นายกฯ หน้าถอดสีหลังทราบเหตุม็อบพีมูฟ อ้าง “ปลอด” ขู่จับผู้ประท้วงประชุมผู้นำด้านน้ำคนละประเด็น รมต.สำนักนายกฯ เผยผู้ใหญ่หลายชาติร่วมประชุมรักษาความปลอดภัยเข้ม วอนประท้วงนึกถึงชาติ โยน จ.เชียงใหม่ดูแลที่ชุมนุม แจงจัดต่อ รบ.ก่อน ไม่เกี่ยวถูกค้านประมูลจัดการน้ำ เน้นถกบริหารทรัพยากรน้ำ ขอ ปชช.เป็นเจ้าภาพที่ดี ยิงสดช่อง 9-11 ยันได้บทเรียน-ท่องเที่ยวรับประโยชน์
วันนี้ (14 พ.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้าไปเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเมื่อไปถึงนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลม็อบได้เข้ามารายงานให้นายกฯ ทราบถึงสถานการณ์ม็อบพีมูฟ โดยนายกฯ มีสีหน้าไม่ค่อยดีนัก
อย่างไรก็ตาม ระหว่างเดินทางไปเป็นประธานการประชุม ครม. ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงนโยบายของนายกฯ เกี่ยวกับการให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับการประชุมผู้นำด้านน้ำเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 2 ที่ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 14-20 พ.ค.นี้ โดยเฉพาะกรณีที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ประกาศว่าหากมีการชุมนุมประท้วงจะให้ตำรวจจับกุมไปดำเนินคดีทั้งหมด และเตือนอย่าชุมนมประท้วงเด็ดขาด โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบด้วยสีหน้าที่ไม่สู้ดีว่า “มันเป็นคนละประเด็นกัน อันนี้เป็นการประชุมภาพรวมน้ำ” จากนั้นก็เดินขึ้นห้องประชุมไปทันที
หลังจากนั้น นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลงมาแถลงต่อสื่อมวลชนถึงการประชุมผู้นำด้านน้ำเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 2 ที่ จ.เชียงใหม่ ว่าในงานดังกล่าวนี้จะมีกิจกรรมหลายอย่าง ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นการประชุมสัมมนาวิชาการเรื่องน้ำที่ใหญ่ที่สุดเพราะมีผู้นำจากทั่วโลกระดับสูงสุดมาร่วมถึง 10 ประเทศ มีประธานาธิบดี 4 คน มีนายกรัฐมนตรี 5 ประเทศ และมีสมเด็จพระราชาธิบดีของบรูไนมาร่วมประชุมด้วย นอกจากนั้นยังมีประธานสมัชชาสหประชาชาติมาร่วมด้วย และยังมีรองประธานาธิบดี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีจากอีก 20 ประเทศมาร่วมด้วย โดยมีผู้ร่วมสัมมนาทั้งหมด 1 พันกว่าคน ซึ่งเนื้อหาหลักในการพูดคุยจะเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวต่อว่า ความจริงแล้วการจัดงานนี้เป็นการจัดต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ที่รัฐบาลนี้เห็นว่ามีประโยชน์ หลังจากที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพต่อจากประเทศญี่ปุ่น และความจริงมีกำหนดจัดประชุมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2555 แต่ตอนนั้นประเทศไทยยังประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่จึงต้องเลื่อนมาจัดในช่วงนี้ ดังนั้นจึงไม่ใช่การจัดเพราะมีการคัดค้านโครงการประมูลน้ำอย่างที่เข้าใจกัน
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวด้วยว่า งานนี้เป็นการจัดสัมมนาวิชาการและนิทรรศการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ ดังนั้นขอเชิญชวนประชาชนทุกคนเป็นเจ้าภาพที่ดีในการจัดสัมมนา และสามารถติดตามการสัมมนาครั้งนี้ได้ โดยเฉพาะในวันที่ 20 พ.ค.ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมจะมีผู้นำทุกประเทศร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง จะมีการถ่ายทอดสดทางช่อง 9 ตั้งแต่เวลา 08.30-12.30 น. ส่วนวันเลี้ยงรับรอง การแสดงศิลปวัฒนธรรม จะมีขึ้นในวันที่ 19 พ.ค. ก็จะมีการถ่ายทอดสดทางช่อง 11 ด้วย ตั้งแต่เวลา 20.15 น.หลังข่าวในพระราชสำนักฯ จนเสร็จสิ้นงาน
นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวต่อว่า ในการงานนี้ทางประเทศไทยจะมีการเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 54 รวมทั้งกระบวนการในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนที่เรากำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งประเทศอื่นก็มีปัญหาเช่นกัน จึงจะมาคุยกันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ละประเทศแก้ปัญหาอย่างไร และที่สำคัญในกลุ่มอาเซียนก็มีการตั้งศูนย์ป้องกันอุบัติภัยทั้งหลายขึ้นมา ก็จะเป็นอันหนึ่งที่จะนำสรุปบทเรียนที่ผ่านมาช่วยกันในอาเซียนโดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่าระบบรักษาความปลอดภัยผู้นำประเทศต่างๆ จะเป็นอย่างไร และหน่วยงานไหนเป็นผู้รับผิดชอบ รมต.ประจำสำนักฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติของการมีผู้นำระดับสูงจากหลายประเทศซึ่งก็จะมีระบบรักษาความปลอดภัยต่างๆ พร้อม ทั้งตำรวจ ทหาร
“ผมอยากจะฝากบอกไปถึงผู้ที่จะไปชุมนุมคัดค้านว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องระดับประเทศ เป็นชื่อเสียงของประเทศชาติ และการจัดประชุมครั้งนี้ ไม่ได้จัดขึ้นมาเพื่อตอบสนองการคัดค้านนั้น แต่เป็นเรื่องที่เริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว ส่วนเรื่องที่คัดค้านนั้น ก็อยู่ในศาลอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็ควรจะรอคำพิพากษาจากศาลดีกว่า” รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่ามีการจัดที่ให้ผู้ชุมนุมที่เดินทางไปคัดค้านการประชุมครั้งนี้หรือไม่ นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้พิจารณาดูอยู่ ถามต่อว่าหากผู้ชุมนุมจะส่งตัวแทนเข้าไปเจรจาหรือพูดคุยด้วย จะเป็นไปได้หรือไม่ นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้มีการเปิดให้ฟังแต่ต้องเสียเงิน คงติดตามผ่านทางการถ่ายทอด เมื่อถามว่าเราจะได้อะไรจากการประชุมครั้งนี้ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ความจริงเป็นการประชุมของเอเชียแปซิฟิก ซึ่งใหญ่สุดก็คือการดูแลรักษาความปลอดภัยจากอุทกภัยทั้งหลายในระดับภูมิภาคและเราก็คงได้บทเรียนหรือได้องค์ความรู้ต่างๆ ในการนำมาบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของประเทศไทย นอกจากนั้นสิ่งที่จะได้เพิ่มเติมก็คือเรื่องของการท่องเที่ยวเพราะมีหลายสิบประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อร่วมประชุมครั้งนี้