นายกรัฐมนตรีเล่าประชุมอาเซียนที่บรูไน ถึงความเชื่อมโยง 3 ด้านสู่ประชาคมอาเซียน หนุนเดินทางไม่ต้องใช้วีซ่า โวช่วยลดเหลื่อมล้ำในภูมิภาค พร้อมหนุนสันติภาพทะเลจีนใต้ จ่อนัดคุยสามเหลี่ยมไทย-มาเลย์-อินโดฯ พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ 3 เรื่องในภาคใต้ หวังขยายอุตสาหกรรมฮาลาล และยางพารา
วันนี้ (27 เม.ย.) เมื่อเวลา 08.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยและสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ โดยกล่าวเปิดเผยถึงกรณีการได้เดินทางไปประเทศเนการาบรูไนดารุสซาลาม เพื่อที่จะร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 22 ว่า ครั้งนี้เป็นการประชุมที่มีเฉพาะกลุ่มผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ เพื่อหารือกันในประเด็นที่ว่า ในปี 2015 เราจะเปิดประชาคมอาเซียน สิ่งที่ผู้นำหลาย ๆ ท่านได้ให้ความคิดเห็นในแต่ละเสาหลัก คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านการเมืองและด้านความมั่นคง ซึ่งเราจะทำอย่างไรให้ 3 เสาหลักนี้ทำงานเชื่อมโยงกัน เช่น ด้านเศรษฐกิจจะพัฒนาเรื่องของการไปสู่ AEC (สมาคมประชาชาติแห่งเอเชีย) การพัฒนาเรื่องของการค้าเสรี รวมถึงเรื่องของคอนเน็กติวิตี (connectivity) การเมืองและความมั่นคง มีการหารือกันว่าอยากให้เน้นเรื่องของการทำอย่างไร ที่จะช่วยเหลือเรื่องความมั่นคง การดูแลเรื่องของสิทธิมนุษยชน การดูแลปกป้องความปลอดภัยของเด็กสตรี และเรื่องของการปราบปรามยาเสพติดต่างๆ เราจะเชื่อมโยงเรื่องของวัฒนธรรมกับการท่องเที่ยวได้อย่างไร นี่คือหน้าที่ของ 3 เสาหลัก
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เราพูดคุยกันว่าจะเชื่อม 3 เสาหลักนี้ร่วมกับประชาชนอย่างไร เพราะการทำงานต่างๆ จะได้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น นอกจากนั้นปี 2015 เสนอให้มีการตั้งหน่วยงานเหมือนกับเป็นคณะทำงานที่จะนำแผนงานของทุกประเทศ ในแต่ละเสาหลักมาบริหารจัดการและการติดตามร่วมกันเพื่อให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น และหลังจากปี 2015 ปีประชาคมอาเซียน เราจะต้องพัฒนาอะไรต่อไป โดยเฉพาะสิ่งที่เราต้องเน้นมากขึ้นคือเรื่องของคอนเน็กติวิตี ซึ่งหลายๆ ประเทศได้ถือโอกาสในการเชิญชวนนักลงทุน มาลงทุนกับกลุ่มอาเซียนว่าจะทำอย่างไรให้การพัฒนานี้เกิดขึ้นทั้งในรูปแบบของการเชื่อมโยง และการพัฒนาในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการลดช่องว่างทางด้านของประชาชน เช่น รายได้ การศึกษา สาธารณสุข มีการพูดคุยกัน
