ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สมาชิกสภาแห่งชาติลาว ได้โชว์พลังอำนาจครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการลงมติไม่รับรองร่างรัฐบัญญัติแก้ไขรัฐบัญญัติการจัดเก็บภาษีอากรของรัฐบาล ก่อนจะปิดการประชุมสามัญสมัยที่ 7 ในวันศุกร์ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้กลายเป็นไฮไลต์สำคัญทางการเมืองของประเทศคอมมิวนิสต์แห่งนี้ และประชาคมออนไลน์กล่าวว่า องค์กรนิติบัญญัติแห่งชาติไม่ได้เป็นเพียง “สภาตรายาง” ตามที่สื่อตะวันตกมักจะเปรียบเปรย
หลังจากบรรดาสมาชิกสภาได้อภิปราย สภาแห่งชาติได้มีมติที่จะ “ไม่ลงมติ” ร่างกฎหมายที่กระทรวงการเงินเสนอเข้าสู่การพิจารณา เนื่องจากเห็นว่า ยังขาดรายละเอียด และกฎหมายฉบับปัจจุบันเพิ่งบังคับใช้มาเพียง 2 ปี สมาชิกระดับนำคนหนึ่งของสภาฯ ได้บอกต่อหนังสือพิมพ์ “ปะเทดลาว” ว่า ปัจจุบันเจ้าหน้าที่จำนวนมากได้นำเงินที่เก็บภาษีไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว มีการรีดไถแม่ค้าแม่ขาย ตั้งอัตราจัดเก็บตามใจชอบ นอกจากนั้น ร่างแก้ไขฯ มิได้มีบทบัญญัติเพื่อป้องกันความไม่โปร่งใสเหล่านี้
“ที่ผ่านมา กระทรวงเกี่ยวข้องไม่สามารถยืนยัน และรับประกันว่า การทำงานของพนักงานทั้งหมดจะโปร่งใส จะถูกต้อง 100% ดังนั้น ในนามส่วนตัวที่เป็น ส.ส. ก็ได้ยินหลายเสียง และยืนยันว่ามันไม่โปร่งใสหมดทุกคน มีพนักงานจำนวนหนึ่งที่ทำงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว..” หนังสือพิมพ์ออนไลน์ของทางการรายงานอ้างการสัมภาษณ์ ดร.วันเพ็ง แก้วนะคอน ส.ส. 2 สมัย เขตเลือกตั้งที่ 1 นครเวียงจันทน์
“งานด้านภาษีจะต้องรัดกุม เพราะเป็นงานสำคัญ เป็นแหล่งรายรับมาสู่พรรค-รัฐบาล ก็คือประชาชน ฉะนั้นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานภาษีจะต้องมีเนื้อหาที่รัดกุม รอบคอบ เพื่อผลประโยชน์ของคนทั้งชาติ” นางวันเพ็ง ซึ่งเป็นกรรมการพรรคสาขานครเวียงจันทน์ อดีตหัวหน้าสำนักงานแถลงข่าวและวัฒนธรรมของเมืองหลวงกล่าว
สื่อของทางการไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างรัฐบัญญัติฉบับแก้ไขกฎหมายภาษีที่เป็นปัญหา แต่สมาชิกสภาแห่งชาติได้มีมติให้กระทรวงการเงินได้นำกลับไปศึกษา ตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง
ระหว่างการประชุม 15 วัน “บนจิตใจเสริมขยายประชาธิปไตย และสติปัญญารวมหมู่และเชิดชูความรับผิดชอบทางการเมืองของบรรดาสมาชิก...” สภาแห่งชาติได้รับรองบทรายงานเศรษฐกิจและสังคมช่วงต้นปี รายงานการปฏิบัติใช้จ่ายเงินงบประมาณและแผนการปรับปรุงงบประมาณของรัฐบาล ผ่านร่างกฎหมาย 4 ฉบับ รวมทั้งกฎหมายต่อต้าน และสกัดกั้นการฟอกเงินและการสนองทุนให้แก่การก่อการร้าย ซึ่งนับเป็นครั้งแรก
สภาแห่งชาติยังลงมติผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการตรวจสอบอิสระ (โดยเอกชน) กฎหมายปรับปรุงกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม และกฎหมายปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐาน
.
.
สภาฯ ยังลงมติรับรองการเสนอของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งมีการตั้งรองนายกรัฐมนตรีอีก 2 คน แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศ โยกย้ายรัฐมนตรีว่าการ 2 นาย ไปรับหน้าที่ใหม่ และพิจารณารับรองรายงานขององค์การตรวจสอบแห่งรัฐ อภิปรายรายงานเกี่ยวกับการจัดสรรป่าไม้โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ป่าคุ้มครอง ป่าสงวน และเชิงการผลิต ฯลฯ
ตามระบบของคอมมิวนิสต์ลาว สมาชิกสภาแห่งชาติทั้งหมดต้องเป็นสมาชิกพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และการลงสมัครรับเลือกตั้งต้องผ่านการรับรองจากพรรค หรือหน่วยงานของพรรคตามที่ระบุในกฎระเบียบของพรรคเช่นเดียวกันกับบุคลากรในซีกของรัฐบาล ซึ่งทำให้องค์กรนิติบัญญัติตามแบบของคอมมิวนิสต์ถูกมองเป็นเพียงสภาตรายางมีหน้าที่คอยรับรองร่างกฎหมายเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีมานี้ สมาชิกสภาแห่งชาติลาวได้เคยอภิปรายถกเถียงร่างกฎหมายหรือบทรายงานของรัฐบาลอย่างเผ็ดร้อนมาหลายครั้ง รวมทั้งในสมัยประชุมปลายปี 2553 ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การใช้จ่ายเงินงบประมาณผิดประเภท และเงินงบประมาณของรัฐรั่วไหล เป็นแรงกดดันหนึ่งที่ทำให้ นายบัวสอน บุบผาวัน นายกรัฐมนตรีขณะนั้นประกาศลาออกกลางคัน.