“กรณ์” นำทีม กมธ.กู้เงิน 2 ล้านล้านเสียงข้างน้อยขู่เลิกสังฆกรรมรัฐบาล พร้อมยื่นศาล รธน.วินิจฉัยหากไม่เปิดข้อมูลทุกโครงการภายใน 3 มิ.ย. ระบุหมกเม็ดทุกขั้นตอน โครงการไม่มีความพร้อมถึง 1.5 ล้านล้านบาท เชื่อใช่เล่ห์แปลงเงินไปใช้โครงการอื่น ตั้งงบฯ สูงหวังฟันค่าที่ปรึกษา 6 หมื่นล้าน “สามารถ” ซัดใช้งบฯ ซ้ำซ้อน เงินกู้ 3.5 แสนล้านแก้น้ำท่วมไม่ได้ ต้องตั้งงบฯ รถไฟฟ้าความเร็งสูงแพงลิบเผื่อน้ำท่วม แถมเสกตัวเลขปั้นเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจคุ้มค่า “อรรถวิชช์” ระบุ รฟม.แฉเองรถไฟความเร็วสูงขาดทุนแบบอินฟินิตี ผลประโยชน์ตกสู่กระเป๋านักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ประเทศรับภาระหนี้
นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ส.ส.ระบบบัญชีายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ และนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อยพิจารณา พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท แถลงถึงการพิจารณากฎหมายดังกล่าวว่า ได้มีการยื่นคำขาดต่อกรรมาธิการเสียงข้างมากไปถึงรัฐบาลว่า ยังรอที่จะมีคำชี้แจงรายละเอียดโครงการต่างๆ ที่สำคัญซึ่งต้องใช้ในการพิจารณาว่าโครงการเหล่านี้ยังมีความเป็นไปได้ และเหมาะสมที่จะอนุมัติให้อำนาจรัฐบาลกู้ยืมเงิน 2 ล้านล้านบาทหรือไม่ เพราะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยสนับสนุนหลักการการลงทุนในการพัฒนาระบบขนส่งเพื่อลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่ารัฐบาลไม่มีความพร้อมในโครงการตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท อีกทั้งโครงการที่มีความพร้อมก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงิน 2 ล้านล้านบาท แต่สามารถหาเงินทุนจากแหล่งรายได้อื่น สำหรับในส่วนที่จำเป็นต้องกู้ก็สามารถกู้ผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีตามปกติได้ โดยไม่ต้องออกกฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท
นายกรณ์กล่าวว่า กรรมาธิการเสียงข้างมากพยายามโน้มน้าวให้ผ่านกฎหมายฉบับนี้ โดยอ้างว่าในอนาคตก็จะยังไม่มีการเบิกจ่ายเงินกู้หากโครงการไม่พร้อม แต่เรายืนยันว่าทำไม่ได้ เพราะเท่ากับมีส่วนในการอนุมัติเห็นชอบกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทโดยไม่สามารถยืนยันความพร้อมในโครงการได้เลย จนกว่าจะมีรายละเอียดให้เห็นชัดเจนว่าโครงการมีความพร้อมที่จะใช้เงินจริง จึงไม่สามารถปล่อยผ่านไปก่อนได้ตามที่ฝ่ายรัฐบาลต้องการ เนื่องจากเชื่อว่ารัฐบาลจะนำเงินไปใช้ในโครงการอื่นแทนเนื่องจากมีการเปิดช่องเอาไว้แล้ว เพราะไม่มีการบรรจุโครงการที่ชัดเจนเป็นบัญชีแนบท้ายในกฎหมาย