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า สุดท้ายเรื่องของแนวชายแดน เนื่องจากการพัฒนาด่านถือเป็นสิ่งสำคัญ การที่เราจะทำอย่างไรให้ระบบการเชื่อมโยงของแต่ละด่าน และข้อกฎหมายต่างๆ นั้น เป็นไปเพื่อความคล่องตัว ซึ่งในงานนี้ทางประเทศบรูไน ในฐานะประธานการจัดงานได้เสนอว่า น่าจะมีความร่วมมือเรื่องของการให้สิทธิพิเศษเหมือนกับสร้างช่องทางพิเศษ สำหรับกลุ่มอาเซียนและไม่ต้องเสียค่าวีซ่า หรือมีบิซิเนสการ์ด (business card) อาเซียนจะได้หรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้ประเทศไทยได้ตอบรับ และยินดีที่จะสนับสนุน ซึ่งวันนี้เราได้จัดในเรื่องของช่องทางพิเศษที่สนามบินให้อยู่แล้ว ตรงนี้ก็เป็นโอกาสอันดี ถ้าสมมุติว่ามีความร่วมนี้ก็จะทำให้ประชาชนของกลุ่มอาเซียนสามารถที่จะเดินทางไปมาหาสู่กันได้คล่องตัวขึ้น อันนี้จะเป็นโอกาสในการที่จะเชื่อมโยงได้เร็วขึ้น
เมื่อถามต่อว่า เรื่องดังกล่าวนี้ร่วมถึงการลดความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้ด้วยหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวตอบว่า อันนี้คงจะเป็นโจทย์สำคัญ เพราะเรามองว่าการที่เราจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคอนเน็กติวิตี แน่นอนเป็นจุดแรกที่เราจะต้องเริ่มเข้าไปพัฒนา เพื่อเป็นการยกระดับภูมิภาคความเชื่อมโยงนี้ แต่ขณะเดียวกันการพัฒนาเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ ก็เป็นสิ่งที่จะต้องทำควบคู่กันไป ซึ่งโดยหลักแล้วแต่ละประเทศก็ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศไทยเราพัฒนาตรงนี้มา ปีนี้เราหารือกันเรื่องของยุทธศาสตร์ในเรื่องของการยกระดับ เรื่องของคุณภาพ ภาคการเกษตร การปรับโซนนิ่งประเทศ การปฏิรูปการศึกษาต่างๆ เหล่านี้ เราก็ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่เราต้องทำ เราต้องพูดในมิติที่กว้างขึ้น ดังนั้น การที่จะช่วยเหลือในส่วนของภูมิภาคให้ความเหลื่อมล้ำนี้ลดน้อยลงไป ก็คงจะเป็นอีกแผนหนึ่งที่ทั้ง 10 ประเทศให้ความสำคัญ และเป็นงานที่จะต้องฝากกับทางคณะรัฐมนตรีของ 10 ประเทศที่จะมาประชุม และจะมีการรายงานผลในเดือนตุลาคมอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อถามต่อว่า ต่อจากนี้เราเห็นความร่วมมือในกลุ่มสหภาพยุโรป ที่เขามีช่องพิเศษของสหภาพยุโรป เราอาจจะเห็น ในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศที่จะทำให้ประชากร นักธุรกิจ เดินทางไปมาหาสู่กันได้สะดวกมากขึ้น ทุกประเทศตกลงร่วมกันที่จะมีการพัฒนาเหล่านี้ด้วยหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นข้อเสนอในที่ประชุม ซึ่งหลาย ๆ ประเทศก็ให้การขานรับก็คงจะไปหารือ ในส่วนของคณะทำงาน และคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่จะไปประชุมร่วมกันว่า เราจะร่วมกันพัฒนาตรงนี้ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างไร เมื่อไหร่
“สิ่งที่ทุกประเทศมอง เรามองว่าหลังจากที่ประชาคมอาเซียนเกิดขึ้นก็จะมีหลาย ๆ ประเทศที่มีความสนใจที่จะลงทุน แต่โครงสร้างในการทำงานร่วมกันจะทำอย่างไร ซึ่งวันนี้เราใช้ภายใต้การทำงานร่วมกันเรื่องของการค้า การลงทุน คือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียน” จะทำให้เกิดแนวทางเรียกว่า เป็นสะพานเชื่อมโยงเหมือนกับเราเป็นครอบครัวเดียวกัน ฉะนั้นเมื่อเราเป็นครอบครัวเดียวกัน เราจะให้คนอื่นมาลงทุน เราคงต้องทำสะพานว่า เราจะทำสะพานเรื่องอะไร อย่างไร และลงทุนอย่างไรที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อภูมิภาคโดยรวม อันนี้เป็นสิ่งที่เราพูดถึง และรวมถึงการที่เราจะทำอย่างไรให้ความร่วมมือแต่ละประเทศนั้นมาช่วยเหลือเรา ในการลดปัญหาช่องว่างต่าง ๆ ในแต่ละประเทศด้วย”นายกรัฐมนตรีกล่าว
