xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” เสนอตัวจัดประชุมอาเซียน-จีน ถก “เต็ง เส่ง” ติดตามทวายโปรเจกต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
นายกรัฐมนตรีเผยอาเซียนต้องอยู่ร่วมกันทางการเมือง ร่วมกับประเทศมหาอำนาจ และต้องยกระดับตนเองให้ความสำคัญ 3 เสาหลัก “เศรษฐกิจ-การเมือง-สังคม” เสนอตัวเจ้าภาพจัดประชุมอาเซียน-จีน อีกด้านถก “เต็ง เส่ง” ติดตามเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย พร้อมขอให้ช่วยพิสูจน์ข้อมูลกลุ่มโรฮิงญาและผู้อพยพชาวพม่าในไทย

วันนี้ (25 เม.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 22 ร่วมกับผู้นำอาเซียนที่ประเทศบรูไน เพื่อติดตามความคืบหน้าในการสร้างประชาคมอาเซียน บทบาทของอาเซียนในภูมิภาค วางแผนอนาคตของอาเซียน ทั้งนี้ นายกฯ ได้กล่าวถึงการดำเนินการของประเทศสมาชิกในการสร้างประชาคมอาเซียน และความสำคัญในการวางแผนอนาคตต่อจากปี 2558 ที่เป็นประชาคมอาเซียนว่าด้วยศักยภาพที่หลากหลายของอาเซียน ทำให้ประเทศมหาอำนาจต่างให้ความสนใจอาเซียนเป็นพิเศษ ดังนั้น อาเซียนต้องบริหารจัดการกับภูมิศาสตร์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป รวมทั้งสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้อาเซียนสามารถปรับตัวและดำรงอยู่ได้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

นายกฯ กล่าวอีกว่า อาเซียนต้องเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันทางการเมือง มองไปข้างหน้า และร่วมกับประเทศมหาอำนาจในกรอบการดำเนินการต่างๆ ที่อาเซียนเป็นผู้นำ ซึ่งปฏิบัติการนี้จะช่วยให้อาเซียนคงไว้ซึ่งความเป็นภูมิภาคที่มั่นคงและสันติ เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และคงไว้ซึ่งการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายระยะยาวของประชาคมเอเชียตะวันออก รวมทั้งการคงไว้ให้อาเซียนเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญเพื่อวางผังอนาคตของภูมิภาค ขณะเดียวกัน อาเซียนต้องยกระดับตนเองโดยมีบทบาทสำคัญในประเด็นระหว่างประเทศในเวทีสำคัญ และกำหนดประเด็นที่อยู่ในความสนใจของโลก ที่อาเซียนสามารถมีส่วนร่วม เช่น เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการภัยพิบัติและการรักษาสันติภาพ

นอกจากนี้ ในที่ประชุมนายกรัฐมนตรีแสดงความคิดเห็นโดยได้ให้ความสำคัญต่อความก้าวหน้าในการดำเนินการของเสาหลักของอาเซียนที่อาเซียนจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ว่า 1. เสาหลักเศรษฐกิจ อาเซียนต้องให้ความสำคัญกับการรวมตัวทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกให้กว้างขึ้น และขับเคลื่อน “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียน” (Regional Comprehensive Economic Partnership) ให้ดำเนินต่อไป 2. เสาหลักการเมืองและความมั่นคง ต้องส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค เพื่อรักษาบรรยากาศให้เอื้อต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจต่อไป โดยประเทศสมาชิกต้องส่งเสริมความร่วมมือระหว่างชายแดนเพื่อความมั่งคั่งระหว่างประเทศสมาชิก นอกจากนี้ สมาชิกอาเซียนควรสนใจความท้าทายใหม่อันเกิดจากการข้ามพรมแดนหลังการรวมตัวเป็นประชาคม เพราะสิ่งเหล่านี้จะกระทบต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของประชาชนในประเทศสมาชิก

ทั้งนี้ เราควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมธรรมาภิบาลและความโปร่งใส และผลักดันให้มีการนำปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ไปปฏิบัติให้เกิดผล ซึ่งจะช่วยให้เกิดกระบวนการที่จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และนำไปสู่การป้องกันเสาหลักสังคมและวัฒนธรรม พร้อมกับยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ทั้งนี้ อาเซียนต้องขยายความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม และส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเพื่อทำให้เกิดความเป็นอัตลักษณ์ และสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นระหว่างประชาชนของอาเซียน

นายกฯ กล่าวอีกว่า เรื่องของประเด็นความเชื่อมโยง (Connectivity) นั้น ควรดำเนินต่อไป ทั้งในด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ที่จะช่วยให้การบูรณาการทางเศรษฐกิจและการลดช่องว่างของระดับการพัฒนา และที่ความสำคัญคือระดมทรัพยากรเพื่อระดมเงินทุนสำหรับโครงการความเชื่อมโยงและการคิดค้นนวัตกรรมทางการเงินผ่านความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชนและร่วมมือกับหุ่นส่วนภายนอก

ขณะเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เสนอต่อที่ประชุมผู้นำอาเซียนกรณีปัญหาทะเลจีนใต้ว่า ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-จีน ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเด็นดังกล่าว และในปีที่อาเซียนและจีน ฉลองครบรอบ 10 ปีแห่งความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ อาเซียนควรยกระดับความเป็นหุ้นส่วนนี้ให้สูงขึ้น โดยไม่ปล่อยให้ประเด็นทะเลจีนใต้บดบังความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ที่สำคัญต่อสันติภาพและความรุ่งเรืองของภูมิภาค ทั้งนี้ การแก้ปัญหาดังกล่าวต้องควบคู่ไปกับการเดินหน้าความเป็นหุ้นส่วนกับจีน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย อาเซียนต้องมีเอกภาพ และผูกประสานกันและสร้างสรรค์ โดยต้องมีความตั้งใจทางการเมืองทั้งอาเซียนและจีน

