xs
xsm
sm
md
lg

“ปู-ทองสิง”นำ ครม.ไทย-ลาว ประชุมย้ำความสัมพันธ์ ร่วมพัฒนาในทุกมิติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชิยวัตร นายกรัฐมนตรีไทย พร้อม นายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีลาว นำคณะรัฐมนตรี 2 ประเทศประชุมร่วมไทย-ลาว (ตามข่าว)
“นายกฯยิ่งลักษณ์-นายกฯทองสิง” นำ ครม.ไทย-ลาว ประชุมร่วมอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 2 ย้ำความสัมพันธ์ในฐานะประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด พร้อมพัฒนาความร่วมมือที่ดีในทุกมิติและทุกระดับ



วันนี้ (19 พ.ค.2556) เวลา 10.00 น. ณ โรงแรมเลอ เมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีแห่ง สปป.ลาว พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีสำคัญทั้งสองประเทศ เข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-ลาวอย่างไม่เป็นทางการครั้งที่ 2 หรือ The 2nd Thai-Lao Joint Cabinet Retreat เพื่อร่วมกันหารือในประเด็นสำคัญ และเร่งรัดให้เกิดความคืบหน้า พร้อมทั้งสานความร่วมมือให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้บรรยากาศของความใกล้ชิด จริงใจ และเต็มไปด้วยไมตรีจิตที่ดีต่อกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรัฐมนตรีฝ่ายไทย ประกอบด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

ส่วน คณะรัฐมนตรีฝ่าย สปป.ลาว ประกอบด้วย นายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรี นายทองลุน สีสุลิด รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันความสงบ รัฐมนตรีหัวหน้าห้องว่าการรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเงิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงป้องกันประเทศ และรัฐมนตรีช่วยว่าการแรงงานและสวัสดิการสังคม

ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในประเด็นความมั่นคง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมสรุปดังนี้

ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงได้มีการปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ได้แก่ (1) การรักษาความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดน โดยจะร่วมมือตรวจตราสอดส่องและป้องกันการกระทำของกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่ออีกประเทศ หากพบเบาะแส หน่วยงานความมั่นคงจะแจ้งและประสานงานอย่างรวดเร็ว โดยไทยยืนยันนโยบายไม่ให้บุคคลใดใช้ประเทศไทยเป็นที่พักพิง หรือวางแผนก่อความไม่สงบ หรือต่อต้านรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน

(2) ความร่วมมือในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันเร่งรัดการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว (3) การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยจะมีการยกระดับความร่วมมือในการป้องกันปัญหายาเสพติด ปราบปราม และนำส่งผู้กระทำความผิดและผู้หลบหนีการจับกุมลงโทษคดียาเสพติด โดยเห็นควรใช้ช่องทางติดต่อที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและสั่งการได้อย่างรวดเร็ว

(4) ความร่วมมือด้านแรงงานและการป้องกันการค้ามนุษย์ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือร่วมมือป้องกันและปราบปรามการล่อลวงเด็กและสตรีเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ โดยฝ่ายไทยแสดงความพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาแรงงานลาวผิดกฎหมายที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย และพร้อมอำนวยความสะดวกเรื่องการนำเข้าแรงงานลาวที่ถูกกฎหมายตามบันทึกความเข้าใจด้านการจ้างแรงงานไทย-ลาว โดยคณะรัฐมนตรีไทยมีมติขยายเวลาดำเนินการของศูนย์ One Stop Service เพื่อให้การพิสูจน์สัญชาติแรงงานลาวไปอีก120 วัน นับตั้งแต่ 14 เมษายน 2556

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้า ผ่าน (5) การอำนวยความสะดวกในการผ่านแดนโดยเฉพาะการดำเนินการเรื่องการตรวจปล่อยสินค้า ณ จุดเดียว หรือSingle Stop Inspection (SSI) และปรับปรุงพื้นที่จุดผ่านแดนและเส้นทางคมนาคมที่ต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการเดินทางผ่านแดนและความแออัดของการสัญจรบริเวณจุดผ่านแดนสำคัญ (6) การส่งเสริมการค้าไทย-ลาว ซึ่งฝ่ายไทยพร้อมส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อช่วยสร้างรายได้ของประชาชน สปป.ลาว และเพื่อประโยชน์ร่วมกันของไทยและลาว