เมื่อถามต่อว่า ขณะที่ประเทศในอาเซียนมีการเชื่อมโยงกันด้วยทะเลจีนใต้ ประเทศไทยมีบทบาทอย่างไรในการที่จะช่วยประสานเรื่องนี้บ้างนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า จริงๆ แล้วเป็นหัวหนึ่งที่เราพูดกันว่าไม่ว่าจะเป็นช่วงนี้ที่เราจะเตรียมในเรื่องของการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือหลังประชาคมอาเซียน สิ่งที่จะทำให้งานนี้เกิดขึ้นได้ บรรลุผลอย่างดีที่สุดนั้น คือเรื่องของการที่เราจะต้องแก้ปัญหาเรื่องของความขัดแย้งในภูมิภาค ซึ่งในกลุ่มอาเซียนก็อยากเห็นการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี และทำอย่างไรในส่วนของภูมิภาคนั้นที่จะใช้หลักวิธีการพูดคุย การไว้ใจ เชื่อใจ เข้าใจกัน เราได้พูดถึงเรื่องปัญหาทะเลจีนใต้ ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นผู้นำที่มีบทบาทสำคัญ
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า เราเป็นผู้ประสานงานอาเซียน-จีน และปีนี้เป็นปีความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-จีน ครบ 10 ปี เราได้เสนอในฐานะผู้ประสานงาน เราอยากเห็นอาเซียนแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน ในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะความมั่นคงทางทะเลว่า ทำอย่างไรให้ผู้ที่สัญจรไปมานั้น ได้รับความปลอดภัย และมีกติกาในการใช้ทางทะเลร่วมกันอย่างไร เราได้เสนอว่า การที่เราเองในส่วนของอาเซียนก็มีเจตนารมณ์ไว้หลายข้อด้วยกันที่มีการตกลงไว้ ซึ่งเราก็อยากจะพัฒนาจากความเป็น DOC ไปสู่ COC หมายถึงว่าจากการที่เป็นแค่การประกาศเจตนารมณ์นั้น ไปสู่แนวทางในการปฏิบัติจริง แต่การที่จะไปถึงตรงนั้นก็จะใช้เวลา เราบอกว่าครั้งนี้ในฐานะที่ครบ 10 ปี เราจะร่วมกันในกลุ่มอาเซียนหรือไม่แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะประกาศว่า เรา พร้อมที่ทำงานเพื่อให้เกิดสันติภาพ หรือความเป็นเอกภาพของอาเซียน-จีน เพื่อให้เกิดความมั่นคง และปลอดภัยทางทะเล ซึ่งในส่วนนี้ได้เสนอว่า เนื่องจากจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า เราก็เสนอว่าน่าจะมีการพูดคุยกันในกลุ่มของอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งประเทศไทยได้เสนอเป็นเจ้าภาพในการพูดคุย เพื่อให้ได้ในเรื่องของหลักและแนวทางในการที่จะเข้าไปแก้ปัญหาร่วมกัน นอกจากนี้ยัง ได้รับการชื่นชมจากประเทศบรูไน และทาง ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ก็ให้การสนับสนุน
