xs
xsm
sm
md
lg

“ปลอด” เล็ง แจงทีโออาร์จัดการน้ำผ่านสื่อ ชี้ “รอยล” รับงานใหม่ รบ. ปัดเห็นต่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
“รองปลอด” เผยนายกฯ แนะทำเอกสารแจงทำทีโออาร์จัดการน้ำแก่ ปชช. พร้อมจับมือเลขาฯ สบอช.เคลียร์เทคนิค “ธงทอง-อัชพร” ไขปม กม. อ้าง “รอยล” ลาออก เหตุทำภารกิจให้ รบ.ใหม่ ปัดเห็นต่าง แนะตั้ง ขรก.ประจำขจัดปัญหา เผยบริษัทญี่ปุ่นเสนอราคาจัดการน้ำสูงจึงถอนตัว

วันนี้ (30 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เปิดเผยภายหลังเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่านายกฯ แนะนำให้ตนทำเอกสารเพื่อแจกให้แก่ประชาชนทราบถึงขั้นตอนและข้อเท็จจริงของขั้นตอนการบริหารจัดการน้ำ การทำทีโออาร์ รวมทั้งที่มาที่ไปของกระบวนการดังกล่าว เพื่อตอบข้อซักถามของสังคม โดยตนและนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) รับผิดชอบในการอธิบายด้านเทคนิค และนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และนายอัชพร จารุจินดา เลขาฯ กฤษฎีกา รับผิดชอบในการอธิบายด้านกฎหมาย ซึ่งนายกฯ ระบุว่าให้ตนนำเสนอข้อเท็จจริงผ่านสื่อต่างๆ

ส่วนกรณีนายรอยล จิตรดอน ลาออกจากคณะกรรมการ กบอ.นั้น นายปลอดประสพกล่าวว่า นายรอยลได้ยื่นจดหมายถึงนายกฯ โดยระบุว่า ขณะนี้ กบอ.ได้จัดทำทีโออาร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงขอลาออกไปเนื่องจากมีภารกิจของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ในการพัฒนาคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติตามที่รัฐบาลมอบให้ เพื่อไปนำข้อมูลไปสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลต่อไป ซึ่งกรณีของนายรอยลนั้นจะเป็นอุทาหรณ์ในการแต่งตั้งคณะกรรมการ โดยจะแต่งตั้งข้าราชการประจำให้เข้าปฏิบัติหน้าที่โดยตรง เพื่อจะได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะคำสั่งราชการไม่สามารถลาออกได้ ยืนยันว่าการลาออกดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความคิดเห็นที่แตกต่างกันเพราะนักวิชาการสามารถมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ตลอด

นอกจากนี้ นายปลอดประสพยังเปิดเผยการเสนอราคากรอบแนวคิดการบริหารจัดการน้ำของกลุ่มบริษัทร่วมค้าไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งได้ถอนตัวจากการแข่งขันไปว่ามีการเสนอราคารวมทั้งสิ้น 7.2 แสนล้านบาท ซึ่งเกินจากงบประมาณที่รัฐบาลตั้งไว้ถึง 3.2 แสนล้านบาท และบางแผนงานก็ใช้ระยะเวลาก่อสร้างนานกว่าที่กำหนด เช่น โครงการก่อสร้างฟลัดเวย์ในแผนงานที่ A5 ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินงานถึง 20 ปี ดังนั้นการอ้างถึงคำแนะนำของญี่ปุ่นจึงไม่น่าเชื่อถือ เพราะแผนงานของญี่ปุ่นเองใช้งบประมาณสูงแล้วจะสามารถประหยัดงบประมาณได้อย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น