xs
xsm
sm
md
lg

“ธรรมยาตรา”จี้รัฐบาล ฟ้องฝรั่งเศลรุกรานไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศรีสะเกษ - จนท.ยอมให้ “กลุ่มธรรมยาตราฯ” ขึ้นไปอ่านแถลงการณ์บน "ผามออีแดง" อุทยานฯเขาพระวิหาร ได้แล้ว เผยเรียกร้องให้รัฐบาลฟ้องฝรั่งเศสต่อศาลโลก ที่รุกรานประเทศไทยเพื่อนำเอาอนุสัญญาโตเกียว ค.ศ.1941 มาใช้แก้ไขปัญหาเขาพระวิหาร ขณะอุทยานฯเขาพระวิหารประกาศเปิดให้ขึ้นไปเที่ยวได้ตามปกติได้ตั้งแต่พรุ่งนี้ (6 ก.พ.) เป็นต้นไป

วานนี้ (5 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณีกลุ่มธรรมยาตรากอบกู้รักษาผืนแผ่นดินไทย กรณีเขาพระวิหารและมณฑลบูรพา นำโดยนายสมาน ศรีงาม ได้ปักหลักนั่งสมาธิชุมนุมอยู่กลางถนน บริเวณหน้าด่านเก็บค่าธรรมเนียม ทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ หลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไม่ยอมให้ขึ้นไปอ่านแถลงการณ์บริเวณผามออีแดง บนอุทยานฯเขาพระวิหาร พร้อมทั้งนำเอารั้วลวดหนามมากั้นเอาไว้ โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่มารักษาความสงบเรียบร้อยอย่างเข้มงวด

ขณะที่ เมื่อเวลา 13.15 น.วันเดียวกันนี้ นายศักดิ์สิทธิ์ พลทรัพย์ศิริ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าไปพบกับนายสมาน ศรีงาม แกนนำกลุ่มธรรมยาตราฯ ซึ่งได้เจรจาตกลงกันว่า จะอนุญาตให้กลุ่มธรรมยาตราฯ ขึ้นไปอ่านแถลงการณ์บริเวณผามออีแดงได้ แต่ต้องกลับลงมาตามกำหนดเวลาเปิด-ปิดอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ซึ่งนายสมาน ได้ตกลงตามข้อเสนอ จากนั้นได้นำคณะขึ้นไปบริเวณผามออีแดง โดยได้ไปรวมกันที่บริเวณจุดชมวิวผามออีแดง และได้อ่านแถลงการณ์ จำนวน 35 หน้า เรียกร้องให้รัฐบาลนำเอาอนุสัญญาโตเกียว ค.ศ.1941 มาใช้ในการแก้ไขปัญหาเขาพระวิหารโดยมีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งเดินทางติดตามขึ้นไปทำข่าว และมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างเข้มงวด

นายสมาน ศรีงาม แกนนำกลุ่มธรรมยาตราฯ กล่าวว่า การอ่านแถลงการณ์ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการประกาศให้ทราบว่า ฝรั่งเศสมารุกรานประเทศไทย และต่อมาทำให้มีการลงนามในอนุสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ศ.1904 และ ค.ศ.1907 ซึ่งอนุสัญญาฉบับนี้ ถือว่าเป็นโฆษะ เนื่องจากนายปรีดา พนมยงค์ ไม่ได้ขอสัตยาบันจากสภาผู้แทนราษฎรของไทยอย่างถูกต้อง ดังนั้น จึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยฟ้องฝรั่งเศสต่อศาลโลก เพื่อให้อนุสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ศ.1904 และ ค.ศ.1907 เป็นโฆษะ โดยให้ใช้อนุสัญญาโตเกียว ค.ศ.1941 แทนและเรียกร้องเงินค่าปรับจากฝรั่งเศสที่รุกรานไทย เป็นค่าชดเชยค่าเสียหายพร้อมอัตราดอกเบี้ยด้วย