เมื่อถามต่อว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเรื่องของปัญหาประเด็นทะเลจีนใต้คาดว่าจะถูกนำไปหารือ ในการประชุมในช่วงปลายปีนี้ด้วยหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คงจะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันมากกว่าว่า ถ้าเรามีเจตนารมณ์ตรงกัน ไม่ว่าเราจะทำอะไรเราก็ต้องตั้งเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน ถ้าตั้งเป้าหมายใหญ่ร่วมกันได้ เราก็จะมาหารือกันว่าอะไรบ้าง เรียกว่าเป็นข้อหรือแนวทางที่ทุกประเทศเห็นพ้องร่วมกัน เราอาจจะเดินหน้าก่อน อะไรที่ยังเห็นขัดแย้งก็ต้องมานั่งพูดคุยกัน แก้ไขปัญหาต่อไป เราอาจจะไม่สามารถแก้ได้ทั้งหมด แต่เราจะค่อยๆ เริ่มพัฒนาการในการแก้ไขที่เรียกว่าทุกคนเห็นพ้องต้องกันแล้ว และจะเดินหน้าต่อไป
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า ส่วนการประชุมร่วมกับ 10 ชาติ ในอาเซียน และมีการประชุมกลุ่มย่อยเรียกว่า IMT-GT (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) (ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย ประเทศไทย) ประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเกี่ยวข้องกับ เส้นเรื่องของการเชื่อมโยงที่เกิดขึ้น จริงๆ แล้ว ถือว่าเป็นความร่วมมือ 10 ประเทศ ซึ่งเป็นการยาก ฉะนั้นจึงเกิดวงเล็กๆ แต่ละวงเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงก่อนเพื่อที่จะได้เห็น เช่น เส้น IMT-GT คือจะเชื่อมประเทศไทยจะเน้นในเรื่องของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และภาคใต้ 14 จังหวัด รวมถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย อันนี้ก็จะกลุ่มหนึ่ง เราจะเห็นหลายๆ กลุ่มที่มีการพูดคุยกัน ตอนนั้นที่เราคุยกันก็จะมีหลาย ๆ ประเทศ เรียกว่าเป็นวงเล็กเพื่อที่จะเชื่อมไปหาวงใหญ่
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้เนื่องจากที่เขาติดต่อกัน ใกล้เคียงกัน อาทิ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศมาเลเซีย อาจจะมีเป็นอีกวงหนึ่ง แต่เราคือเป็นวงที่เป็นภาคใต้เฉพาะที่เป็นเกาะสุมาตรา ซึ่ง ในส่วนนี้ เราต้องมาหารือต่อในส่วนคณะประชุมของ 3 ประเทศ ซึ่งหลักๆ คือว่า 3 ประเทศได้เห็นพ้องต้องกัน ในการประกาศเจตนารมณ์ในการให้ความร่วมมือในการพัฒนาแผนงานเรียกว่า connectivity ทั้งในส่วนของทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ร่วมกันเป็นแผน 5 ปี ในการพัฒนาร่วมกันทั้ง 3 ประเทศ
เมื่อถามว่า สิ่งที่ประเทศไทยควรจะต้องมีการดำเนินการ มีโครงการอะไรบ้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ส่วนใหญ่แล้วประเทศไทยได้เสนอเรื่องของพระราชบัญญัติ เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนนี้จะตอบโจทย์เรื่องของ connectivity และส่วนที่เหลือคือส่วนที่เราจะไปเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่นกลุ่มของ IMT-GT ก็มีความร่วมมือใหญ่ๆ เรื่อง connectivity ใน 3 เรื่องด้วยกัน คือเรื่องของการพัฒนาท่าเรือนาเกลือ จังหวัดตรัง การพัฒนาศูนย์ลอจิสติกส์ ทุ่งสง มอเตอร์เวย์ หาดใหญ่ สะเดา ในส่วนนี้ได้รับขอเสนอของพี่น้องประชาชนมาแล้ว และตรงกับแผนที่ได้มีการพูดคุยกัน ซึ่งตรงนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงของการศึกษาเป็นไปได้ทั้งหมดก็จะมี 3 ส่วนด้วยกัน ในส่วนของ connectivity