นอกจากนี้ เจตนาของรัฐบาลก็ไม่ยอมให้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องเข้ามาเป็นที่ปรึกษา เพื่อช่วยกรรมาธิการฯ พิจารณา รวมถึงตัวแทนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันที่รัฐบาลไปขอความร่วมมือในช่วงที่มีการพิจารณาวาระแรกในสภาฯ แต่เมื่อมีการส่งตัวแทนเพื่อให้มาเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการฯ รัฐบาลกลับปฏิเสธ จึงชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่แตกต่างจากการออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ไม่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบหรือแก้ไขตามความเหมาะสม
ดังนั้น หากหน่วยงานทั้งหมดไม่ให้รายละเอียดที่จำเป็นภายใน 3 มิ.ย. กรรมาธิการเสียงข้างน้อยจะไม่ร่วมพิจารณากับกรรมาธิการเสียงข้างมาก แต่จะเปิดโปงต่อสาธารณะ และยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากเห็นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงไม่ควรกู้เงินมากองไว้ และอาจมีการดัดแปลงเอาเงินกู้ไปใช้ในโครงการอื่น
“รัฐบาลต้องการรวบอำนาจในการใช้เงินกู้ก้อนดังกล่าวเอาไว้กับตัวเอง ซึ่งมีข้าราชการที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ถึงกับกระซิบกับพวกผมว่าหลายโครงการที่เสนอทำไม่ได้ แต่ต้องล็อกเงินไว้ในกฎหมาย เพื่อสลับเงินในส่วนนี้ไปใช้ทำอย่างอื่นที่ไม่ได้รายงานต่อสภาฯ ถือเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง และมีการกำหนดราคาโครงการสูงไว้ก่อน เพื่อหวังผลในการแต่งตั้งที่ปรึกษาโครงการซึ่งคำนวณเป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าโครงการ ไม่ว่าโครงการดำเนินการหรือไม่ ค่าที่ปรึกษาจะถูกจ่ายไปแล้ว โดยรวมสูงถึง 6 หมื่นล้าน ที่เป็นค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน จึงเชื่อว่ารัฐบาลไม่ได้สนใจว่าโครงการจะเป็นไปได้หรือไม่ ขอใช้เงินค่าที่ปรึกษาก่อน และเป็นการใช้เงินที่วัดผลการทำงานได้ยากที่สุด จึงยอมรับไม่ได้ที่จะร่วมสังฆกรรมกับการทำงานในลักษณะนี้”
สำหรับโครงการที่ไม่มีความพร้อมนั้น นายกรณ์กล่าวว่า รวมกันแล้วมูลค่าราว 1.5 ล้านล้านบาทที่ไม่มีความพร้อมเลย เช่น รถไฟความเร็วสูงทุกเส้นทาง มูลค่าเกือบ 8 แสนล้าน รถไฟทางคู่ 11 เส้นทาง พร้อมแค่ 5 เส้นทาง แม้แต่รถไฟในระบบขนส่งมวลชน กทม.บางเส้นทางก็ขาดความพร้อม ท่าเรือ 3 แห่งยังขาดการศึกษา ศูนย์กระจายสินค้า 15 ศูนย์ฯ ไม่มีความพร้อม แม้กระทั่งสถานที่ในการก่อสร้าง โดยข้อมูลที่กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อยได้สอดคล้องกับผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอที่ระบุว่ามูลค่าโครงการที่มีความพร้อมมีอยู่เพียงแค่ว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถใช้เงินงบประมาณปกติได้
ทั้งนี้ หากกรรมาธิการเสียงข้างน้อยไม่ร่วมพิจารณาแต่กรรมาธิการของรัฐบาลยังเดินหน้าพิจารณาต่อไปก็จะใช้วิธีการให้ข้อมูลต่อประชาชน และเตรียมข้อมูลสำหรับการอภิปรายในวาระ 2 และ 3 ในสภา จากนั้นจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่ากฎหมายดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่เมื่อผ่านวาระ 3 แล้วตามขั้นตอนของกฎหมาย
ด้านนายสามารถกล่าวว่า ปัญหาอุปสรรคสำคัญของกรรมาธิการเสียงข้างน้อย คือ ขาดข้อมูล เอกสาร รายงาน ไม่มีที่ปรึกษาเพราะรัฐบาลไม่ยอม โดยยกตัวอย่างว่าทุกครั้งที่มีการประชุมจะมีการทวงถามถึงข้อมูลที่ขอไป แต่ได้รับคำตอบว่าให้รอ ทั้งที่ข้อมูลที่ขอไปมีการจัดทำรายงานแล้ว ดังนั้นพฤติกรรมที่เกิดขึ้น จึงส่อว่ารัฐบาลจงใจปกปิดข้อมูล
ทั้งนี้ยังพบความผิดปกติเกี่ยวกับการศึกษา การออกแบบยังไม่แล้วเสร็จ แต่รัฐบาลเอาข้อมูลมาจากไหนในการคำนวณเป็นยอดงบประมาณ ซึ่งโครงการรถไฟความเร็วสูง แพงกว่ารัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กว่า 70% โดยชี้แจงว่าต้องยกระดับโครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นลอยฟ้า ไม่ใช่อยู่บนพื้นดิน เพื่อหนีน้ำท่วม ซึ่งตนได้โต้แย้งไปว่า รัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงินไปแล้ว 3.5แสนล้านบาท เพื่อป้องกันน้ำท่วม เท่ากับว่าเงินก้อนดังกล่าวจะป้องกันน้ำท่วมไม่ได้ และเป็นการใช้เงินซ้ำซ้อนกัน พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าทำไมโครงการรถไฟรางคู่จึงไม่ยกระดับ แต่ยกระดับเฉพาะรถไฟความเร็วสูง
นอกจากนี้ ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจของโครงการรถไฟความเร็วสูงทุกการศึกษายืนยันว่า เส้นทาง กทม.-หนองคาย ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุด รัฐบาลจึงควรก่อสร้างเส้นทางนี้ก่อน แต่ปรากฏว่า สนข.นำตัวเลขใหม่มาแสดงว่าผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ กทม.- เชียงใหม่ ดีกว่า กทม.-หนองคาย มีปาฏิหาริย์ทางวิชาการเสกให้เส้นทางนี้มีผลตอบแทนเศรษฐกิจดีกว่าเส้นทางหนองคาย
ส่วนนายอรรถวิชช์กล่าวว่า ในวันที่ 3 มิถุนายน ถ้ารัฐบาลยังให้ข้อมูลไม่ครบ กรรมาธิการเสียงข้างน้อยของพรรคประชาธิปัตย์ออกแน่ และยื่นศาลรัฐธรรมนูญด้วย เพราะมีการปกปิดผลตอบแทนด้านการเงินของแต่ละโครงการด้วย ทั้งที่โครงการเงินกู้นี้ต้องผ่อนชำระถึง 50 ปี และต้องจ่ายถึง 5 ล้านล้านในอนาคต แต่ยังมีการปกปิดตัวเลขผลตอบแทนด้านการเงินของแต่ละโครงการที่ติดลบมหาศาล ถึงขนาด รฟม.ใช้คำว่าติดลบแบบอินฟินิตี หรือไม่มีข้อจำกัด เท่ากับต้องใช้งบประมาณอุดหนุนการบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น เมื่อเงินกู้นี้ผ่านจะต้องมีการตั้งเงินงบประมาณในส่วนนี้เพิ่มอีกมาก โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง ทำให้ไม่สามารถคำนวณได้ว่าโครงการเหล่านี้จะสร้างภาระต่องบประมาณเพิ่มขึ้นในแต่ละปีเท่าไหร่
นอกจากต้องตั้งงบประมาณเพื่อใช้หนี้แล้ว ยังต้องตั้งงบอุดหนุนการขาดทุนของโครงการด้วย พร้อมกับยกตัวอย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ใช้เงินก่อสร้าง 3.8 แสนล้านบาท ยังต้องใช้เงินอุดหนุนมูลค่าสูงถึง 2 หมื่นล้านบาทต่อปีอีกด้วย เนื่องจากเป็นโครงการที่จะประสบภาวะขาดทุนอย่างแน่นอน ทั้งนี้รัฐบาลพยายามโชว์ตัวเลขผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจว่ามีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่ใช่กระเป๋าที่รัฐจะได้ เพราะเงินรายได้ดังกล่าวจะตกอยู่กับนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่รัฐบาลมีภาระด้านการเงินจากการขาดทุนในโครงการเหล่านี้