นายกฯ ท่องคาถายังไม่เจรจา อ้างลงนามสันติภาพ “บีอาร์เอ็น” แค่เริ่มพูดคุย ชี้หยุดปัญหาไฟใต้ได้ต้องใช้เวลา ด้านผู้นำฝ่ายค้านแนะรัฐบาลกำหนดกรอบเจรจา และกติกาให้ชัด ชี้ผูกมัดตัวเองต้องตกลงมาเลย์คุ้มครองแค่ไหน ตำหนิ “เฉลิม” ตอบกระทู้ไม่เห็นใจประชาชนในพื้นที่ แถมทะเล่อทะล่าจะไปหารือกับ “มหาเธร์” ทั้งที่เป็นหน้าที่ของ ศอ.บต.
วันนี้ (7 มี.ค.) ที่ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 16.40 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังเกิดเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการลงนามกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น ว่า การที่ตัวแทนของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไทยและมาเลเซียไปพูดคุยกับตัวแทนของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนั้นเป็นเพียงการเริ่มการพูดคุยยังไม่เข้าสู่กระบวนการการเจรจา จึงอยากให้แยกกันระหว่างการเริ่มแนวทางการแก้ไขปัญหากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะการพูดคุยกันก็ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถหยุดปัญหาความรุนแรงได้ทันที ก็คงต้องใช้เวลา ในหลายๆ ประเทศเองที่มีความไม่สงบก็ใช้เวลานานหลายปี บางทีใช้ถึง 6-7 ปี เราจะพยายามอย่างดีที่สุดและทำเต็มที่
อีกด้านหนึ่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ที่มีการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนั้น ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายรัฐบาลไปแล้ว หน่วยงานก็ต้องมีหน้าที่ดำเนินการตามนโยบาย ซึ่งหากจะมีการท้วงติอะไรก็ต้องไปพูดคุยเป็นการภายใน ทั้งนี้ตนก็มีข้อห่วงใยในเรื่องดังกล่าวมาก เพราะจากการหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการที่รัฐบาลทำขณะนี้พบว่ามีช่องว่างพอสมควร ซึ่งตนก็พยายามหาช่องทางเสนอชี้แนะรัฐบาล โดยตนเห็นว่าภารกิจหลักของรัฐบาลในตอนนี้ต้องไปดึงกลุ่มอื่นเข้ามา เพราะเฉพาะคนที่มาลงนามก็ชัดเจนว่าไม่สามารถสั่งการในพื้นที่ได้ จึงต้องมีการดึงกลุ่มอื่นเข้ามา และเมื่อรัฐบาลตัดสินใจที่จะพูดคุยเปิดเผยต้องดูว่าอะไรคือขอบเขตของการพูดคุย เพราะประชาชนก็อยากรู้และมีความห่วงใย กลุ่มผู้ก่อเหตุเองก็ไม่ตอบสนองจนกว่าจะมีความชัดเจน ส่วนการดึงกลุ่มอื่นเข้ามานั้นรัฐบาลต้องไปตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร เพื่อดึงทุกกลุ่มมาเจรจาในเมื่อคนที่ลงนามไปแล้วไม่สามารถเป็นตัวแทนของทุกกลุ่มได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าในการลงนามสันติภาพในครั้งแรกมีการอ้างชื่อของนายสะแปอิง บาซอ และนายมะแซ อุเซ็ง ผู้นำกลุ่มก่อความไม่สงบ และการลงนามครั้งที่สองก็ยังคงมีการอ้างชื่อทั้งสองคนอยู่ ทั้งที่ไม่มีการปรากฏตัว นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนก็ได้วิเคราะห์และได้รับการยืนยันว่ารัฐบาลและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คิดว่ารัฐบาลมาเลเซีย และอินโดนีเซียนั้น จะมีศักยภาพที่สามารถทำให้กลุ่มอื่นมาเข้าร่วมได้ ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่ตนอยากเตือนว่าต้องทำด้วยความระมัดระวัง ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายก็รอคอยขอบเขต กติกาการพุดคุยคืออะไร การปฏิบัติในพื้นที่เป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้สภาพในพื้นที่ไม่เปลี่ยนแปลง มีเหตุการณ์เกิดขึ้นรายวัน ซึ่งวันนี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็ตอบกระทู้ในสภาแบบไม่เห็นใจประชาชนในพื้นที่ โดยบอกว่าไม่มีอะไรทั้งที่ในพื้นที่มีเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจประชาชน และเป็นเพียงการตีโวหารแต่กลับไม่มีคำตอบว่าคนที่มาลงนามจะดึงคนที่ก่อเหตุเข้ามาพูดคุยเพื่อลดความรุนแรง ยอมรับกติกาภายใต้รัฐธรรมนูญไทยหรือไม่
“เอกสารที่รัฐบาลไปลงนามหากอ่านตามตัวอักษรก็จะเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวของรัฐบาลไทย ไม่มีอะไรผูกมัดผู้มาลงนามด้วย รัฐบาลไทยแสดงเจตนาฝ่ายเดียวว่ามอบหมายให้สภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นตัวแทน และแสดงเจตนาฝ่ายเดียวว่าพร้อมที่จะให้กลุ่มบีอาร์เอ็นเข้ามาพูดคุยสันติภาพ โดยให้รัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก และคุ้มครองปลอดภัยคนที่เข้ามาพูดคุย แต่กลับไม่มีประโยคใดเลยที่ผูกมัดผู้ก่อความไม่สงบ นอกจากนั้นรัฐบาลต้องไปนิยามว่าคุ้มครองความปลอดภัยหมายความว่าอะไร ซึ่งต้องให้ชัดเจน เพราะจะไปเกี่ยวกับทางมาเลเซียด้วยซึ่งหากเป็นคนที่มีคดีติดตัวมาเลเซียต้องมีแนวทางปฏิบัติ” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ตนยืนยันว่าปัญหานี้ยังเป็นปัญหาภายในประเทศ ซึ่งก็มีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่ก็จะมีปัญหาเรื่องการรับรองคนที่มาลงนามจะเป็นปัญหาบานปลายหรือไม่ ซึ่งไทยต้องแสดงจุดยืนให้ชัดกับประเทศอื่นๆ ส่วนเงื่อนไขที่รัฐบาลสร้างขึ้นมาจะกลับมาผูกมัดรัฐบาลเองหรือไม่นั้น ตน กลัวว่าจะเป็นเงื่อนไขมัดประเทศไทย และจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ในพื้นที่ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลเริ่มต้นแล้วก็ต้องเดินหน้าด้วยความระมัดระวังและปิดจุดอ่อนให้หมด ส่วนที่นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ แสดงความเห็นว่ารัฐบาลลงทุนสูงและจะได้ไม่คุ้มเสียนั้น ก็คงมีความห่วงใยคล้ายๆกัน ส่วนที่ ร.ต.อ.เฉลิม เตรียมจะไปหารือกับมหาเธร์ โมฮัมหมัดอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียนั้น ตนก็ไม่เข้าใจว่าตัว ร.ต.อ.เฉลิมเข้าใจความละเอียดอ่อนของปัญหามากเพียงใด และได้รับมอบหมายหรือไม่ ซึ่งตนคิดว่าคนที่ทำหน้าที่นี้คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้