“สุดท้ายแผนนี้ก็จะไปเชื่อมโยงกับ connectivity แผนใหญ่ของอาเซียนทั้งหมด ครั้งนี้เราก็เสนอว่า นอกจากเรื่องของ connectivity เราก็มองว่าสิ่งที่ควรจะพัฒนาด้วยกันคือการลดช่องว่างทางเศรษฐกิจคือการสร้างรายได้ เรามองว่าในกลุ่มของ 3 ประเทศนี้มีอุตสาหกรรมที่น่าจะพัฒนาด้วยได้ ถ้าเรามีเรื่องของโลจิสติกส์ เราก็น่าจะพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งประเทศไทยอุตสาหกรรมฮาลาลก็เป็นที่ยอมรับ การพัฒนาตรงนี้ ถ้าเราร่วมกันในส่วนของ 3 ประเทศนี้ เราก็น่าจะมีโอกาสได้ขยายอุตสาหกรรมฮาลาลนี้ไป รวมถึงการพัฒนาเรื่องอุตสาหกรรมยางพาราที่จะทำอย่างให้พัฒนาอุตสาหกรรมนี้ร่วมกันเรียกว่า รับเบอร์ซิตี ในส่วนของประเทศมาเลเซียก็มีการคาดหวัง และอยากเห็นการพัฒนานี้ร่วมกัน” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
เมื่อถามต่อว่า ปัญหาที่ผ่านมีปัญหาเรื่องของราคายางพาราตกต่ำ อาจจะใช้เวทีนี้ในการหารือร่วมกันที่จะหาทางพัฒนาความร่วมมือหลายๆ ด้านทั้งสินค้า อุตสาหกรรม การเกษตร รวมถึงยางพาราด้วย หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เราจะพูดตั้งแต่เรื่องของต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ท้ายที่สุดแล้วคือเรื่องของการเชื่อมโยงเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่สินค้าที่จะมาใช้ผ่านโครงข่ายเหล่านั้นก็จะมีการพัฒนาร่วมกันไปด้วย
ขณะที่เรื่องของการประชุมที่เป็น 3 ประเทศแล้ว นายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือร่วมกับท่านประธานาธิบดีพม่า บ้างนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้ใช้โอกาสนี้ เราได้มีโอกาสหารือกับท่านประธานาธิบดีพม่าหัวข้อหลัก คือ การติดตามเรื่องของความคืบหน้าในการพัฒนา ท่าเรือน้ำลึกที่ทวาย ในส่วนนี้เราก็ได้พูดคุยกัน ซึ่งเบื้องต้นประเทศไทยกับพม่า ได้เห็นพ้องต้องกันแล้ว ในรูปแบบของการพัฒนาร่วมกัน เรามองเป็น 2 ระดับคือระดับความมือระหว่างรัฐต่อรัฐ คือไทยกับพม่า ในเชิงของนโยบาย เชิงของความร่วมมือที่จะพัฒนาร่วมกัน ส่วนที่ 2 คือ ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับเอกชน ซึ่งในส่วนนี้ทางเมียนมาร์ได้มีการให้สิทธิพิเศษ และได้กำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษมาให้ อันนี้ก็จะเป็นจุดที่น่าสนใจ สำหรับนักลงทุน เราเองในความร่วมมือของรัฐต่อรัฐ เราก็ช่วยทางพม่าในการที่จะให้คำปรึกษาในหลายๆ เรื่องเพื่อให้การพัฒนา การลงทุนนี้เกิดขึ้นกับภาคเอกชนทั้ง 2 ประเทศ ในส่วนนี้การพูดคุยล่าสุด เราได้มีการเห็นพ้องต้องกันว่าฝ่ายไทยกับพม่าได้ร่วมกันในการลงนามเพื่อที่จะเชิญชวนประเทศญี่ปุ่นเข้ามาเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาระหว่างรัฐต่อรัฐ ในส่วนของเศรษฐกิจพิเศษที่ทวาย นอกจากนั้น ได้หารือว่าเราจะร่วมกันอย่างไรให้เกิดอุตสาหกรรมนี้เร็วขึ้น คือการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจะมีการพูดคุยกันต่อไป ซึ่งครั้งหน้าจะมีการประชุมในเดือนพฤษภาคม