อีกทั้งให้คืนเงินค่าปรับที่ฝรั่งเศสเรียกค่าปรับไปจากไทย จำนวน 32 ล้านฟรังค์ ที่ฝรั่งเศสกล่าวหาว่าไทยยิงเรือรบของฝรั่งเศสพร้อมอัตราดอกเบี้ยด้วย ทั้งนี้ หากรัฐบาลไทยนำเอาอนุสัญญาโตเกียว ค.ศ.1941 มาใช้ในการแก้ไขปัญหาเขาพระวิหาร จะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นอนุสัญญาที่ถูกต้องตามกฎหมาย

นายสมาน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังเสนอรัฐบาลไทยว่า หากไทยและกัมพูชาไม่สามารถแก้ไขปัญหาเขาพระวิหารได้ก็ขอให้รัฐบาลไทยเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา เพื่อที่จะร่วมกันปกครองมณฑลบูรพา ซึ่งรวมทั้งเขาพระวิหารก็อยู่ในเขตนี้ด้วย หรือรวมกัน 3 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา และลาว ร่วมกันจัดตั้งเป็นกลุ่มประเทศสุวรรณภูมิ เพราะทั้ง 3 ประเทศ อยู่ในเขตแหลมสุวรรณภูมิ ซึ่งตนจะได้นำเรื่องนี้เสนอรัฐบาลไทยต่อไป

ด้านนายศักดิ์สิทธิ์ พลทรัพย์ศิริ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ได้อำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มธรรมยาตราฯ ตามที่ได้ตกลงกันไว้ และขณะนี้เหตุการณ์ต่าง ๆ เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จึงจะเปิดอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปเที่ยวชมได้ตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.เป็นต้นไป โดยประชาชนนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นชมผามออีแดงได้ ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.ของทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากที่กลุ่มธรรมยาตราฯ ได้อ่านแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนบริเวณผามออีแดง อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เรียบร้อยแล้ว ได้เดินทางไปปักหลักชุมนุมโดยสงบต่อที่บ้านโศกขามป้อม ต.ภูผาหมอก อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อขับเคลื่อนทวงคืนแผ่นดินไทย กรณีเขาพระวิหาร และ มณฑลบูรพา ต่อไป

**ละคร..บี้เขมรถอนฟ้อง เหวงยื่นปึ้งให้เจ๊ปูเจรจา

ที่รัฐสภา นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกมธ.ฯ พร้อมนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ประธานที่ปรึกษากมธ. ได้ยื่นหนังสือต่อนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ

โดยนพ.เหวงกล่าวว่า หลังจาก กมธ.พิจารณากรณีศาลโลกจะมีการพิจารณาคำร้องของกัมพูชาเกี่ยวกับข้อพิพาทบริเวณพื้นที่ประสาทพระวิหาร ในเดือน เม.ย.นี้ มีความเห็นตรงกันว่า ฝ่ายไทยมีประเด็นได้เปรียบในการต่อสู้คดี ทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย มีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการตีความคำพิพากษาของศาลโลก แต่ไม่ว่าผลการพิจารณาพิพากษาจะออกมาเป็นประโยชน์ต่อประเทศหนึ่งประเทศใดก็ตาม ย่อมเกิดผลกระทบต่อความรู้สึกประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ดังนั้นเพื่อดำรงไว้ซึ่งความรู้สึกและความสัมพันธ์ที่ดีของไทยกับกัมพูชาที่มีมายาวนาน กมธ.จึงอยากให้รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศดำเนินกระบวนการปรึกษาหารือร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ โดยเสนอให้กัมพูชาถอนคำร้องออกจากสารบบของศาลโลก เพราะเราไม่ต้องการใช้นโยบายต่างประเทศที่ก้าวร้าวแบบรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นายสามารถ กล่าวเสริมว่า กมธ.ห่วงใยเรื่องนี้ เพื่อให้มีทางออกเพราะคำวินิจฉัยที่ออกมา จะกระทบต่อความรู้สึกของทั้ง 2 ประเทศ ไม่ว่าฝ่ายใดหรือใครแพ้ชนะ ก็จะมีผลต่อความสัมพันธ์ กมธ.จึงนำเสนอต่อรมว.ต่างประเทศผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทางกัมพูชาถอนเรื่องออกจากศาลโลกและให้พัฒนาร่วมกัน เพื่อทั้ง 2ฝ่ายเกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน

