“นายกฯ ยิ่งลักษณ์” ส่ง “สุรพงษ์” จัดรายการแทน แจงนายกฯ ญี่ปุ่นเยือนไทยกระชับสัมพันธ์ สนใจวางระบบบริการจัดการน้ำ เปิดโรงเรียนอาชีวะไทย-ญี่ปุ่น ผลิตนักเรียนป้อนโรงงานญี่ปุ่นในไทย ส่วนคดีปราสาทพระวิหารไทยพร้อมสู้เต็มที่ นัดถกทีมทนายก่อนนำเข้า ครม.ขออนุมัติแนวทางต่อสู้ จากนั้นบินแจงคณะผู้พิพากษาเมษายนนี้ คาดตุลาคมมีคำพิพากษา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน วันนี้ (19 ม.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี งดจัดรายการ โดยส่งนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่าวประเทศ จัดรายการแทน
นายสุรพงษ์กล่าวถึงการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่นว่านับเป็นการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในรอบ 11 ปี ในการหารือระหว่างนายกฯ ประเทศไทยและญี่ปุ่น จะใช้เวทีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เพื่อร่วมกันพัฒนาทั้งในเรื่องสาธารณูปโภค รถไฟความเร็วสูง เทคโนโลยีดาวเทียมและอื่นๆ
“การเดินทางเยือนประเทศไทยของนายกฯญี่ปุ่นครั้งนี้เป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเมื่อพิจารณาถึงมูลค่าการลงทุนปรากฏว่า ช่วงเดือน พ.ค.-พ.ย. 55 ประเทศญี่ปุ่นมีตัวเลขการลงทุนในไทยกว่า 3.5 แสนล้านบาท และประชาชนญี่ปุ่นเองเดินทางมาประเทศไทยจำนวนมาก”
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นได้แสดงความต้องการที่จะร่วมวางระบบจัดการน้ำในประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางการลงทุน เนื่องจากที่ผ่านมาไทยได้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมไปแล้ว ประเทศอินโดนีเซียมีภัยธรรมชาติเรื่องน้ำท่วม ประเทศญี่ปุ่นเองก็มีแผ่นดินไหว ประกอบกับไทยประกาศที่จะเป็นศูนย์กลางอาเซี่ยน ทั้งสองประเทศจึงมีแนวคิดที่จะประสานความร่วมมือกันทั้งในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้วย
“อนาคตอาจเปิดโรงเรียนอาชีวะไทย-ญี่ปุ่น เพื่อรองรับนักศึกษาที่เข้าประกอบอาชีพในโรงงานต่างๆ ของญี่ปุ่นที่ตั้งในไทยได้ทันที จึงชัดเจนว่าญี่ปุ่นและไทยได้ประกาศเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจร่วมกัน ทั้งนี้ตั้งเป้าว่า ในปี 2560 จะมีตัวเลขการค้าการลงทุนร่วมกันกว่า 1 แสนล้านเหรียญ”
นายสุรพงษ์กล่าวด้วยว่า ญี่ปุ่นสนใจที่จะเข้าร่วมด้านการทหาร คือ การฝึกคอบร้าโกลด์ ที่ไทยกับสหรัฐและจีน ร่วมฝึกอยู่ก่อนแล้วเพื่อความมั่นคง และเพื่อใช้ในการช่วยเหลือเมื่อประเทศประสบภัยพิบัติ ขณะเดียวกันมีการหารือและให้ความสนใจเรื่องความมั่นคงทางทะเล โดยเฉพาะบริเวณทะเลจีนใต้ที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้น ไทยในฐานะผู้ประสานก็ได้อธิบายให้ตกลงโดยสันติ รวมทั้งให้ความสำคัญเรื่องการสร้างท่าเรือน้ำลึกทวายอีกด้วย”
นายสุรพงษ์กล่าวว่า การต่อสู้คดีกรณีรัฐบาลกัมพูชายื่นคำร้องขอตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 ว่าคงจะตัดสินได้ราวเดือน ต.ค.ปีนี้ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศมีความพร้อมที่จะต่อสู้คดีแล้ว พร้อมวอนอย่านำไปเป็นประเด็นเคลื่อนไหวทางการเมืองจนทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน
“วันที่ 15 เมษายนยังไม่ใช่วันตัดสิน คือ วันที่ 15-19 เมษายน จะให้คู่ความทั้งไทยและกัมพูชาได้ชี้แจงกับคณะผู้พิพากษา จากนั้นจะก็จะพิจารณา และประมาณกลางเดือนตุลาคม ช่วงปลายปีก็จะมีคำตัดสิน”
