xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมต้านโลกร้อน จวก รบ.ปล้น ปชช. แนะคืนเงินค่าเอฟทีก่อนเจอฟ้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศรีสุวรรณ จรรยา (แฟ้มภาพ)
“ศรีสุวรรณ” เฉ่งรัฐมีหน้าหาพลังงานทดแทน แต่ดันผลักค่าจัดหาให้ ปชช.แบก ซัดไม่ยอมชักเนื้อ ทั้งที่ฟันกำไรขายไฟฟ้าให้เอกชนปีละหลายหมื่นล้าน เชื่อประโคมข่าววิกฤตพลังงานหวังใช้ต่อรองสร้างโรงไฟฟ้า วอนหยุดปล้นและคืนค่าเอฟที่ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าโดยด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 26 ก.พ. สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน นำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน แถลงการณ์เรื่อง ขอให้ยุติเล่ห์ฉลการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานและขอให้คืนค่า FT แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า ความว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกมาให้ข่าวต่อสาธารณะว่าอาจมีความจำเป็นในการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานไฟฟ้าในระหว่างวันที่ 5-14 เมษายนนี้ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตก๊าซในประเทศพม่าจะหยุดการจ่ายก๊าซให้กับประเทศไทยชั่วคราวเพื่อปรับปรุงซ่อมแซมแท่นผลิตก๊าซ ซึ่งจะทำให้โรงงานไฟฟ้าในประเทศไทยขาดก๊าซธรรมชาติเพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็นปริมาณผลิตไฟฟ้าหายไป 6,000 เมกะวัตต์ ความดังทราบแล้วนั้น

เหตุการณ์ดังกล่าวมิใช่เรื่องผิดปกติ เพราะเป็นเหตุที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบเรื่องดังกล่าวมานานแล้ว และเป็นหน้าที่ของรัฐบาล กระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่จะต้องแสวงหาแหล่งพลังงานอื่นมาเสริมหรือทดแทน ตามความต้องการของผู้บริโภคภายในและต่างประเทศที่ถูกผูกขาดการค้าขายไฟฟ้าโดยหน่วยงานรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว (MonoPoly) อีกทั้งปัจจุบันปริมาณการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยมีมากถึง 33,000 เมกะวัตต์อยู่แล้ว ในขณะที่ปริมาณความต้องการกระแสไฟฟ้าในช่วงพีกสูงสุดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 5 เมษายนนี้มีเพียงไม่เกิน 26,600 เมกะวัตต์เท่านั้น และกระทรวงพลังงานก็สามารถบริหารจัดการให้โรงไฟฟ้าอื่นเพิ่มเติมกำลังการผลิตมาเสริมหรือสำรองไว้ได้ เช่น โรงไฟฟ้าแม่เมาะ โรงไฟฟ้าชีวมวลต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งการเปลี่ยนการใช้ก๊าซธรรมชาติมาเป็นน้ำมันเตาและดีเซลในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ดังกล่าว

การแสวงหาแหล่งพลังงานอื่นมาทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่การที่รัฐบาลโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้นำค่าใช้จ่ายในการแสวงหาพลังงานอื่นมาทดแทนเหล่านั้นไปกำหนดเป็นต้นทุนในการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ในงวดที่ผ่านมาก่อนแล้ว คือ งวด ม.ค.-เม.ย.56 ปรับขึ้นเป็น 4.04 สตางค์ต่อหน่วย มีผลให้ค่าเอฟทีรวมที่จะจัดเก็บเพิ่มจาก 48 สตางค์ต่อหน่วยเป็น 52.04 สตางค์ต่อหน่วย และในงวดต่อไป (พ.ค.-ส.ค. 56) จากที่จะเพิ่มขึ้นอีก 1.70 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 2.20 สตางค์ต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 0.48 สตางค์ต่อหน่วยนั้น เป็นการกระทำที่เอารัดเอาเปรียบผู้ใช้ไฟฟ้าโดยมิชอบ ทั้งที่รัฐบาล โดย กฟผ. กฟน. และ กฟภ. มีกำไรจากการจำหน่วยไฟฟ้าให้เอกชนและขายให้กับชาวบ้านในแต่ละปีหลายหมื่นล้านบาทอยู่แล้ว กลับไม่ยอมชักเนื้อตัวเองหรือรับภาระยอมขาดทุนกำไร เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ การที่กระทรวงพลังงานออกมาให้ข่าวสร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคมโดยจะพิจารณาประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน โดยเอาความต้องการใช้ไฟฟ้าของชาวบ้านเป็นตัวประกันนั้น เชื่อว่าเป็นเล่ห์เพทุบาย ที่รัฐบาลพยายามจะใช้เป็นข้ออ้างในการสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือ PDP 2012 ของรัฐบาลเท่านั้น

สมาคมฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล โดยกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สั่งให้คืนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่แอบปล้นไปจากกระเป๋าของผู้ใช้ไฟฟ้าไปแล้วก่อนหน้านี้และยกเลิกแนวคิดที่จะผลักภาระการจัดหาพลังงานไฟฟ้าต่างๆ ไปให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศโดยทันที และหากประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าครัวเรือนใด ผู้ประกอบการรายใด เห็นว่าการกระทำของรัฐบาล และ กกพ.ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวคืนได้โดยทันที หรือปรึกษาสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เพื่อทวงสิทธิดังกล่าวให้กับทุกท่าน
กำลังโหลดความคิดเห็น