ด้านนายสุรพงษ์ กล่าวภายหลังการรับหนังสือว่า ตนจะนำหนังสือของ กมธ.ไปมอบให้นายกรัฐมนตรีและจะหารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา โดยนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศกัมพูชา เนื่องจากที่ผ่านมาน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้พบกับสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ก็มีการพูดถึงการตั้งคณะกรรมการร่วมกันพัฒนาพื้นที่ชายแดน รวมถึงการเปิดด่านต่างๆ พัฒนาด้านการเกษตร และการประชุมครม.ในวานนี้ (5ก.พ.) นายกรัฐมนตรีได้เล่าให้ฟัง โดยให้ตนเป็นหัวหน้าทีม มีรมว.คมนาคม รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมทีม และจะนัดประชุมกับทีมงานกัมพูชา โดยจะนำเรื่องนี้พูดคุยกัน ซึ่งทางรัฐบาลกัมพูชาก็เห็นควรอยู่แล้ว เพื่อให้ 2 ประเทศอยู่ร่วมกันด้วยความสงบ มีการไป-มา หาสู่สามารถอยู่กันแบบสันติ โดยจะรีบดำเนินการเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่าย เพราะขณะนี้ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายพูดคุยกันตลอดอยากให้ภูมิภาคอาเซียนอยู่กันด้วยความสงบสุข

ผู้สื่อข่าวถามว่า ความเป็นไปได้ที่จะขอให้กัมพูชาถอนเรื่องออกไป นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ทางสมเด็จฮุนเซนอยากให้เรื่องนี้จบที่ศาลตัดสินออกมา และเขาก็พร้อมยอมรับผลการตัดสิน โดยไม่มีข้อกังขา เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่าเป็นไปได้น้อยที่กัมพูชาจะถอนเรื่องก่อน นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เราเองก็ไม่ได้ละความพยายาม และจะสู้คดีอย่างเต็มที่ ซึ่งวันที่ 5-6 เม.ย.นี้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะต่อสู้คดีของฝ่ายไทย จะเดินทางไปหารือกับทีมทนายที่ประเทศอังกฤษ และเราจะดูรายละเอียดครอบคลุมทุกประเด็นที่จะต่อสู้ รวมถึงประเด็นที่ทุกฝ่ายเป็นห่วงว่าเราจะไม่นำมาพิจารณาด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาอย่างไร เราต้องอยู่ภายใต้สหประชาชาติ แต่อยากให้คนไทยเกิดความเข้าใจตรงกัน ขอให้ติดตามข้อมูล

**นายกฯแจ้งครม.เตรียมตั้งค.ก.ร่วมไทย-เขมร

ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วานนี้ (5 ก.พ.) ว่า เริ่มขึ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งต่อที่ประชุมให้รับทราบถึงการเดินทางไปยังประเทศกัมพูชา เพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบาท สมเด็จพระนโรดม สีหนุ พระวรราชบิดาแห่งกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา และนายกรัฐมนตรีได้เข้าหารือกับสมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์บริเวณชายแดน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่าจะทำให้ชายแดนของทั้ง 2 ประเทศมีความสงบและมั่งคั่ง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวคิดที่จะให้ตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อเชื่อมโยงทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีตัวแทนจากกระทรวงต่างๆด้านเศรษฐกิจ รวมถึงกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วม

