ผู้บัญชาการทหารบกไม่อยากพูดข้อเสนอบีอาร์เอ็น โยนรัฐบาลตัดสินใจ บอกจะเห็นด้วยหรือไม่ไม่ได้ประโยชน์อะไร ขอสื่ออย่าเขียนอีก อย่าเอาตนไปขัดแย้ง ชี้ต้องระวังคนอื่นจุ้นปัญหาภายใน ลั่นไม่ยกย่องคนผิด จวกนักวิจารณ์สักแต่ติลองมาทำดูจะได้รู้ยากง่าย
วันนี้ (29 เม.ย.) ที่กรมแพทย์ทหารบก เมื่อเวลา 11.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ถึงที่แกนนำบีอาร์เอ็นประกาศยื่นข้อเสนอ 5 ข้อในการเจรจาเพื่อยุติปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชาแดนภาคใต้ว่า ไม่อยากให้มองกันมากนักเพราะเป็นเรื่องการขับเคลื่อนของแต่ละฝ่ายที่ต้องทำกันไป ตนไม่อยากตอบคำถามเรื่องเหล่านี้เพราะเป็นเรื่องของคณะทำงานเจรจา และอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ ส่วนตนทำงานในฐานะเป็นรอง ผอ.รมน. อยากให้สื่อเข้าใจว่าการทำงานมีหลายระดับ ทั้งระดับนโยบาย ฝ่ายปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติ หากสื่อมาถามเป็นเรื่องๆ ต่างฝ่ายต่างตอบจะทำให้การแก้ปัญหายากขึ้นจึงอยากขอร้องว่าการแก้ปัญหามีหลายอย่างต้องช่วยกัน ใครจะเสนออะไรก็ได้ ขึ้นอยู่ที่เราจะทำหรือไม่ รับฟังหรือไม่ ขอให้เข้าช่องทางที่ถูกต้อง ซึ่งคณะทำงานที่ไปพูดคุยบอกแล้วว่าจะอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ส่วนการตัดสินใจเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ส่วนเราในฐานะฝ่ายความมั่นคงมีหน้าที่รักษาพื้นที่ให้ปลอดภัย ซึ่งเราพยายามทำให้ดีที่สุดแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ ซึ่งการพูดคุยอย่างเดียวคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาและท้ายที่สุดอาจจะดีก็ได้
เมื่อถามว่า ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นรับได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ย้อนถามว่า รับได้หรือไม่ ถ้าหากรับไม่ได้ก็ไม่ได้ ก็ถือว่าจบ ตนในฐานะรอง ผอ.รมน.ไม่ใช่ในฐานะ ผบ.ทบ.ซึ่งต้องมาพูดคุยกัน อย่าเอาตนไปเขียนอย่างนั้น ต้องมาพูดคุยกันว่าจะเอาอย่างไร แต่ต้องนำมาเข้าที่ประชุมในกรอบของรัฐบาล เพราะการทำงานเป็นระบบ คนที่ตัดสินใจคือ รัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า ซึ่งมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ โดยรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ และตัดสินใจไม่ใช่ตน แม้ว่าตนจะสามารถตัดสินใจได้โดยบอกว่าไม่เห็นด้วย แต่ถ้าส่วนใหญ่เห็นด้วยตนก็เป็นแค่เสียงหนึ่งเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งคงไม่ใช่เพราะทุกอย่างต้องมีความเป็นเอกภาพ เพราะปัญหาทุกวันนี้คือ ถูกมองว่าไม่มีความเป็นเอกภาพ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยและมีเหตุผลมากกว่าก็ทำต่อกันไม่ได้ ขอให้ไปว่ากันในที่ประชุม
“ผมจะไม่ตอบข้างนอกว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ การพูดว่าเห็นด้วยหรือไม่นั้นไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา ขอร้องสื่ออย่าไปเขียนเรื่องนี้อีก ถามยังไงคนตอบก็ตอบไม่ถูกใจคนฟัง ยิ่งถามจะยิ่งพันกันไปหมด ต้องเห็นใจผม อย่าเอาผมไปขัดแย้ง อย่าไปเขียนว่าผมกลัวนั่นกลัวนี่ ผมทำตามหน้าที่ การไปพูดคุยเป็นเรื่องของคณะทำงานเพื่อแสวงหาทางออกด้วยสันติวิธีที่ต้องไปหาวิธีทำกันเอง ไปหารือกัน กลับมาก็มาพูดคุยกัน สิ่งที่สำคัญคือต้องระมัดระวังไม่ให้ใครเข้ามาแทรกแซงเพราะเป็นปัญหาภายในประเทศเรา เพราะคนที่ทำความผิดเป็นคนไทยทั้งนั้น ซึ่งเราไม่ยอมรับสถานะใดๆ ทั้งสิ้น เพราะถือว่าเขาเป็นโจรที่ทำผิดกฎหมาย ฆ่าคน ผมไม่ยกย่องคนกระทำความผิด วันนี้ผมได้สั่งการเพิ่มเติมให้เข้มงวดเรื่องการรักษาความปลอดภัย ตำรวจ ทหารที่ทำหน้าที่ถืออาวุธต้องระวังตัวเอง ถ้าไม่ระวังก็ต้องตาย ต้องเจ็บ ไม่ใช่ผมไม่ห่วง ผมห่วงจนไม่รู้จะห่วงยังไงแล้ว ไม่ใช่ว่า อยากทำอะไรก็ทำได้ อยากซื้ออะไรก็ซื้อได้ วันนี้ไม่ง่ายขนาดนั้นที่จะมาวิจารณ์กันง่ายๆ คือที่เขียนออกมาติมากกว่าเสนอแนะ ติทุกเรื่อง ถามว่าคนติทำอะไรสักเรื่องบ้างไหม หรือคิดอย่างเดียว ลองไปทำอย่างที่ผมทำดูจะได้รู้ว่ายากหรือง่ายแค่ไหน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว