xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ย้อน “ชินวัตร” ก็สร้างความเจ็บปวดประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (ภาพจากแฟ้ม)
หน.ปชป.โต้ปาฐกถานายกฯ ตามรอยพี่ชายสร้างความเข้าใจผิดต่างประเทศ เชื่อสุดท้ายมีปัญหา ย้อนกลับความเจ็บปวดประเทศ “ชินวัตร” มีส่วนสร้างไม่ใช่หรือ ย้อนมีแต่ “ทักษิณ” หนีศาล ท้าถกในสภา อีกด้านแนะจับตาสถานการณ์ใต้ ถ้าความรุนแรงไม่ลดใช้เวทีระหว่างประเทศฟ้องละเมิดสิทธิมนุษยชน

วันนี้ (30 เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการปาฐกถาพิเศษของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ประเทศมองโกเลีย ว่า โพยหรือบทที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ่านเป็นบทที่พี่ชายได้ใช้แสดงมาเป็นเวลาหลายปี เป็นแนวทางที่จะสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นในต่างประเทศ ในลักษณะที่ว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาจากการที่มีคนมาโค่นล้ม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอ้างว่าตัวเองนั้นเป็นตัวแทนของประชาธิปไตย โดยที่ไม่ได้พูดถึงข้อเท็จจริงจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ และพยายามที่จะสรุปง่ายๆ ว่า การดำเนินการเดินหน้าในการลดอำนาจองค์กรอิสระในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นจะต้องทำ แต่ในประเทศนายกฯ ก็จะพยายามที่จะไม่พูด ไม่แสดงความคิดเห็นอะไรทั้งสิ้น แต่ในต่างประเทศก็จะใช้วิธีการเดียวกับพี่ชาย ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาย้อนกลับมา จริงๆ แล้ว เป็นการยืนยันว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้นนี้ นายกฯ สนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่จะมีการต่อต้านการใช้อำนาจของศาล โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้ แสดงให้เห็นว่าเป็นทิศทางที่ประกาศออกมาชัด แล้วก็คาดหมายได้ว่า เรื่องการเดินหน้าทั้งรื้อรัฐธรรมนูญ แล้วก็เรื่องของนิรโทษกรรมนั้นคงจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน

“เหตุการณ์ปี 53 นายกฯ ก็ไม่ได้อธิบายให้ชัดว่า มีการสอบข้อเท็จจริงกันทุกฝ่าย และก็เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าการชุมนุมก็ไม่ใช่เป็นการชุมนุมที่สงบ มีการใช้อาวุธ เพราะฉะนั้นความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นนี้ ความจริงจะเกิดขึ้นกับครอบครัวชินวัตรอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ครอบครัวชินวัตรอาจจะรู้สึกได้ แต่ว่าความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับคนทั้งประเทศ กับปัญหาทั้งเศรษฐกิจ การเมืองที่เกิดขึ้นมาหลายปีนี้ ครอบครัวนี้ก็มีส่วนสร้างไว้ไม่ใช่เหรอ และการที่นายกฯ พูดว่าการชุมนุมปี 53 มีคนบริสุทธิ์ถูกลอบยิงโดยสไนเปอร์ ทั้งที่คนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น ตอนนี้ทุกคนเขาก็พร้อมพิสูจน์กระบวนการยุติธรรม ผ่านกระบวนการยุติธรรมในศาล ยกเว้นตัวคุณทักษิณที่ไม่ยอมที่จะอยู่ภายใต้อำนาจของศาล ผมก็เสียดายว่า นายกฯ นั้นไปพูดสิ่งเหล่านี้ข้างนอกประเทศ ถ้าเกิดมีความเชื่อในเรื่องเหล่านี้ก็มาถกกันในสภาก็ยังได้ ตามกระบวนการประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า วันนี้สิ่งที่ควรจะเป็นบทเรียนสำคัญคือ รัฐบาลได้อำนาจแล้วก็เดินหน้าใช้อำนาจผลักดันนโยบายแก้ปัญหาให้กับประชาชน ไม่ใช่มาเดินหน้าในการที่จะคิดรวบอำนาจ แล้วก็ทำให้ระบบนิติรัฐ นิติธรรม สั่นคลอนอีกครั้งหนึ่ง เพราะการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ถ้าเจาะจงความผิดทางการเมืองจริงๆ เช่น การฝ่าฝืนการประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อทรัพย์สิน และพยายามพ่วงเอาคดีทุจริตคอร์รัปชั่นของพี่ชายเข้าไปด้วย ก็กลายเป็นว่าหลักประชาธิปไตยของพรรคเพื่อไทย ของ พ.ต.ท.ทักษิณ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็คือพอมีอำนาจ สามารถเข้าไปแทรกแซงกระบวนการที่เป็นการใช้อำนาจในเชิงตุลาการ หรือกึ่งตุลาการได้หมด