เมื่อถามว่า สิ่งที่หลายคนเฝ้ารอว่าท่าเรือที่ทวายจะเป็นอย่างไร และได้มีการติดตามความคืบหน้าแล้ว ความจริงเป็นการย้ำจุดยืนของทั้งไทยและพม่าว่า จะเดินหน้าโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะจะมีการดึงจากต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เอกชนต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการนี้เห็นว่ามีการเสนอร่างข้อตกลงผู้ถือหุ้น สำหรับการจัดตั้ง SPV (SPV Shareholder Agreement) ของโครงการทวายด้วย ถือว่าพอมีแบบนี้ขึ้นก็จะเป็นองค์กรในการขับเคลื่อนให้โครงการทวายเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่เพียงเท่านั้น ทางเมียนมาร์มีการขอเรื่องของการเปิดด่านเพิ่มเติมด้วยนายกรัฐมนตรี กล่าวตอบว่า มีหลายด่าน และทางเมียนมาร์เขาก็มองว่าเป็นด่านที่สำคัญที่อยากเห็นการเชื่อมโยงนี้ เราก็เห็นชอบในการพัฒนาด่าน 3 แห่งด้วยกัน คือ ด่านเจดีย์สามองค์-พญาตองซู ด่านบ้านน้ำพุร้อน-ทิกิ และด่านสิงขร-มอต่อง
เมื่อถามถึงการพัฒนาด่านเพิ่มเติมกับพม่า จะเป็นประโยชน์อะไรกับประชาชนของทั้ง 2 ประเทศบ้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า สิ่งที่เราเห็น คือ 1. การเชื่อมโยงเนื่องจากตามชายแดน เราจะเห็นว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่ติดกับชายแดนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นอัตราที่สูงขึ้น ถ้าเรามีการพัฒนาที่ดีที่ถูกตรงนี้ก็จะทำให้ได้ประโยชน์ทั้งประชาชนที่อยู่พื้นที่นั้น รวมถึงนักลงทุนที่จะมาลงทุนด้วย และได้ใช้ประโยชน์กันทั้ง 2 ประเทศ การพัฒนาด่านนี้จะมีการขยายไปเรื่อยๆ ซึ่งในส่วนของภาครัฐ เนื่องจากเป็นจุดหนึ่งของการที่จะเชื่อมโยง connectivity และเป็นการเปิดตลาดใหม่ให้กับประเทศด้วย ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งเรียกว่าการเชื่อมโยงจากประชากรของประเทศไทยไปสู่ 600 ล้านคน
เมื่อถามต่อว่า การเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งเป็นอย่างแรก แต่ก็ไม่ได้ละเลยเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาทรัพยากรบุคคล รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนด้วยหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรามองจากกลุ่มย่อยลงไปประเทศต่อประเทศแล้ว เราจะเริ่มมองจังหวัดต่อจังหวัดด้วย เราจะเชื่อมบ้านพี่เมืองน้องแต่ละที่ เพื่อให้เชื่อมเรื่องของการท่องเที่ยว เรื่องอุตสาหกรรมการลงทุน ซึ่งคงจะเป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่ประชุมอาเซียนได้พูดถึงน่าจะเป็นประโยชน์ที่ดี เราจะมีโอกาสได้ทำงานลงไปได้มากขึ้น นั่นคือโอกาสที่จะทำให้พี่น้องประชาชนได้มีการพัฒนาและสร้างรายได้ต่างๆ ที่เป็นโอกาสใหม่ของเราต่อไป