ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผู้ว่าฯ จี้หน่วยงานรัฐกำกับดูแลโครงการรับจำนำมัน-ข้าวอย่าให้เกิดปัญหา มุ่งประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก กรณีเกษตรกร อ.โนนไทย 11 ราย ส่อทุจริตข้าวเปลือกนาปี 54 ได้ข้อยุติ ให้คืนข้าวแก่เกษตรกรเพื่อตัดปัญหา
เมื่อเวลา 13.00 น.วันนี้ (20 ก.พ.) ที่ห้องประชุมธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกระดับจังหวัด เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการฤดูกาลผลิต 2555/2556
นายวินัยกล่าวว่า จนถึงขณะนี้ จ.นครราชสีมามีข้าวเปลือกเข้าสู่ระบบรับจำนำกว่า 330,000 ตัน เป็นเงินประมาณ 5,699 ล้านบาท สำหรับข้าวนาปีคงเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และระยะต่อไปจะเป็นข้าวนาปรัง คาดว่าจะมีประมาณ 1.7 แสนตัน ส่วนการเปิดจุดรับจำนำทั้ง 33 จุด ได้ยื่นขอปิดจุดไปหมดแล้ว เนื่องจากปริมาณข้าวน้อยลง แต่มีมาขอเปิดเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ 1 จุดเท่านั้น และมีเกษตรกรบางส่วนที่นำข้าวไปจำนำในเขตจ. ขอนแก่น และจ.บุรีรัมย์ ซึ่งต้องขออนุญาต จึงจะนำข้าวออกไปจำนำนอกเขตได้
"เรื่องนี้อยากฝากไปยังพี่น้องเกษตรกรให้ทราบทั่วกันว่า เรามีระเบียบในการดำเนินการอยู่ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรทั้งสิ้น"
นายวินัยกล่าวว่า ส่วนความคืบหน้ากรณีเกษตรกร 11 รายใน อ.โนนไทย นำข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2554 มาจำนำล่าช้า จนทำให้เกิดความผิดปกติว่าส่อจะทุจริตนั้น จากการสืบสวนสอบสวนของตำรวจภูธรจังหวัดเบื้องต้นได้ข้อมูลว่า การรับจำนำข้าวของเกษตรกรทั้ง 11 รายไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ในเรื่องการสวมสิทธิ์ หรือผิดจากระบบปกติ แต่เนื่องจากช่วงแรกได้รับรายงานจากพาณิชย์จังหวัดมีข้อสังเกต จึงให้ตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างพาณิชย์จังหวัด และตำรวจสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติม และนำผลสรุปนี้เข้าสู่คณะอนุกรรมการเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือก
"ทราบว่าเกษตรกรทั้ง 11 รายได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากยังไม่ได้รับเงิน เพราะไม่สามารถนำข้าวไปขายได้ ตอนนี้ได้มาขอถอนข้าวออกไป โดยไม่เข้าสู่ระบบการรับจำนำ และจะนำข้าวเปลือกไปขายเอง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ เรื่องดังกล่าวจึงถือว่าสิ้นสุดแล้ว"
นายวินัยกล่าวว่า สำหรับการแทรกแซงราคามันสำปะหลังฤดูกาลผลิต 2555/56 ขณะนี้ผลผลิตออกมาในปริมาณมาก จุดรับจำนำที่เปิดไปแล้วมี 18 จุด แต่ละจุดจะมีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่นเข้าไปกำกับดูแล เพื่อให้เกษตรกรได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าเรื่องของสิ่งเจือปนหรืออื่นๆ ซึ่งตนเองได้ประชุมผู้ประกอบการโรงมันสำปะหลัง ขอความร่วมมือให้เป็นไปตามกฎระเบียบของการแทรกแซง และได้ประชุมกับคณะเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบให้ลงไปดูแลเรื่องนี้
"ขอเรียนไปยังพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและมันสำปะหลังว่า ทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ในการที่จะช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชน ดังนั้นการดำเนินการต้องเป็นไปตามกฎระเบียบ และประโยชน์สูงสุดตกกับพี่น้องเกษตรกร จังหวัดเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ถ้ามีปัญหาก็ขอให้เสนอมาที่คณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาแก้ไขต่อไป"