“นายกฯ” รับไม่ผิดคาดประเด็นเขมรแจงศาลโลก ยันพร้อมโต้ทุกประเด็น ขอ ปชช.อดใจรออย่างสงบ ย้ำเชื่อมั่นทีมสู้คดีพระวิหาร ชี้เขมรพาดพิง “รบ.มาร์ค” เป็นเรื่องของคดี แสดงความเสียใจระเบิดที่บอสตัน ยันไทยเตรียมพร้อมเสมอ ทูตพร้อมดูแล อ้างเคารพสิทธิลิ่วล้อลุยล้างผิด อยากเห็นปรองดอง ท่องบทอยู่ที่สภาตัดสิน แจงหน้าที่แค่บริหาร
วันนี้ (16 เม.ย.) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับจากการปฎิบัติภารกิจที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มารอรับ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการแถลงด้วยวาจาของฝ่ายกัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหารว่า จากการที่ฟังของฝ่ายกัมพูชาแล้วก็เป็นไปตามที่เราคาดหมาย ขอให้พี่น้องประชาชนอดใจรอ เพราะพรุ่งนี้ (17 เม.ย.) จะเป็นถ้อยแถลงของฝ่ายไทย ซึ่งเราจะตอบโต้ทุกประเด็น เมื่อถามว่าถ้อยแถลงที่ออกมาจะทำให้หลายฝ่ายเข้าใจหรือไม่ โดยเฉพาะบริเวณชายแดนที่มีการต่อต้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขอเรียนว่าในการทำงานทางที่ปรึกษาและทีมทนายความได้ทำในเรื่องของการตอบโต้ทุกประเด็นอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องของการปกป้องอธิปไตย ก็คงต้องขอความร่วมมือในการรับฟัง และเราเองก็ต้องว่ากันในส่วนของคดีความ แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องรักษาในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไว้ด้วย ก็อยากให้พี่น้องประชาชนรับฟังอย่างสงบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการดูคำแถลงของฝ่ายกัมพูชา มองว่าไทยจะมีช่องทางในการต่อสู้เพื่อยืนยันคำพิพากษาของศาลเมื่อปี 2505 หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ทีมงานฝ่ายกฎหมายก็ตอบโต้ทุกประเด็นอยู่แล้ว และจากถ้อยแถลงนั้นก็คงต้องนำประเด็นต่างๆไปดูเพิ่มเติม ต้องเรียนพี่น้องประชาชนว่าอยากให้เชื่อมั่นว่าทีมทนายความและคณะทำงาน ทำงานและต่อสู้อย่างเต็มที่ ตนขอถือโอกาสนี้ให้กำลังใจกับทีมงานที่จะให้การในวันพรุ่งนี้ (17 เม.ย.) ด้วย เมื่อถามว่า ดูเหมือนว่าทางกัมพูชาจะพาดพิงถึงรัฐบาลชุดที่แล้วค่อนข้างเยอะ จะทำให้เราเสียเปรียบและจะมีการแก้ต่างอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ตรงนี้เป็นเรื่องของรูปคดีที่จะต้องลำดับความเป็นมา ในส่วนของเราก็เตรียมการลำดับความเป็นมาเหมือนกัน ก็เป็นเรื่องปกติที่แต่ละฝ่ายจะนำข้อมูลของตนเองมา แต่สุดท้ายก็คงรอดูผลอีกครั้งหนึ่ง ก็เชื่อว่าทีมของเราเตรียมการอย่างเต็มที่ทุกอย่าง
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเหตุการณ์ลอบวางระเบิดที่เมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกาว่า ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ในสหรัฐฯ เราไม่อยากเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ในส่วนรัฐบาลไทยช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และฝ่ายความมั่นคงได้ร่วมหารือเพื่อดูแลความปลอดภัยตามสถานที่ต่างๆ รวมทั้งดูแลคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย
เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้หน่วยข่าวกรองเคยเตือนให้ระวังสถานการณ์ที่บริเวณสุขุมวิท 21 ตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. ถึงวันนี้ยังต้องดูแลเป็นพิเศษหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ความจริงหน่วยงานด้านความมั่นคงมีการดูแลตั้งแต่ก่อนเทศกาลวันหยุดสงกรานต์ และทำอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ขณะนี้มีมาตรการเพิ่มเติมและเน้นย้ำในจุดที่มีความเป็นห่วง ส่วนการดูแลคนไทยในต่างแดนนั้น เรามีหน่วยงานที่ดูแลอยู่แล้ว รัฐบาลประสานกับสถานทูตต่างๆให้ดูแล ทั้งนี้ขอฝากกำลังใจไปยังคนไทยทุกคน ไม่ว่าอยู่ที่ไหน เรามีสถานทูตประสานงานในการดูแลความปลอดภัยให้คนไทยทุกคน
