xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเท็จจริงในศาล 10 วินาที ไทยอาจแพ้ “คดีพระวิหาร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพดล ปัทมะ
สะเก็ดไฟ

กงล้อประวัติศาสตร์เกี่ยวกับปราสาทพระวิหารที่หมุนมาสู่การเผชิญหน้ากันอีกครั้งในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศระหว่างไทยกับกัมพูชา หลังจากที่ 51 ปีที่แล้ว ประเทศไทย เป็นฝ่ายพ่ายแพ้จากการตัดสินที่อยุติธรรมของศาลโลกในขณะนั้น

ซึ่งมีการใช้ข้อสันนิษฐานเอื้อประโยชน์ให้กัมพูชา โดยนำเอาแผนที่ 1 : 200,000 ของกัมพูชามาพิจารณาประกอบการตัดสินคดี ทั้งที่ศาลเองก็ยอมรับแผนที่ดังกล่าวไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการปักปันฯ หรือพูดง่ายๆ ว่า

แผนที่นี้ไม่ใช่ผลงานของคณะกรรมการปักปันฯ นั่นเอง

ไม่เพียงเท่านั้นศาลฯ ในปี 2505 ยังยอมรับด้วยว่าแผนที่ที่เขมรนำมาใช้อ้างอิงว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในพื้นที่ของกัมพูชานั้น ไม่เป็นไปตามเส้นสันปันน้ำ ซึ่งกำหนดให้เป็นเส้นเขตแดนตามสนธิสัญญา 1904

แต่ศาลฯ ก็ยังดันทุรังตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา โดยอ้างกฎหมายปิดปากว่าไทยไม่เคยโต้แย้งแผนที่นี้ จึงต้องยอมรับสภาพการสูญเสียปราสาทพระวิหารด้วย

ผ่านมา 51 ปี คนไทยคงไม่ต้องมานั่งลุ้นใจระทึกกันอย่างนี้ ถ้าบ้านเมืองจะไม่เกิดวิปริตผิดเพี้ยน เพราะมีนักการเมืองไทยใจเขมร เอาแผ่นดินไทยไปแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ของตัวเอง

จึงเป็นที่มาของการสนับสนุนให้เขมรขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว

จุดเริ่มต้นที่ทำให้กัมพูชามีความย่ามใจเสนอขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว เริ่มจากการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ในวันที่ 30 พ.ค. - 1 มิ.ย. 46 (สมัยทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี) โดยมีมติว่า

ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือพัฒนาเขาพระวิหาร และบูรณปฏิสังขรณ์ปราสาทพระวิหาร จากนั้นในวันที่ 31 กรกฎาคม 2549 กัมพูชาก็ยื่นขอขึ้นปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ไม่สำเร็จ เพราะรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ส่งกระทรวงการต่างประเทศไปคัดค้าน จนทำให้การประชุมมรดกโลกเพื่อพิจารณาในเรื่องนี้จนที่ประชุมเลื่อนการพิจารณาออกไป

แต่ความฝันของกัมพูชามาสำเร็จปิดจ็อบได้โดยฝีมือของรัฐบาลสมัคร ที่มีนพดล ปัทมะ เป็น รมว.ต่างประเทศ ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา สนับสนุนให้เขมรขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว

แถมยังยอมรับที่จะบริหารพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารร่วมกับกัมพูชา โดยไม่ตระหนักถึงการรุกคืบเข้ามารุกล้ำดินแดนไทยผ่านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่อย่างใด

เลยไม่ใช่เรื่องแปลกที่ นายร็อดแมน บันดี ทนายความกัมพูชา จะหยิบยกความสัมพันธ์ที่ดีที่กัมพูชามีต่อ ทักษิณ และแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา มาเป็นหลักฐานเพื่อชี้ว่าไทยเคยยอมรับแผนที่ 1 : 200,000 ซึ่งเท่ากับยอมรับว่าพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาทพระวิหารนั้นเป็นของกัมพูชา

คำแถลงของร็อดแมนระบุชัดเจนว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ที่นพดลไปลงนามนั้น ไม่ได้มีการแนบแผนที่อื่นใดเข้ามาประกอบแผนที่ของกัมพูชา ทำให้เกิดความเข้าใจได้ว่ารัฐบาลไทยขณะนั้นยอมรับว่ากัมพูชามีอธิปไตยเหนืออาณาบริเวณนั้น ไม่ใช่มีอธิปไตยเหนือตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น

แม้ทนายความกัมพูชาจะกล่าวถึงเรื่องนี้เพียง 0.061% โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ 10 วินาที จาก 16,200 วินาที จากการแถลง 4.30 ชั่วโมงของการแถลงด้วยวาจาทั้งหมด ตามที่ นพดล ปัทมะ ร้อนตัวออกมาแก้ต่างให้ตัวเองผ่านเฟซบุ๊ค แต่ก็ถือเป็นเวลาสั้น ๆ ที่มีความหมายมากพอจะกระชากหน้ากากให้คนไทยเห็นความผิดพลาดของทักษิณ และนพดล ได้เป็นอย่างดี

การอ้างถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศไทยไปประกอบการแถลงด้วยวาจาของกัมพูชาในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เป็นหลักฐานที่ทำให้คนไทยได้เห็นชัดเจนว่า หากไม่มีการรัฐประหาร หรือเปลี่ยนแปลงขั้วทางการเมือง ป่านนี้กัมพูชาก็ฮุบพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเสร็จสมอารมณ์หมายไปนานแล้ว

แต่เพราะมีการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลทรราช เขมรจึงเลือดเข้าตาสร้างสถานการณ์โจมตีแผ่นดินไทย เพื่อใช้เป็นข้ออ้างวิ่งโร่ไปฟ้องศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หวังใช้มือศาลฯมาฮุบแผ่นดินไทยเหมือนที่เคยทำสำเร็จในการได้ยึดครองปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505

คำฟ้องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่ยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฟ้อง นพดล ปัทมะ ในฐานะ รมว.ต่างประเทศ ที่ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา โดยระบุไว้ตอนหนึ่งว่า

“นายนพดล ปัทมะ รู้อยู่อย่างถ่องแท้ว่า แถลงการณ์ร่วมนี้อาจมีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนของประเทศไทย มีผลกระทบทางสังคม แต่จำเลยได้กระทำไปโดยปกปิดซ่อนเร้น บิดเบือนข้อมูล ข้อเท็จจริง จำเลยเอาใจฝักใฝ่ในผลประโยชน์ประเทศกัมพูชายิ่งกว่าผลประโยชน์ของประเทศไทย ด้วยเจตนาที่แอบแฝงในประโยชน์ที่ตรงข้ามกับประโยชน์ของประเทศไทย โดยมุ่งหวังให้สมเจตนาแห่งตนโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายด้านอาณาเขตดินแดน และอำนาจอธิปไตยของประเทศ โดยเจตนาไม่สุจริต

จึงถือว่าการกระทำดึงกล่าว เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เหมาะสม ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรี อำนาจหน้าที่แห่งตน มิได้ยึดถือว่าตนเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กระทำขัดรัฐธรรมนูญ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา ไม่ส่งเสริมคุ้มครองสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ไม่รับฟังความเห็นของประชาชน มีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157”

เอาใจฝักใฝ่ในผลประโยชน์ประเทศกัมพูชายิ่งกว่าผลประโยชน์ของประเทศไทย จะมีนักการเมืองที่ไหนบ้างที่มีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ มีแต่ประเทศไทยที่โชคร้าย!
กำลังโหลดความคิดเห็น