นายกฯ กล่าวต่อว่า อาเซียนจะต้องส่งสารที่ชัดเจนไปยังจีนเพื่อให้จีนทำงานร่วมกันในแนวทางเดียวกัน และแจ้งให้จีนรับทราบว่า แนวทางที่ดีที่สุดที่จะฉลองความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ครบรอบ 10 ปี คือการแสดงพัฒนาการสู่ข้อสรุปของ COC หรือแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งหน้าในเดือนตุลาคมจะมีการแสดงความตั้งใจทางการเมืองและแก้ปัญหาเพื่อทำงานร่วมกัน โดยความมุ่งมั่นทางการเมืองต้องชี้ชัดในแถลงการณ์ที่จะหยิบยกในที่ประชุมฯ และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากทุกส่วนสามารถตกลงที่ร่วมมุ่งมั่นจะยับยั้งและหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆที่ทำให้สถานการณ์ซับซ้อนยิ่งขึ้น

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า อาเซียนต้องทำงานร่วมกันเพื่อขยายพื้นฐานร่วมกันระหว่างอาเซียนและจีน โดยคาดว่าจะมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษที่กรุงปักกิ่งในเดือนสิงหาคมหรือกันยายนนี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญของสองฝ่ายในการวางแผนการดำเนินงานสำหรับผลของการประชุมผู้นำฯ ในเดือนตุลาคม ทั้งนี้ ไทยยินดีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการในปลายเดือนกรกฎาคม หรือสิงหาคม หากประเทศสมาชิกเห็นว่าจะเป็นประโยชน์

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า ข้อเสนอการกำหนดทิศทางของอาเซียนในอนาคต (ASEAN’s Future Direction) หลังปี 2558 นั้น ขอให้แปลงความหลากหลายให้เป็นโอกาส มีความรับผิดชอบต่อภูมิภาคและโลกมากขึ้น เสริมสร้างศักยภาพของอาเซียนเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้น และทบทวนและสร้างความเข้มแข็งให้กับกระบวนการรวมตัวกัน โดยทบทวนบทบาทของอาเซียนแต่ละภาคส่วน รวมทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเพื่อกำหนดกระบวนการดำเนินงานและการเพิ่มประสิทธิภาพ

ต่อมาเวลา 14.00 น. นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการหารือทวิภาคี ระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับนายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีแห่งสหพม่า ว่านายกฯ ได้แสดงความยินดีต่อพัฒนาการการปฏิรูปภายในพม่าอย่างต่อเนื่อง โดยย้ำว่าไทยพร้อมให้การสนับสนุนในทุกๆ ด้าน และในปีนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ทั้ง 2 ประเทศจะได้ฉลองครบรอบ 65 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต และยินดีต้อนรับประธานาธิบดีพม่าที่จะเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) สมัยที่ 69 ที่ กทม. ในวันที่ 29 เม.ย.นี้ และการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ จ. เชียงใหม่ ในเดือน พ.ค.นี้

นายภักดีหาญส์กล่าวด้วยว่า โอกาสนี้ผู้นำทั้งสองยังได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับความก้าวหน้าโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ภายหลังการก่อตั้งคณะกรรมการร่วมได้มีการดำเนินการก่อสร้างมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ไทยได้จัดทำข้อตกลงผู้ถือหุ้นสำหรับการจดทะเบียนจัดตั้ง SPV (SPV Shareholder Agreement) และสัญญาสัมปทานแล้ว และเสนอให้ทางพม่าได้พิจารณาต่อไป โดยจะร่วมกันประชุมเพื่อทบทวนรูปแบบการเงินของโครงการในเดือน พ.ค.นี้ที่ กทม. พร้อมกันนี้ไทยได้เชิญประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการในด้านต่างๆ ร่วมกับไทยและเมียนมาร์ นอกจากนี้ผู้นำทั้งสองยังได้หารือในประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เช่น การประชุมคณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างไทย-พม่า การอำนวยความสะดวกให้ประชาชนย้ายออกจากพื้นที่โครงการการระดมทุน การพัฒนาเขตอุตสาหกรรมตามแนวชายแดน ข้อสรุปรูปแบบการเงินและการสนับสนุนการใช้เงินบาทเป็นสกุลเงินที่สามารถแลกเปลี่ยนได้อย่างเป็นทางการในเมียนมาร์ เพื่อส่งเสริมการลงทุนของต่างประเทศ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจทวาย

นายภักดีหาญส์กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีพม่ายังได้หารือในประเด็นชาวโรฮิงญา และกลุ่มผู้พลัดถิ่นชาวพม่า โดยไทยขอความร่วมมือทางการพม่าดำเนินการพิสูจน์ข้อมูลสถานภาพเพื่อแสวงหาทางออกที่เหมาะสมให้กับบุคคลทั้งสองกลุ่มนี้ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีต่อข้อริเริ่มของพม่าในการจะเปิดจุดผ่านแดนใหม่ 3 แห่ง ได้แก่ 1. ด่านเจดีย์สามองค์-พญาตองซู 2. ด่านบ้านน้ำพุร้อน-ทิกิ 3. ด่านสิงขร-มอต่อง ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการกระชับและเพิ่มพูนความสัมพันธ์ในระดับประชาชนและการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น