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายเป็นห่วงสถานการณ์การเมืองอาจร้อนแรงเพิ่มขึ้นจาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า ในหลายหัวข้ออาจทำให้บรรยากาศเข้มข้นขึ้นมาแต่เชื่อว่าจะไม่นำไปสู่ความรุนแรง แต่เราต้องใช้เวทีอย่างถูกต้องในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งหมดนี้อยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร สมาชิกจะได้ถกกันอย่างเต็มที่ในเรื่องดังกล่าว
เมื่อถามว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมควรให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยชะลอไว้ก่อนหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ นั้นเป็นส่วนของสภา ในส่วนของพรรคคงต้องหารือกับสมาชิกพรรคก่อน ส่วนตัวนั้นเราต้องให้ความเคารพในสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลในการแสดงออกหรือข้อเสนอต่างๆ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับสภาว่าจะรับเรื่องและมีการหารือกันอย่างไรหรือมีความคิดเห็นเป็นอื่นหรือไม่ ส่วนรัฐบาลยังยืนยันว่าเราอยากเห็นขบวนการของประเทศเดินหน้ากระบวนการปรองดอง รัฐบาลทำในเรื่องการเสวนา ถือว่าภารกิจของแต่ละคนมีหน้าที่ต่างคนต่างทำ แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือเห็นประเทศมีความปรองดอง ก้าวไปข้างหน้าและหาทางออกร่วมกัน
เมื่อถามว่า ส่วนตัวเห็นด้วยหรือไม่ที่จะเร่งนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณา นายกฯ กล่าวว่า ตนมองว่าอะไรก็ได้ที่ทำให้บ้านเมืองมีทางออกและเกิดความยุติธรรม ความเสมอภาคต่างๆ จึงควรนำไปถกและหาทางออกร่วมกัน กระบวนการปรองดองต่างๆ นั้น รัฐบาลก็อยากเห็นในการใช้ทุกเวทีไม่ว่าภาคประชาชนหรือสภาในการช่วยกันเสนอทางออก หวังว่าเราจะได้รับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายค้านพยายามโยงว่าหากเกิดปัญหาขึ้นหลังมีการนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่สภา นายกฯ ต้องรับผิดชอบ นายกฯ กล่าวว่า ตนพูดมาหลายครั้งแล้ว ขอบอกอีกครั้งว่าอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ต่างคนต่างมีภารกิจ ตนในฐานะฝ่ายบริหารในตำแหน่งนายกฯก็มีหน้าที่ดูแลเรื่องการบริหาร แต่ในส่วนของนิติบัญญัติ เป็นเรื่องของสภา ตนเป็นเพียงสมาชิกสภาคนหนึ่งเท่านั้น ก็มีสิทธิ์เพียง 1 เสียงในฐานะส.ส. ทั้งหมดขึ้นอยู่กับสมาชิกและสภาที่จะนำร่างกฎหมายต่างๆ เพื่อหาทางออกและพิจารณาร่วมกัน
กต.สรุปประเด็น กัมพูชาให้การรอบแรก
ต่อมา เมื่อเวลา 21.21 น.วันเดียวกัน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศได้เผยแพร่ข่าวทางเว็บไซต์ www.phraviharn.org ว่า นายมนัสวี ศรีโสดาพล อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงข่าวเกี่ยวกับการให้การทางวาจาคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวานนี้ (15 เมษายน 2556) เป็นวันแรก โดยฝ่ายกัมพูชาเริ่มชี้แจงต่อศาลฯ ก่อน
คณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมรับฟังในศาลฯ นำโดย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
การให้การของฝ่ายกัมพูชารอบแรกนี้เริ่มด้วยการกล่าวนำของนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ตามด้วยที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างประเทศอื่น ๆ โดยนำเสนอข้อโต้แย้งเพื่อพยายามหักล้างคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรของฝ่ายไทย สรุปได้ดังนี้
1) กัมพูชามิได้ขออุทธรณ์คดีหรือประสงค์จะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาปี 2505 เพียงแต่ต้องการให้ศาลฯ ชี้ให้ชัดเจนว่า ขอบเขตดินแดนของกัมพูชาและบริเวณใกล้เคียงปราสาทที่ระบุไว้ในคำพิพากษาอยู่ที่ใด
2) กัมพูชาและไทยมีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับคำพิพากษาและอธิบายว่า “แผนที่ภาคผนวก 1” หรือ “แผนที่มาตราส่วน 1:200,000” เป็นส่วนของเหตุผลสำคัญที่ไม่อาจแยกจากคำพิพากษาเดิมเมื่อปี 2505 ได้ ดังนั้น กัมพูชาจึงอ้างว่า คำขอของกัมพูชาเข้าเงื่อนไขของการขอให้ศาลฯ ตีความคำพิพากษา
3) การตีความดังกล่าวจะทำไม่ได้หากไม่อ้างอิง “แผนที่ภาคผนวก 1” แนบท้ายคำฟ้องของกัมพูชาในคดีเดิม ซึ่งกัมพูชาเห็นว่า ศาลฯ ได้ยอมรับแล้วว่าเส้นบนแผนที่ดังกล่าวเป็นเส้นเขตแดนระหว่างกัมพูชากับไทย
4) การปฏิบัติตามคำพิพากษาของฝ่ายไทยเมื่อปี 2505 เป็นการตีความคำพิพากษาตามความเข้าใจของไทยฝ่ายเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การล้อมรั้วลวดหนามรอบปราสาทพระวิหารตามมติคณะรัฐมนตรีของไทยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 ซึ่งกัมพูชาไม่ยอมรับ
ทั้งนี้ การให้การทางวาจาของฝ่ายกัมพูชาข้างต้นเป็นไปตามที่ฝ่ายไทยได้คาดการณ์ไว้ และเป็นไปตามที่ปรากฏในคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรของฝ่ายกัมพูชาที่ได้ยื่นต่อศาลฯ ก่อนหน้านี้ ไทยจึงไม่หนักใจ แต่อย่างใด และมีความมั่นใจและความพร้อมที่จะหักล้างข้อต่อสู้ของกัมพูชา โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฯ เมื่อปี 2505 ซึ่งไทยได้ปฏิบัติตามอย่างครบถ้วนแล้ว โดยจะนำเสนอข้อมูลและเหตุผลซึ่งมีความชัดเจนและมีน้ำหนักต่อศาลในวันที่ 17 เมษายน 2556 ต่อไป
ในวันเดียวกัน นายไกรรวี ศิริกุล รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กล่าวสรุปเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาระสำคัญของถ้อยแถลงฝ่ายกัมพูชา ว่า 1) ฝ่ายกัมพูชาพยายามโน้มน้าวให้ศาลฯ เห็นว่า ศาลฯ มีอำนาจที่จะตีความคดีในครั้งนี้ เนื่องจากเข้าเงื่อนไขต่างตามกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวคือ ไทยและกัมพูชา มีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาเดิม 2) กัมพูชาได้ยกเอกสารหลักฐานหลายชิ้นที่เกิดขึ้นหลังจากคำพิพากษาเพื่อพิสูจน์ว่า กัมพูชาได้คัดค้านรั้วลวดหนามที่ไทยได้ล้อมรอบบริเวณปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 ตามมติคณะรัฐมนตรีของไทย เพื่อหักล้างข้อต่อสู้ของไทยที่ว่าไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว 3) กัมพูชายังพยายามโน้มน้าวให้ศาลฯ เห็นว่า ในการตีความคำพิพากษา ศาลฯ สามารถใช้ “แผนที่ภาคผนวก 1” มาช่วยทำความเข้าใจข้อบทปฏิบัติการของคำพิพากษาได้ เนื่องจากแผนที่ดังกล่าวเป็นเหตุผลสำคัญและจำเป็นที่ศาลฯ ใช้ในการวินิจฉัยคดีเดิม
นายไกรรวีฯ ชี้ว่า ข้อโต้แย้งดังกล่าวเป็นสิ่งที่กัมพูชาเคยหยิบยกหลายครั้งแล้ว และฝ่ายไทยก็ได้คาดหมายและเตรียมข้อต่อสู้ไว้อยู่แล้ว และแม้ว่ากัมพูชาจะโต้แย้งว่าไทยกับกัมพูชามีข้อขัดแย้งกัน ในการตีความคำพิพากษาเดิมและการปฏิบัติตามคำพิพากษา แต่ที่จริงแล้ว ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาเดิมอย่างถูกต้อง เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคำตัดสิน และไม่มีประเด็นใดที่ศาลจะต้องตีความ อย่างไรก็ดี ปัญหาคดีปราสาทพระวิหารได้กลายเป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้งเพราะฝ่ายกัมพูชาต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว และได้กันพื้นที่อนุรักษ์และบริหารจัดการล้ำเข้ามาในดินแดนไทย
ในการนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามการให้การทางวาจาของฝ่ายไทยได้ในวันที่ 17 เมษายน 2556 เวลา 15.00 – 18.00 น. และ 20.00 – 21.30 น. ทาง www.phraviharn.org สถานีโทรทัศน์ กรมประชาสัมพันธ์ (ช่อง 11) หรือทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย FM 92.5 MHz AM 891 KHz และ สถานีวิทยุสราญรมย์ AM 1575 KHz