xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ผุดไอเดีย “บัญชีขาว” คุ้มครองนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีสาธารณะ “นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน...ชีวิตที่ต้องได้รับการคุ้มครอง” กรรมการสิทธิฯ เตรียมทำบัญชีขาวนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน คุ้มครองดูแลได้รับการช่วยเหลือไม่ให้ตายเหมือนอย่างที่ผ่านมา

วันนี้ (25 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดเวทีสาธารณะ ในหัวข้อเรื่อง “นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน...ชีวิตที่ต้องได้รับการคุ้มครอง” การอภิปราย โดยมีผู้ร่วมอภิปราย นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักด์ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลและวิเคราะห์คดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย และนายภูวดล วีรเวชพิสัย ผู้อำนวยการกลุ่มงานสนับสนุนกิจการต่างประเทศ สำนักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

โดย นายไพโรจน์ กล่าวว่า หนังสือ 21 นักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนที่ กสม.เสนอ เราเห็นว่า นักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนโดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ได้รักษาสิทธิชุมชนเป็นสำคัญ นั่นคือ หลังจากที่มีรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มีการหยิบยกเรื่องสิทธิชุมชนมาใช้ในการดูแลรักษาทรัพยากร หรือคนในชุมชนด้วยกัน เป็นการดูแลทรัพยากรของคนทั้งประเทศ มิใช่เฉพาะบุคคล หรือกลุ่มคนแต่เพียงฝ่ายเดียว ความแตกต่างที่เห็นชัด คือ การทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของคนอื่นๆ ทั้งนี้สถิติ ณ ปัจจุบัน ในส่วนของการเสียชีวิตของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เรามีทั้งหมด 35 คน รูปแบบที่นำมาใช้คุกคามคนกลุ่มนี้มี 4 ลักษณะใหญ่ คือ 1 การฆ่า หรือทำลายทิ้ง ซึ่งจะมีองค์ประกอบทั้งที่มาจากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือหน่วยงานบางส่วนที่ได้รับประโยชน์จากการทำสัมปทาน ความร่วมมือ หรือโครงสร้างในการร่วมมือกัน 2.การข่มขู่ คุกคาม ใช้เครื่องมือทางกฎหมาย 3.การทำลายชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ หรือการเป็นจำเลยของสังคมโดยข้อกล่างอ้างต่างๆ (อาทิ ขัดขวางการพัฒนา) 4.การพยายามขัดขวางการทำงานในทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้

นายไพโรจน์ กล่าวอีกด้วยว่า กรณีตัวอย่างทั้ง 35 กรณี เป็นส่วนที่เกิดจากความขัดแย้งกับกลุ่มผลประโยชน์ ข้อเสนอที่ผ่านมา ตนถึงเคยมีข้อเสนอให้กระทรวงยุติธรรมในเรื่องของการคุ้มครองและปกป้องสิทธิฯกลุ่มบุคคลที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยการการทำบัญชีขาว (White List) มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ และให้หน่วยงาน (เจ้าหน้าที่ของรัฐ) ทำหน้าที่คุ้มครองโดยเฉพาะ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการตอบสนอง หรือดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว ทั้งๆ ที่สามารถดำเนินการได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย ถึงแม้ไม่ได้รับการตอบสนองทางกรรมกมรสิทธิฯเองก็ควรรวบรวมบุคคลที่ตกอยู่ในภาวะดังกล่าว หมั่นตรวจสอบ ติดตาม รวมถึงต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาที่เป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้งอย่างจริงจัง อีกทั้งต้องมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว โดยให้หน่วยงานทีเกี่ยวข้องทำหน้าที่ดูแล และต้องพยายามประสานความร่วมมือกับกลุ่ม หรือนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และต้องดำเนินการตรวจสอบ จับ ผู้กระทำความผิด ไม่ปล่อยให้คนผิดลอยนวล