**แจงคดีพระวิหารปี2505ใช้ภาพถ่ายทางอากาศ

นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และหัวหน้าคณะเผยแพร่ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับกระทรวงกลาโหม แถลง กรณีมีคำถามในประเด็นความถูกต้องของข้อมูลเรื่องสันปันน้ำกับเส้นเขตแดนตามที่ปรากฎในหนังสือ"50 ปี 50 ประเด็น ถาม-ตอบปราสาทพระวิหาร" โดยยืนยันว่าข้อมูลที่กระทรวงการต่างประเทศให้ไว้ถูกต้องแล้ว ทั้งนี้ไทยยึดถือสันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดนตาม ข้อบทของอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1904 ซึ่ง "สันปันน้ำ"หมายถึงแนวสันต่อเนื่องในภูมิประเทศ เมื่อฝนตกจะแบ่งน้ำเป็นสองส่วน ซึ่งอาจไม่ใช่สันเขาหรือขอบหน้าผา ทั้งนี้ ยังไม่เคยมีการดำเนินการพิสูจน์ทราบทางวิทยาศาสตร์ว่าสันปันน้ำที่แท้จริงอยู่ที่ใดและคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) เป็นกลไกในการเจรจาเพื่อสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาตามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก(เอ็มโอยู) 2543 ก็ยังไม่เคยดำเนินการพิสูจน์ทราบสันปันน้ำในบริเวณดังกล่าว

นายณัฏฐวุฒิ กล่าวว่า ในสมัยที่คณะกรรมาธิการปักปันสยาม-ฝรั่งเศส ได้ลงไปยังพื้นที่ดงรักเมื่อปี ค.ศ 1906 ก็ไม่มีหลักฐานว่าคณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนสยาม-ฝรั่งเศส ได้ตัดสินใจใดๆ ในเรื่องนี้หรือเรื่องอื่นใดเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร และนับจากนั้นก็ไม่เคยมีการพิสูจน์ทราบสันปันน้ำ ขณะที่ข้อมูลเมื่อคราวสู้คดีในปี 2505 ที่แต่ละฝ่ายนำเสนอต่อศาลโลกก็ไม่ได้เกิดจากการพิสูจน์ทราบทางวิทยาศาสตร์ในพื้นที่ แต่ใช้ภาพถ่ายทางอากาศที่ได้จากสหรัฐมาประกอบ ซึ่งพื้นที่ทางตอนเหนือและตะวันออกตัวปราสาทเป็นพื้นที่ที่ไม่มีความแน่นอน เพราะมีต้นไม้ปกคลุมหนาแน่นซึ่งต้องทราบความสูงของต้นไม้แต่ละต้นจึงจะทราบความสูงของพื้นที่ฝ่ายกัมพูชาไม่ได้มีคนเข้าไปในพื้นที่เลยขณะที่ฝ่ายไทยได้ส่งคนเข้าไปเก็บข้อมูล แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีการพิสูจน์ทราบสันปันน้ำที่แท้จริงเช่นกัน

ทั้งนี้ รายละเอียดในประเด็นที่มีผู้ห่วงกังวลไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการต่อสู้คดีในศาลโลกในปัจจุบัน ขณะที่ประเด็นเรื่องเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาที่สุดแล้วต้องมาเจรจากันในกรอบเจบีซี

เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าเนื้อหาในหนังสือจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลของฝ่ายไทยมากเกินไปหรือไม่ นายณัฏฐวุฒิกล่าวว่า เนื้อหาทั้งหมดเป็นข้อมูลพื้นฐานทั่วไป ไม่เกี่ยวข้องกับการสู้ทางรูปคดี โดยมีการพิจารณาเนื้อหาอย่างรอบคอบแล้ว ขณะเดียวกันได้ทำการสอบถามก็ทราบว่าประชาชนเองก็ต้องการทราบข้อมูลเหล่านี้เพิ่มเติมกระทรวงจึงได้จัดทำข้อมูลเหล่านี้ขึ้นมา

นายณัฎฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า กระทรวงการต่างประเทศได้พิมพ์หนังสือ"50 ปี 50 ประเด็น ถาม-ตอบกรณีปราสาทพระวิหาร"เสร็จและพร้อมจะดำเนินการแจกจ่ายในครั้งแรก 1 แสนเล่ม โดยจะมีการส่งไปยังประชาสัมพันธ์จังหวัดต่าง ๆ และส่งให้กับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันแจกจ่าย อาทิ กองทัพ หน่วยราชการ สถานศึกษาต่าง ๆ และยังมีแผนจะผลิตเพิ่มเติมหากประเมินว่าได้รับความสนใจค่อนข้างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น