xs
xsm
sm
md
lg

“นิด้าโพล” ชี้ 3 เสาหลัก ปชช.ไว้ใจตุลาการมากสุด รับไม่ได้แดงป่วน หนุนงัด กม.ดัดหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เผยความเห็น ปชช.ต่อศาล รธน. ส่วนใหญ่เชื่อมั่นศาลที่สุด รองมา รบ. และฝ่ายนิติฯ เกินครึ่งชี้ผลงานศาล รธน.ปานกลาง ส่วนมากรับไม่ได้แก๊งแดงโชว์กุ๊ยกดดันศาลและไม่รับฟัง พร้อมทั้งเห็นด้วยออก กม.ห้ามละเมิดอำนาจศาล “ดร.พิชาย” ยกผลชี้ ปชช.เชื่อมั่นตุลาการ ทำงานสุจริต มีประสิทธิภาพ จี้ฝ่ายนิติฯ สังวรพฤติกรรม และปชช.ไม่หนุนกดดันศาล เป็นเหตุแนะออกกม.ห้ามละเมิด

วันนี้ (2 พ.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความคิดเห็นของคนไทยต่อศาลรัฐธรรมนูญ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 30 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2556 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ทุกภูมิภาค จำนวน 1,254 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ เกี่ยวกับความเชื่อมั่นในการทำงานของอำนาจอธิปไตยและการออกกฎหมายการห้ามละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error : S.E.) ไม่เกิน ร้อยละ 1.4

จากผลการสำรวจ ถึงความไว้วางใจในการใช้อำนาจของอธิปไตยทั้ง 3 ฝ่าย พบว่า ประชาชน ร้อยละ 44.26 ระบุว่า ไว้วางใจฝ่าย ตุลาการ (ศาลยุติธรรม, ศาลปกครอง, ศาลรัฐธรรมนูญ) มากที่สุด เพราะ มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด เป็นที่พึ่งของประชาชนได้ รองลงมา ร้อยละ 20.89 ระบุว่า เป็นฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) เพราะน่าจะเข้าถึงประชาชนได้มากกว่า และทราบถึงความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชน ร้อยละ 10.77 ระบุว่า เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ (ส.ส.,ส.ว.) เพราะ มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ร้อยละ 10.61 ระบุว่า ไม่มีฝ่ายใดเลย และร้อยละ 13.48 ไม่แน่ใจ โดยประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.80 มีความพึงพอใจต่อการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาอยู่ในระดับ ปานกลาง รองลงมา ร้อยละ 15.63 อยู่ในระดับมาก และ ร้อยละ 14.75 อยู่ในระดับน้อย

ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.64 ระบุว่า ความพยายามในการกดดันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ลาออกและการประกาศ ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ของกลุ่ม นปช. และสมาชิกพรรคเพื่อไทยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ถือว่าเป็นการละเมิดตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง และเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนบุคคล รองลงมา ร้อยละ 13.40 เห็นว่าเหมาะสม เพราะถือว่าเป็นเสียงของประชาชน ควรรับฟังความคิดเห็นของประชาชนบ้าง และร้อยละ 24.96 ไม่แน่ใจ

ท้ายสุด เมื่อถามว่าควรออกกฎหมายห้ามมิให้มีการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับที่มีกฎหมายการห้ามละเมิดอำนาจ ศาลยุติธรรมหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.88 ระบุว่า ควรมีกฎหมายดังกล่าว เพราะ เป็นการปกป้องศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การตัดสินของศาลให้ถือเป็นที่สุด ร้อยละ 18.50 ระบุว่า ไม่ควร เพราะ เห็นว่าเป็นองค์กรคนละส่วนกัน มีหน้าที่พิจารณาตัดสินคดีคนละส่วนกันกับศาลยุติธรรม และ ร้อยละ 19.62 ไม่แน่ใจ

รองศาสตราจารย์ ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับผลการสำรวจในครั้งนี้เพิ่มเติมว่า “จากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนยังไว้วางใจฝ่ายตุลาการมากที่สุด แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ผ่านมานั้น มีความเที่ยงตรง ตรงไปตรงมา ไม่มีอคติ การวินิจฉัยคดีต่างๆ รวดเร็ว ถูกต้อง ยุติธรรม และทำงาน ได้อย่างมีประสิทธิผล จึงสอดคล้องกับความพึงพอใจของการทำงานที่อยู่ในระดับปานกลาง ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติ (ส.ส., ส.ว.) ควร พึงสังวรในพฤติกรรมที่ประชาชนยังไม่ไว้วางใจให้มากขึ้น ดังนั้น หากจะทำอะไรต่อไปก็อาจจะทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนลดลง ส่วนฝ่ายบริหารหรือฝ่ายรัฐบาลเองก็มักจะทำอะไรเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก

สำหรับประเด็นในเรื่องของการกดดันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ในสายตาของประชาชนมองว่าเป็นสิ่ง ที่ไม่เหมาะสม ฝ่ายที่กดดันก็ควรจะระงับพฤติกรรมดังกล่าวเสีย จึงสอดคล้องกันกับความเห็นในเรื่องของการออกกฎหมายการห้ามละเมิดศาลรัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายเรื่อง จึงควรมีกฎหมายคุ้มครองเพื่อมิให้เสียหลักนิติธรรม ดังนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติควรฟังเจตนารมณ์ของประชาชนด้วย”


กำลังโหลดความคิดเห็น