“การดำเนินการที่ผ่านมามีคดีความไม่กี่กรณีเท่านั้นที่มีความคืบหน้า หรือในบางส่วนก็ต้องอาศัยการสร้างความกดดันจากภายนอก หลายกรณีเหมือนมวยล้มต้มคนดู คือ มีการดำเนินการเสมือนจะจริงจัง แต่หลังจากนั้นก็เป็นการขาดประสิทธิภาพ หรือไม่มีความเข้มแข็งมากพอที่จะปรามพฤติกรรมดังกล่าว ดังนั้นหลักสิทธิมนุษยชนที่สำคัญของกลุ่มนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน คือ การทำงานของกลไกรัฐอย่างเข้มแข็ง และการทำบัญชีขาว” นายไพโรจน์ กล่าว

นายอังศุเกติ์ กล่าวว่า ในส่วนของ DSI ต่อไปจะมีกลไกสำคัญ คือ การใช้กฎหมายการคุ้มครองพยานอย่างเต็มศักยภาพโดยจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังให้ครอบคลุม หรือดูแลผู้ที่เป็นพยาน ซึ่งแน่นอนว่า หากมีการผลักดัน หรือประสานงานอย่างเป็นระบบทั้งจาก กสม.หรือภาคประชาสังคมก็ยิ่งทำให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นข้อสังเกตที่พบ คือ นักต่อสู้โดยส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตเป็นเรื่องของการปกป้องทรัพยากรเป็นสำคัญ ทำให้เกิดข้อสังเกตว่าจะมีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรในส่วนที่เกี่ยวข้อง หากมีกรณีพิพาท หรือข้อขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในพื้นที่กับกลุ่มภายนอกที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชนทำงานเกี่ยวข้องในพื้นที่ แต่หน่วยงานรัฐก็ต้องดูแล และช่วยเหลือ หรือสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว

อย่างไรตามในช่วงท้ายของงาน นพ.แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการสื่อสารสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวว่า โดยสถานการณ์ปัจจุบันนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนถือเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนกลไกการคุ้มครอง ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เอกสารที่ทาง กสม.ประมวลมีกลุ่มนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนที่เสียสละจำนวนมาก ในประเทศไทยนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในระดับตั้งแต่ผู้นำชุมชนจนถึงองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ยังคงประสบกับอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่หลายประการนับตั้งแต่ความไม่เข้าใจและการไม่ยอมรับบทบาทจากหน่วยงานภาครัฐและสาธารณชนบางกลุ่ม การถูกกีดกันในการปฏิบัติงาน บางครั้งมีการดำเนินการเพื่อลดความน่าเชื่อถือในการทำงานของบุคคลเหล่านี้ มีการข่มขู่ และบางกรณีมีเหตุรุนแรงถึงถูกสังหารอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่

นพ.แท้จริง กล่าวด้วยว่า โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้มีผู้ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนต้องสูญเสียชีวิตจากการถูกสังหารไปเป็นจำนวนมากถึง 35 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ และสาธารณชนก็มิได้ถือเป็นกรณีสำคัญกว่าคดีฆาตกรรมทั่วไป แสดงให้เห็นว่าแม้สมัชชาใหญ่สหประชาชาติจะได้รับรองปฏิญญาว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนหรือนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนมาเป็นเวลานานเกือบ 15 ปีแล้ว แต่กลไกในการคุ้มครองบุคคลเหล่านั้นยังไม่มีความเข้มแข็งอย่างที่ควรจะเป็น ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะอนุกรรมการสื่อสารสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทภารกิจในการส่งเสริมให้ประชาชนได้รับความรู้ความเข้าในเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างสรรค์ให้สังคมเกิดวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนให้เป็นวิถีชีวิต และยึดหลักการเคารพศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ จึงได้จัดทำโครงการจัดเวทีสาธารณะในครั้งนี้ เพื่อนำไปสังเคราะห์เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการขับเคลื่อนให้เกิดกลไกการคุ้มครองผู้พิทักษ์สิทธิผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป การคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนต้องเป็นจริง แม้ว่าระยุเวลาในการทำงานในฐานะกรรมการสิทธิฯจะเหลืออีก 2 ปี ตนก็จะทำให้เกิดขึ้น โดยจะเริ่มจากการทำบัญชีรายชื่อนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนหรือตามที่ที่ประชุมเสนอให้มีบัญชีขาว (white list) ให้เกิดขึ้นจากกรรมการสิทธิฯภายใน 1 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น