(7) การใช้ประโยชน์จากเส้นทางถนนหมายเลย 8 และ 12 ในเป็นเส้นทางเชื่องโยงทางโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาค และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนตามแนวเส้นทางทั้งสอง โดยฝ่ายไทยพร้อมส่งเสริมภาคเอกชนไทยให้ไปลงทุนบริเวณเส้นทางดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม และฝ่ายลาวจะอำนวยความสะดวกและปรับปรุงการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้เส้นทางให้ได้มาตรฐาน ในส่วนของการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการพัฒนาความเชื่อมโยง (Connectivity)ด้านการคมนาคม เพื่อเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาค และระหว่างไทย-ลาว-จีน เช่น การสร้างสะพานเชื่อมต่อทางรถไฟ (หนองคาย-ท่านาแล้ง) เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมโยงกับทางรถไฟความเร็วสูงกับจีน ตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor)และการประกาศเปิดจุดผ่านแดนถาวรไทย-ลาว 2 แห่ง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันนี้ (19 พ.ค.2556) ได้แก่ จุดผ่านแดนภูดู่ จ.อุตรดิตถ์ โดยในส่วนของฝ่ายลาวจะยกระดับด่านท้องถิ่นบ้านผาแก้ว เมืองปากลาย แขวงไซยะบุรี เป็นด่านสากลเมื่อการก่อสร้างเส้นทางบ้านผาแก้ว-ปากลาย แล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2557และจุดผ่านแดนบ้านสบรวก จ.เชียงราย ซึ่งฝ่ายลาวได้เปิดด่านสากลสามเหลี่ยมทองคำ แขวงบ่อแก้ว ไปเมื่อเดือน ก.ค.ปี 2555 ที่ผ่านมานอกจากนี้ ยังได้มีการหารือในด้านการท่องเที่ยว โดยฝ่ายไทย สนับสนุน

(8) ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว จะร่วมกันส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค และเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวไปมาระหว่างไทยและลาว รวมทั้งสนับสนุนการใช้ ACMECS Single Visa หรือ ASV เพื่อเป็นแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ในภูมิภาคและอาเซียน ซึ่งไทยและกัมพูชาได้เริ่มโครงการนำร่องก่อนหน้านี้แล้ว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้แสดงความยินดีที่ปี 2556 เป็นปีแห่งการฉลองครบรอบ 20 ปี การก่อตั้งสมาคมไทย-ลาว/ลาว-ไทย เพื่อมิตรภาพ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน สังคม และวัฒนธรรมและมีคุณูปการสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ในโอกาสนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาการลงนามเอกสาร 3 ฉบับ ได้แก่ แถลงการณ์ร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการไทย-ลาว ครั้งที่ 2 บันทึกความเข้าใจว่าความร่วมมือด้านการเกษตรไทย-ลาว และ ความตกลงว่าด้วยกรรมสิทธิ์ การนำใช้ การบริหาร และการบูรณรักษาสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย)

ต่อมาเวลา 12.00 น.ที่โรงแรมเลอเมอริเดียน จ.เชียงใหม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายทองสิง แถลงข่าวลงนามแถลงการณ์บันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ ประกอบด้วย บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรไทย-ลาว และ ความตกลงว่าด้วยกรรมสิทธิ์ การนำใช้ การบริหาร และการบูรณรักษาสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย)

โดยนายกฯ กล่าวว่าเป็นความร่วมมือในการการอำนวยความสะดวกในการผ่านแดน แก้ปัญหาความแออัดในการสัญจร โดยฝ่ายไทยพร้อมปรับปรุงแก้ไขการผ่านแดนให้เกิดความรวดเร็วขึ้น Single Stop Inspection (SSI) การเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์เส้นทางถนนหมายเลข 8 และ 12 ร่วมกันพัฒนาให้เกิดการค้าส่งเสริมภาคเอกชนไปลงทุนในเส้นทางดังกล่าว โดยทาง สปป.ลาวกำหนดการจัดค่าธรรมเนียมเส้นทางดังกล่าวให้ได้มาตรฐาน และขอให้ สปป.ลาวเร่งรัดความร่วมมือโครงการรถไฟความเร็วสูง หารือร่วม 3 ฝ่าย ไทย ลาว และจีน โดยมีไทยเป็นเจ้าภาพ การประชุมร่วมกันครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นไปอย่างสร้างสรรค์

ด้าน นายทองสิง กล่าวว่าทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันในการแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ให้การค้าและการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนมีบรรยากาศที่ดีขึ้น การแก้ไขปัญหาแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานลาวที่ทำงานอยู่ที่ประเทศไทย และแรงงานไทยที่อยู่ในประเทศลาว ซึ่งมีทั้งถูกและผิดกฎหมาย โดยทั้ง 2 ประเทศจะพยายามแก้ไขเรื่องดังกล่าวให้ถูกต้องตามระเบียบ โดยเฉพาะปัญหาการค้ามนุษย์ ทั้ง 2 ประเทศจะร่วมกันอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหา การประชุมครั้งนี้มีการพูดคุยด้วยบรรยากาศที่ดี และมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา ขอบคุณรัฐบาลไทยที่ได้อำนายความสะดวกในการจัดการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น