xs
xsm
sm
md
lg

ทวินไพน์ฯ เล็ง สปป.ลาว ออกบอนด์ลาวสกุลเงินบาท 4,500 ล้านบาท ลุยโปรเจกต์พลังงานต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สปป.ลาว มั่นใจผลการระดมทุนในตลาดทุนไทย รุกออกพันธบัตรลาวสกุลเงินบาทล็อตที่ 3 อีก 4,500 ล้านบาท และมี Greenshoe Option อีก 500 กว่าล้านบาท ระดมทุนส่วนการพัฒนาโครงการพลังงานของประเทศ เปิดขายช่วงต้นเดือน ต.ค. นี้ ตอบรับความต้องการสองครั้งที่ผ่านมาล้น ที่ปรึกษา “ทวิน ไพน์ คอนซัลติ้ง” ระบุกระแสตอบรับยังฮอตไม่เลิก เนื่องจากนักลงทุนไทยเชื่อมั่นในศักยภาพของ สปป. ลาว ปีนี้คาดการณ์ว่ายอดจองจะล้นเหมือนเช่นสองครั้งที่ผ่านมา

นายอดิศร สิงห์สัจจะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทวินไพน์ คอนซัลติ้ง จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาด้านการวางแผนการระดมทุนให้แก่กระทรวงการเงิน สาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว (สปป.ลาว) เปิดเผยว่า “ทวินไพน์ฯ ได้รับมอบหมายจาก สปป.ลาว ให้ดำเนินการออกพันธบัตรรัฐบาลลาว ในรูปสกุลเงินบาทในประเทศไทย รอบ ที่ 3 ด้วยวงเงินเริ่มต้น 4,500 ล้านบาท และเพิ่มวงเงินได้อีกหากมีความต้องการเพิ่ม มีระยะเวลาการไถ่ถอน 3, 5, และ 7 ปี มีอัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนขั้นต่ำสำหรับที่ระดับ 4.76%, 5.20% และ 5.50% ตามลำดับ โดยแต่งตั้งผู้จัดการการจัดจำหน่าย ประกอบด้วย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคารธนชาติ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีกำหนดเปิดให้จองซื้อพันธบัตรลาวได้ในสัปดาห์ที่สองของเดือนตุลาคม 2557”

“ผลตอบรับที่ดีเกินความคาดหมายจากการออกพันธบัตรของ สปป.ลาว ที่ผ่านมาเป็นการการันตีความเชื่อถือให้แก่พันธบัตรของ สปป.ลาว ได้เป็นอย่างดียิ่ง นักลงทุนในประเทศไทยเห็นถึงศักยภาพของ สปป.ลาว ทั้งในด้านความมั่นคงทางการเมือง และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ อาทิ เหมืองแร่ ทองคำ ทองแดง ไฟฟ้าพลังน้ำ ฯลฯ ทั้งนี้ สปป.ลาวมีแผนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำอีกจำนวน 20 แห่ง และมีโครงการที่อยู่ในระหว่างการศึกษาการอีก 40-50 แห่ง คาดว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในปี 2563 อยู่ประมาณเกือบ 9,000 เมกะวัตต์ ซึ่งรายได้จากการผลิตไฟฟ้าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องและ สปป.ลาวจะกลายเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญของไทยและประเทศใกล้เคียง อาทิ เวียดนาม กัมพูชา และประเทศจีน นอกจากนี้ สปป.ลาว ยังมีนโยบายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจในส่วนของภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (Thailand Plus 1) และภาคธุรกิจพลังงาน เพื่อส่งเสริมให้ประเทศเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย” นายอดิศร กล่าวเสริม

นายมาดาม ทิพากร จันทรวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเงินของ สปป.ลาว ยอมรับว่า “สปป.ลาว ต้องการเงินทุนในการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมพร้อมพัฒนาประเทศสำหรับการเปิดตัวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเครื่องมือที่ สปป.ลาวใช้การระดมทุน ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินจากโครงการความช่วยเหลือ ขององค์กรต่างประเทศ ต่อมาเมื่อบริษัท ทวิน ไพน์ คอนซัลติ้งฯ เข้ามาช่วยวางแผนระดมทุนในประเทศไทยเพื่อเป็นแหล่งระดมทุนทางเลือกใหม่ให้กับ สปป.ลาว ประกอบกับการที่กระทรวงการคลังของไทย มีนโยบายให้พันธบัตรที่ออกโดยกระทรวงการคลังของประเทศนั้นๆ ไม่ต้องประเมินเรตติ้งจากบริษัทจัดอันดับ จึงทำให้ในปี 2556 สปป.ลาวได้ทดลองออกพันธบัตรลาวสกุลเงินบาท ล็อตแรก วงเงินเพียง 1,500 ล้านบาท ในเดือนพฤษภาคมนี้

ขณะที่ล๊อตที่ 2 วงเงิน 3,000 ล้านบาท ในเดือนธันวาคม ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงทั้งสองครั้ง สำหรับการออกพันธบัตร รอบที่ 3 ในปี 57 มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สนับสนุนทางด้านงบประมาณของกระทรวงการเงินและใช้สำหรับการลงทุนในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล กล่าวได้ว่า สปป.ลาว มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีปริมาณผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2556 คิดเป็น 7.95% และมีอัตราเงินเฟ้อที่ 6.37% ต่ำกว่าการขยายตัวของ GDP โดยจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อไว้อยู่ในระดับตัวเลขหลักเดียว ซึ่งปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจประกอบไปด้วย 4 ส่วนหลัก คือ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ภาคบริการ และรายได้จากภาษีขาเข้า”

นายพรสนอง ตู้จินดา ประธานคณะเจ้าหน้าที่ ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ธนาคารกรุงศรีฯ ถือว่าได้รับเกียรติอย่างสูงจาก สปป. ลาว ให้เป็นผู้นำในการจัดจำหน่ายพันธบัตรลาวในรอบนี้ โดยรับหน้าที่จัดโรดโชว์ให้ข้อมูลแก่กลุ่มนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งได้จัดสัมมนา “เศรษฐกิจไทยกับโอกาสการลง
ทุนของไทย” ปรากฏว่านักลงทุนไทยมีความเชื่อมั่นในการเติบโตทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว โดยขณะนี้มีผู้ที่สนใจไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักลงทุนสถาบันและกลุ่ม Hi-Net Worth แสดงความจำนงค์จองซื้อพันธบัตรลาวมาแล้ว คาดว่า ยอดจองจะเกินกว่าวงเงินเริ่มต้น 4,500 ล้านบาท

นายอดิศร กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะพัฒนาเป็น ASEAN HUB ในการระดมทุนของประเทศเพื่อนบ้านมากที่สุดเมื่อเทียบกับมาเลเซียและสิงคโปร์ ทั้งคนไทยมีปริมาณเงินออมสูงมากและสนใจจะลงทุนในพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนสูงความเสี่ยงต่ำกว่า ดังนั้น ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ ทวินไพน์ คอนซัลติ้ง มีโครงการจะออกพันธบัตรลาวสกุลเงินบาทให้กับบริษัทเอกชนรายใหญ่รายหนึ่งและวางแผนที่ชักชวนประเทศ พม่า กัมพูชา เข้ามาระดมทุนในไทยด้วยเช่นกันในช่วงปีหน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น