ส่วนที่มีการพูดถึงการพัฒนาประชาธิปไตยให้เข้มแข็งขึ้นนั้น คำว่าเข้มแข็งของทางรัฐบาล หมายถึงเมื่อไหร่ที่ตุลาการตัดสินเข้าข้างตนเองหรือไม่ เพราะว่าเวลาศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเป็นคุณกับรัฐบาล ก็ไม่เห็นมีใครว่าอะไร แต่พอศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยในสิ่งที่ขัดใจตัวเองก็กลายเป็นว่าองค์กรอิสระใช้อำนาจเกินขอบเขต ไม่เป็นประชาธิปไตย และบอกว่าการที่จะไปปิดจะไปล้อม ขัดขวางการทำหน้าที่ หรือประกาศจับตุลาการนั้นเป็นเรื่องของเสรีภาพ ดังนั้นการที่ไปท่องบทที่ต่างประเทศนั้น ก็เป็นความพยายามที่จะดึงแนวร่วมของต่างประเทศเข้ามา เพื่อที่จะสร้างความชอบธรรมในการรวบอำนาจให้กับตนเอง

“มันเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลกำลังจะเดินหน้า เพราะว่าเวลาอยู่ข้างใน นายกฯก็จะบอกว่าเป็นเรื่องของสภา เป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ต้องการเห็นความขัดแย้ง แต่ไปพูดข้างนอก ผมคิดว่าต้องการที่จะส่งสัญญาณชัดว่า เดินหน้าลุยจริงๆ แล้วก็จะสอดคล้องกับประธานสมศักดิ์ รองประธานวิสุทธิ์ ก็กำลังจะต้องเดินทางไปเพื่อยืนยันว่าจะร่วมสร้างอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการที่จะไม่ทำคำชี้แจงต่อศาล” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการพูดคุยสันติภาพระหว่างฝ่ายความมั่นคงไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นว่า ประเด็นที่พูดถึงว่าการลดความรุนแรงจะทำเป็นรูปธรรม ซึ่งตามข่าวก็บอกว่าทางฝ่ายผู้มาพูดคุยยืนยันว่า สามารถที่จะพูดคุยกับคนในพื้นที่เพื่อลดความรุนแรได้นั้น ก็ต้องมีคำถามต่อไปว่าเขาต้องรับผิดชอบหรือไม่ กับความสูญเสีย ความรุนแรงทั้งหลายที่เกิดขึ้นในรอบเดือนที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นก็ต้องดูว่าพฤษภาคมที่เขาบอกจะงดก่อเหตุนั้นจะเป็นอย่างไร และต้องดูว่าหลังจากนั้นรัฐบาลดำเนินการอย่างไร กับกรณีการยื่นเงื่อนไขของทางฝ่ายผู้มาพูดคุย ซึ่งหากเหตุการณ์ในพื้นที่ยังมีลักษณะของความรุนแรง แล้วฝ่ายผู้ที่พูดคุยเขาบอกว่าเป็นคนควบคุมเองนั้น ก็อาจจะเป็นทีของฝ่ายเราที่จะต้องรุกมากขึ้น กับเวทีระหว่างประเทศเหมือนกัน ในแง่ของการละเมิดสิทธิมนุษยชน


กำลังโหลดความคิดเห็น