที่ทำโครงการมีหน้าที่เพียงชี้จุดเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการเวนคืนเพราะเป็นเรื่องของข้าราชการ
รองนายกรัฐมนตรี ยังให้สัมภาษณ์ถึงแผนแม่บทลุ่มน้ำด้านตะวันออกว่า กบอ.ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อทำแผนแม่บทน้ำภาคตะวันออก ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้คุยกับอนุกรรมการชุดนี้ว่าได้ทำไปถึงไหน แต่ทราบว่าอนุกรรมการชุดดังกล่าวได้ทำเป็นโครงการ 5-6 โครงการ ซึ่งเป็นการข้ามขั้นตอน เพราะต้องการแผนแม่บทก่อน แล้วค่อยทำโครงการ ขณะนี้ยังไม่เห็นทั้งแผนแม่บทและโครงการ แต่ยินดีให้การสนับสนุนเพราะเห็นถึงความจำเป็น ทั้งนี้ ภาคตะวันออก ต้องมีการปรับปรุงเขื่อนที่แม่น้ำบางปะกง ที่สร้างด้วยงบประมาณกว่า 3 พันล้านให้ใช้ให้ได้ก่อน เพราะถ้าหากปรับปรุงได้จะมีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นทันที แล้วนำน้ำตรงนี้ไปใช้ และภาคตะวันออกมีเมืองท่องเที่ยวอย่างพัทยา ที่มีน้ำทิ้งจำนวนมาก จึงต้องบำบัดแล้วไปใช้ในระบบอุตสาหกรรม รวมถึงจัดทำระบบการเกษตรเฉพาะเวลา ที่เป็นพืชที่มีราคา ควรมีการจ่ายเงินค่าน้ำด้วย ซึ่งตนก็รอดูแผนดังกล่าวอยู่
เมื่อถามว่า เหตุใดเขื่อนบางปะกง ถึงใช้ไม่ได้ นายปลอดประสพ กล่าวว่า เขื่อนดังกล่าวนักวิชาการขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) เป็นผู้ออกแบบ แต่ทำใกล้ทะเลเกินไปลึกไม่พอ และดินริมฝั่งใต้เขื่อน ไม่มีความเสถียร เพราะเป็นดินโคลน และเมื่อน้ำทะเลขึ้นสูงก็ทำให้น้ำท่วมพื้นที่ท้ายเขื่อน เมื่อน้ำลงตลิ่งก็พัง ปัจจุบันจึงต้องเปิดทิ้งไว้ รวมถึงนักวิชาการของไจก้าก็เป็นผู้ออกแบบเขื่อนแม่งัด ที่ไม่มีน้ำทำให้รัฐบาลต้องเสียเงินกว่าจำนวนมาก เพื่อทำท่อเอาน้ำมาจากเขื่อนอื่นๆ เพราะทำเขื่อนใหญ่ไป แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดพลาดกันได้