ที่ประชุม ครม.เด้ง “คุณหญิงพรทิพย์” จาก ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นผู้ตรวจราชการ ยธ.ส่งไปช่วยแก้ไฟใต้ ส่วน “ธีรัตถ์” ลูกหม้อช่องลูกทักษิณ-พิธีกรรายการรัฐบาล ดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกฯ ตามคาด โยก “หมอทศพร” รองเลขานายกฯ
วันนี้ (21 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ท.หญิง สุนิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 12 ราย ในส่วนของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้แก่ 1.นายอรพงศ์ เทียนเงิน รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง 2.นายทศพร เสรีรักษ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง (นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) 3.นายประทวน เขียวฤทธิ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง (นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี) 4.นายพศ อดิเรกสาร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) 5.นายธานี ยี่สาร ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวราเทพ รัตนากร) 6.นายแสวง ฤกษ์จรัล เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวราเทพ รัตนากร) 7.นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะที่ 8.นายอุดม ชลสิริรุ่งสกุล 9.นายสิงห์ทอง บัวชุม 10.นายจุติพงษ์ พุ่มมูล 11.นายเอกกฤษ อุณหกานต์ และ 12.นายสุรชาติ ตันติธนไพศาล ให้ดำรงตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี 2 ราย ได้แก่ พล.ต.ศรชัย มนตริวัต และนายประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ รวมทั้งมีมติรับโอนและแต่งตั้ง นายสุรศิษฏ์ บัวทรัพย์ ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
นอกจากนี้ ยังได้แต่งตั้งข้าราชการการเมืองของกระทรวงคมนาคมจำนวน 2 ราย ได้แก่ 1.นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (พล.อ.พฤณฑ์ สุวรรณทัต) 2.นายจิรัฏร์ นิธิอนันตภร ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) พร้อมทั้งแต่งตั้งข้าราชการการเมืองของกระทรวงอุตสาหกรรมจำนวน 2 ราย ได้แก่ นายพงษ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายฐานิสร์ เทียนทอง) และนายมานะ คงวุฒิปัญญา ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายฐานิสร์ เทียนทอง)
รวมทั้งยังแต่งตั้งข้าราชการการเมืองของกระทรวงการคลังจำนวน 2 ราย ได้แก่ นายไพบูลย์ พิมพ์พิสิษฐ์ถาวร ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ น.ส.อนุตตมา อมรวิวัฒน์ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย) โดยที่ประชุมยังมีมติแต่งตั้งข้าราชการการเมืองในกระทรวงอื่นๆ 5 ราย ได้แก่ 1.นายภิญโญ ตั๊นวิเศษ เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 2.นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด เป็นเลขานุการรัฐมนตีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 3.นายสมบัติ รัตโน เป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 4.นายซูการ์โน มะทา เป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิชย์) และ 5.นายพิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว)
สำหรับผู้ที่พ้นจากตำแหน่งในการแต่งตั้งครั้งนี้ ได้แก่ นายภัทรศักดิ์ โอสถานุเคราะห์ พ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนางลินดา เชิดชัย พ้นจากตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติแต่งตั้งในส่วนของข้าราชการพลเรือนกระทรวงยุติธรรม จำนวน 2 ราย ดังนี้ 1.แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการ และตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) 2.พ.ท.เอนก ยมจินดา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ออกจากตำแหน่งด้วย
สำหรับ นายธีรัตถ์ เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มบุกเบิกสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เมื่อปี 2539 เป็นทั้งนักข่าว โปรดิวเซอร์ และผู้ดำเนินรายการข่าวเศรษฐกิจของไอทีวี เคยเป็นบรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจ และพิธีกรรายการเส้นทางนักลงทุนของไอทีวี ซึ่งที่ผ่านมาไอทีวีถูกเครือชินคอร์ปเทกโอเวอร์ด้วยการกวาดซื้อหุ้นสามัญ กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เพียงรายเดียวในไอทีวี ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเป็นนายกรัฐมนตรี กระทั่งเมื่อวันที่ 7 มี.ค.2550 สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้บอกเลิกสัญญากับไอทีวี หลังจากไม่สามารถชำระค่าสัมปทาน และค่าปรับผิดสัญญาคงค้าง คิดเป็นเงินประมาณ 1 แสนล้านบาทได้ทันตามกำหนด
จากนั้นกรมประชาสัมพันธ์เข้ามาดูแลสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ช่อง 29 แทนไอทีวี และเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี โดย นายธีรัตถ์ ยังทำงานอยู่เช่นเดิม พร้อมพนักงานไอทีวีคนอื่นๆ จากนั้นวันที่ 15 ม.ค.2551 ทีไอทีวีได้ยุติการออกอากาศและถูกโอนกิจการไปเป็นของ ส.ส.ท.ก่อนที่จะแปลงสภาพเป็นทีวีสาธารณะไทยพีบีเอส กระทั่ง นายธีรัตถ์ ได้เข้ามาเป็นบรรณาธิการบริหารฝ่ายปฏิบัติการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสระยะหนึ่ง ซึ่งในช่วงเวลานั้นผู้ประกาศข่าว พิธีกร และพนักงานไอทีวีคนอื่นๆ ได้ย้ายไปทำงานให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 หรือเอ็นบีที ซึ่งได้รับสัมปทานผลิตรายการข่าว
ในภายหลัง นายธีรัตถ์ ได้ลาออกจากไทยพีบีเอส และเข้ามาทำงานในตำแหน่งบรรณาธิการข่าว รวมทั้งเป็นพิธีกรรายการข่าวเศรษฐกิจ และรายการสนทนาข่าว ของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมวอยซ์ ทีวี ซึ่งมี นายพานทองแท้ และ นางสาวพิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าของสถานีในฐานะกรรมการบริษัท นอกจากนี้ ยังมี นายทรงศักดิ์ เปรมสุข อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัท ไอทีวี ซึ่งปัจจุบันเป็นกรรมการผู้อำนวยการวอยซ์ทีวี รวมทั้ง นางสาวตวงพร อัศววิไล บรรณาธิการข่าวการเมืองไอทีวี ปัจจุบันยังเป็นบรรณาธิการข่าวการเมืองของวอยซ์ทีวีอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น นายธีรัตถ์ได้รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” ทุกเช้าวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) กรมประชาสัมพันธ์ รับหน้าที่เป็นพิธีกรครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2555 โดยทำหน้าที่สลับกับนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ และนางสาวตวงพร อัศววิไล ทั้งนี้ ตำแหน่งล่าสุดในวอยซ์ ทีวี ของนายธีรัตถ์นั้น คือ Internet & Lifestyle Manager ที่ดูแลด้านสื่ออินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ และช่องทางนิวมีเดียของสถานี และ Head of Production ซึ่งดูแลภาพรวมในการผลิตรายการของวอยซ์ ทีวีทั้งหมด
อนึ่ง ข้อมูลจากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ไอลอว์ ระบุว่า นางพรพิมล เสนผดุง ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ยื่นฟ้องบริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด นายทรงศักดิ์ และนายธีรัตถ์ ในข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 และศาลประทับรับฟ้องหมายเลขคดีดำที่ ปน.363/2555 เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2555 หลังเสนอข่าวพาดพิงให้เสื่อมเสียในเว็บไซต์วอยซ์ทีวี ขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างพิจารณาในชั้นศาลชั้นต้น