นายสุรพงษ์กล่าวว่า การเตรียมการเริ่มตั้งแต่ต้น พอเรื่องนี้เข้าสู่ศาล ทีมทนายที่ตั้งขึ้นมาก็ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วซึ่งได้ว่าจ้างทีมทนายขึ้นมา โดยเป็นชาวต่างชาติซึ่งในโลกนี้มีอยู่ 50 คนที่เก่งทางด้านนี้ ไทยก็จ้าง 3 คน กัมพูชาก็จ้าง 3 คน ส่วนหัวหน้าทีมทนายของไทยมีนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก เป็นหัวหน้าทีมทนาย แต่ทางกัมพูชามีนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศกัมพูชา เป็นหัวหน้าทีมทนาย เป็นมาแบบนี้ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วเรื่อยมา
“รัฐบาลผมเข้ามารับ ก็ต้องใช้คณะเดิม เพราะเขาได้ศึกษาเตรียมข้อมูลต่างๆ มาตลอด รู้เรื่องดีทั้งหมดก็ไม่มีการเปลี่ยน ปีที่แล้วมีการนำเสนอเป็นเขียนจดหมายไปส่ง และศาลก็รับไป ก่อนไปทุกครั้งก็จะต้องมีการประชุมทีมกฎหมาย คณะทำงาน และไปอธิบายให้ท่านนายกฯ ฟัง ให้ทีมกฎหมายของท่านนายกฯ ได้รับทราบด้วย และมีข้อเสนอแนะอะไรไป ทีมกฎหมายของเราที่เป็นฝรั่งก็จะทำสิ่งเหล่านั้น”
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ทุกฝ่ายจะให้ข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมดกับทีมทนายความเพื่อไปดูรูปคดีที่จำเป็นต้องสู้ ครั้งนี้ก็เช่นกันได้มีการประชุม 2-3 ครั้งแล้วเพื่อที่จะวางท่าทีให้กับทีมทนายที่จะไปสู้คดีในวันที่ 15-19 เมษายน โดยในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ หัวหน้าทีมทนายก็จะมาอธิบายให้นายกรัฐมนตรี, พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม, กระทรวงการต่างประเทศ และเลขาธิการกฤษฎีกา ฟังอีกรอบหนึ่ง และจากนั้นวันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งเป็นนักกฎหมายจะพาทีมกลับไปคุยกับทีมฝรั่งอีกรอบหนึ่ง จากนั้นทีมฝรั่งก็จะได้ข้อสรุปท่าทีที่ชัดเจนว่าจะเสนออะไรก็นำกลับเข้ามาที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปลายเดือนมีนาคม หรือต้นเมษายน เพื่อขออนุมัติแนวทางที่จะนำไปสู้ในชั้นศาล จากนั้นอนุมัติเสร็จ เขาก็เตรียมการที่จะต่อสู้คดีในเดือนเมษายน
“วันที่ 15 (เม.ย.) ผมก็จะนำคณะไป คราวนี้ก็จะพาสื่อมวลชนไปด้วย เพราะว่าจะได้เสนอข่าวในทิศทางเดียวกัน หรือจะได้เข้าใจตรงกัน เราได้เตรียมไว้หมดแล้ว และบางเรื่องก็ไม่สามารถพูดได้เพราะอย่างผมออกรายการวันนี้ทางกัมพูชาเขาก็เห็น ถ้าผมไปเล่ามากเขาก็จะเห็นแนวทางการต่อสู้ของเรา ต้องเล่าแค่นี้”
นายสุรพงษ์กล่าวว่า สำหรับชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ จะมีสารคดีออกมา มีการชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจโดยผ่านกระบวนการไปยัง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ลงไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้านไปถึงหมู่บ้าน และยังมีเอกสารประกอบไปให้ทุกคนเข้าใจ นอกจากนั้นจะมีการฉายเรื่องความเป็นมา ทุกอย่างเล่าชัดเจนเพราะวันนี้เราต้องเข้าใจตรงใจ และในที่สุดเกิดผลออกมาอย่างไรเราก็ต้องนำเสนอว่า ถ้าผลออกมาเราจะปฏิบัติแบบนี้ เราไม่ปฏิบัติจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ถ้าเราปฏิบัติจะเป็นอย่างไรก็ต้องให้คนไทยเข้าใจตรงกัน
“ผมไม่อยากเห็นว่าตอนนี้มีบางกลุ่มออกมาใช้เป็นประเด็นทางการเมือง เรียกร้องปลุกระดมให้เกิดความคลั่งชาติหรือรักชาติจนมากเกินไปแบบคราวที่แล้ว ในที่สุดก็ต้องรบกัน และคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณแนวชายแดนนั้นเขาก็ได้รับความเดือดร้อน เพราะคนที่ไปเรียกร้องก็ไม่ได้อยู่บริเวณนั้น พอเรียกร้องเสร็จก็กลับไปนอนบ้านตัวเอง ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้มันหมดยุคแล้ว ผมคิดว่าวันนี้สื่อต่างๆ เข้าใจและเชื่อว่าการที่สื่อให้ความสนใจมาตั้งแต่ต้นปีก็เป็นสิ่งที่ดีสังคมไทยต้องอยู่ได้ด้วยเหตุด้วยผล และเรากับกัมพูชายังไงเราก็ต้องอยู่กับเขาต่อไป โอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหว หรือแยกดินแดนไทยกับกัมพูชาคงไม่เกิดขึ้น”