“คำนูณ” เชื่อศาลไม่กล้าลุอำนาจให้ตามคำขอเขมร ชี้สูสีข้ออ้างใช้เอ็มโอยู43 ลุ้นศาลพิจารณาเป็นประโยชน์ต่อใคร งง! มีวิธีฉีกแผนที่ annex I ไฉนไปเซ็นเอ็มโอยู 43 รับไว้ในข้อ 1 ค. ชมทีมไทยสู้ได้ดี แต่เหมือนชกมวยถึงเข้าเป้าหากกรรมการไม่กดคะแนนก็ป่าวประโยชน์ เตือน รบ.อย่าตัดสินใจแทน ปชช. หากศาลตัดสินให้ไทยเสียหาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. วันที่ 19 เม.ย. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่าประเด็นของคดีทั้งหมด กัมพูชามุ่งให้ศาลตีความเลยไปถึงเหตุผลของคำพิพากษา ที่ศาลเคยใช้หลักกฎหมายปิดปากไทยว่ายอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 (the annex I map) ถือว่าเส้นเขตแดนเป็นไปตามแผนที่ annex I โดยอ้างว่าก่อนที่ศาลจะบอกว่าเขาวิหารอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชาต้องบอกเรื่องเขตแดนก่อน แต่ไทยโต้แย้งว่าไม่ใช่ที่กัมพูชาขอเป็นเหตุผลในคำพิพากษา ไม่ได้กล่าวไว้ในบทปฏิบัติการ
ประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นหลักที่ศาลต้องตัดสินว่าจะตีความเฉพาะบทบฏิบัติการ หรือตีความเลยไปถึงเหตุผลก้าวล่วงไปถึงความถูกต้องของแผนที่ annex I แล้วก็ชี้เรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชา อย่างไรก็ดี ตนเชื่อว่าศาลไม่น่าจะกล้าใช้อำนาจเกินเลยไปขนาดนั้น
เมื่อเป็นดังนี้ ประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัยก็จะเหลือเพียงประเด็นเดียวคือ ความเห็นต่างของทั้งสองประเทศในเรื่อง การถอนทหาร กับ อาณาเขตเขาวิหารกินพื้นที่เท่าไร เฉพาะฝ่ายไทยมีความเป็นไปได้สองทาง หากศาลยึดตามมติ ครม.10 ก.ค. 2505 ก็แปลว่าไทยเท่าทุน แต่หากศาลกำหนดพิกัดขึ้นมาใหม่ตามที่หนึ่งในคณะศาลร้องขอ เป็นความเห็นของเจ้าหน้าที่ศาลทุกคน ก็แปลว่าเตรียมที่จะกำหนดพิกัดเขตเขาวิหารด้วยตนเอง ตรงนี้น่าเป็นห่วง
นายคำนูณกล่าวถึงเอ็มโอยู 43 ว่า ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างเอามาเป็นประโยชน์ของตัวเอง ไทยอ้างไม่มีความขัดแย้งเรื่องเขตแดน ก่อนที่กัมพูชายื่นขอจดทะเบียนมรดกโลกก็ไม่เคยเรียกร้องพื้นที่ 4.6 ตร.กม. อีกอย่างการเจรจาเรื่องเขตแดนก็มีกรอบเอ็มโอยู 43 อยู่ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องมาพิพากษา ส่วนกัมพูชา อ้างเจรจาตามเอ็มโอยู 43 ไปก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะเหตุแปลความตามคำพิพากษาต่างกัน กัมพูชายึดแผนที่ annex I ส่วนไทยจัดทำแผนที่ขึ้นมาใหม่ตามแผนที่ L7017 ที่สำคัญไทยก็ยอมรับแผนที่ annex I เพราะไปบรรจุอยู่ในเอ็มโอยู 43 ขณะที่แผนที่ L7017 ที่ไทยทำขึ้นกลับไม่ได้บรรจุอยู่ในเอ็มโอยู 43 เรื่องนี้ต้องดูว่าในที่สุดศาลจะพิพากษาออกมาอย่างไร ประเด็นเอ็มโอยู 43 จะอยู่ในคำพิพากษาด้วยหรือไม่ และจะเป็นประโยชน์ต่อใคร
“เอ็มโอยู 43 ไม่ได้ระบุเรื่อง L7017ไว้ ซึ่งมันก็ตอบคำถามได้ยากเหมือนกันว่าในขณะที่เราไประบุ annex I ไว้ แต่ไม่ได้ระบุ L7017 ของเราเอง แปลว่าอะไร ที่คาใจยิ่งกว่านั้นในเมื่อเราฉีกแผนที่ annex I กระจุยด้วยเอกสารของเรา สิ่งต่างๆที่นางสาวอลินา มีรง เอามาต่อสู้ก็เอามาจากข้อต่อสู้เมื่อปี 2504-2505 จากรายงาน ศ.สเกลมาฮอลน์ ในครั้งนั้น big map ก็เป็น big map ในครั้งนั้น map 85d ก็เป็น map 85d ในครั้งนั้น เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว ผมตอบไม่ได้ว่าทำไมปี 2543 เราทะลึงไปเซ็นเอ็มโอยู 43 ยอมรับแผนที่ annex I ไว้ในข้อ 1 ค.”
นายคำนูณกล่าวถึงคณะทีมไทยที่ไปต่อสู้ในเวทีศาลโลกว่า ทำหน้าที่ได้ดีตามสมควร แต่ผลจะเป็นอย่างไร คงไม่ต่างจากการชกมวย ถึงแม้จะชกได้เข้าเป้าอย่างไรก็แล้วแต่ มันอยู่ที่กรรมการจะกดคะแนนให้หรือไม่ หากกรรมการไม่กดคะแนนให้มันก็จบ ฉะนั้นอย่าด่วนไปประกาศหากศาลมีคำสั่งอย่างไรเรายินดีจะปฏิบัติตาม แล้วอีก 50 ปี เราก็ต้องพูดอีกว่าการตัดสินในปี 2556 เราไม่เห็นด้วยแต่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม รออีกนิดให้ศาลตัดสินก่อน หากศาลตัดสินเราเสียหาย ถึงแม้รัฐบาล จะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินใจโดยพลการ ต้องถามประชาชนก่อน