“อภิสิทธิ์” ระบุการเมืองหลังสงกรานต์หากรัฐบาลไม่เปิดสมัยประชุมวิสามัญ เร่งกฎหมายนิรโทษกรรม และแก้ไข รธน. การเมืองจะไม่ตรึงเครียด แต่หากดึงดันป่วนแน่ เผยคุย “เจริญ” แล้ว ควรหยุดทุกอย่าง แล้วกล่อม ส.ส.แดง ถอน กม.ล้างผิดออกจากสภาฯ พร้อมเตือนรัฐบาลหากไม่ทบทวนโครงการต่างๆ จากเงินกู้ 2 ล้านล้านไปปรับปรุงตามที่ ส.ส.แปรญัตติไว้ วุ่นแน่ ชี้ 4 จุดน่าห่วง ขาดความพร้อม ไล่รัฐบาลคิดใหม่ หากยังดื้อหลังสภาผ่าน กม.ยื่นตีความแน่
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการประเมินสถานการณ์ทางการเมืองช่วงหลังสงกรานต์ว่า หลังจากวันที่ 20 เม.ย. สภาจะปิดสมัยประชุม เพื่อให้ ส.ส.ลงพื้นที่ และรัฐบาลจะได้มุ่งแก้ปัญหาของประเทศ และในช่วงปลายเดือน พ.ค. จะมีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ซึ่งถ้าเหตุการณ์เป็นไปตามนี้ การเมืองจะค่อนข้างนิ่ง และเป็นเรื่องที่ดี ที่รัฐบาลจะได้มีเวลาเร่งแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาภาคใต้ แต่หากรัฐบาลมุ่งเรื่องที่เป็นประเด็นร้อนๆ ด้วยการเปิดสมัยประชุมวิสามัญ หรือขยายสมัยประชุม เพื่อเร่งรัดกฎหมายนิรโทษกรรม หรือรวบรัดการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้การเมืองเกิดความตึงเครียดขึ้นมาอีก ดังนั้นรัฐบาลก็ควรปิดสมัยประชุม และไปแก้ไขปัญหาประเทศจะดีกว่า
ส่วนแนวโน้มการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คิดว่าถ้าปิดสมัยประชุมไปแล้ว จะมีความชัดเจนมากขึ้นว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือรัฐบาล จะแสวงหาแนวทางปรองดองจริงๆ ได้อย่างไร เช่น กรณีที่นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ได้มาพบตนแล้ว และพูดว่าดีที่สุดคือขณะนี้ควรหยุดดำเนินการเรื่องต่างๆ และในช่วงปิดสมัยประชุม นายเจริญก็ควรไปเดินสายพบปะกับผู้เสนอร่างกฎหมายที่เป็นปัญหา เพื่อที่จะโน้มน้าวให้เขาถอนออกไป และกลับมาพูดคุยกับฝ่ายต่างๆ บนพื้นฐานของความไว้ใจกัน ซึ่งก็ดูเหมือนว่านายเจริญจะไปถ่ายทอดมุมมองของตน และอีกหลายๆ คนในเรื่องนี้ ส่วนจะทำได้มาก หรือน้อยแค่ไหน ก็คงเป็นเรื่องระหว่างนายเจริญ และเจ้าของร่าง
นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาทว่า รัฐบาลควรใช้ช่วงเวลาที่สภาฯ ปิดสมัยประชุมกลับไปทบทวนรายละเอียด เพราะขณะนี้กรรมาธิการฯ ได้พิจารณาและพบความจริงว่ามีหลายโครงการที่ขาดความพร้อม เช่น 1. โครงการที่ไม่ได้เป็นเรื่องของการทำอะไรใหม่ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเดิม รวมประมาณ 4 หมื่นล้านบาท 2. โครงการที่หลายฝ่ายเห็นพ้องว่า เป็นสิ่งที่ควรทำ เช่น รถไฟรางคู่ ซึ่งรัฐบาลควรประเมินว่าเป็นเงินเท่าไหร่ และวิธีการที่ดีที่สุดจะทำคืออะไร
3. โครงการที่มีการประเมินผลทางเศรษฐกิจการเงิน แต่ยังไม่ผ่านกฎหมายสิ่งแวดล้อม ดังนั้น รัฐบาลควรไปดูให้ชัดเจนว่า จะแก้ไขอย่างไร และ 4. โครงการใหญ่ๆ ที่ยังไม่มีการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ และน่าจะมีปัญหาคือโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ทั้งในแง่ การเลือกเส้นทาง การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ รวมกับโครงการที่ยังไม่ผ่านการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ มีมูลค่าประมาณครึ่งหนึ่งของเงินจำนวน 2 ล้านล้านบาท รัฐบาลจึงควรกลับไปคิดใหม่ว่าเหมาะสมหรือไม่
ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า การที่พูดถึงการลงทุนพัฒนาประเทศ สภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ บอกว่าโดยรวมมีทั้งหมด 8 ล้านล้านบาท แทนที่จะครอบคลุมในเรื่องการศึกษา น้ำ สาธารณสุขหรืออื่นๆ แต่กลายเป็นว่ารัฐบาลขณะนี้ไปทุ่มทั้งหมดไปที่เรื่องของคมนาคมขนส่งเพียงอย่างเดียว จึงเกิดคำถามตามมาว่า ความจำเป็นในการลงทุนด้านอื่นๆ จะมีการตอบสนองอย่างไร ตนยืนยันว่าเงินจำนวน 2 ล้านล้านบาท 7 ปี บริหารในงบประมาณปกติได้แน่นอน ตอนนี้กรรมาธิการฯ ของพรรค มีการพิจารณาร่างกฎหมาย แต่ในการแปรญัตติในส่วนของพรรคทยอยส่งไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากรัฐบาลเดินหน้าทำเรื่องนี้ต่อ พรรคประชาธิปัตย์จะทำอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คงต้องรอให้สภาพิจารณา เสร็จก่อน เพื่อจะได้ระบุว่า ส่วนไหนที่เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังดูเป็นกฎหมายที่เลี่ยงกระบวนการงบประมาณ โดยไม่ผ่านการเห็นชอบ การกลั่นกรองจากรัฐสภา อีกทั้งในการพิจารณาของสภา คงมี ส.ส. เสนอคำแปรญัตติจำนวนมาก และรัฐบาลควรพิจารณาการแปรญัตตินี้ไปพิจารณาอย่างจริงจัง ไม่น่าจะดึงดันตามร่างที่รัฐบาลเสนอมา ซึ่งหากมีการปรับหรือแก้ไขน่าจะยอมรับได้บ้าง แต่ถ้าไม่แก้ไขอะไรเลย คงจะเป็นปัญหา เพราะขณะนี้เป็นกฎหมายกู้เงิน ดูมีเจตนาค่อนข้างชัดว่า หลีกเลี่ยงกระบวนการงบประมาณ
อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ตรวจสอบเรื่องนี้ไม่ได้มองว่าจะกระทบกับอายุของรัฐบาล เพียงแต่ไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นหนี้เพิ่ม และได้สิ่งที่ไม่คุ้มค่ากลับมา เพิ่มความเสี่ยงให้กับประเทศ เพราะว่าเราได้เห็นสภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจโลก จึงควรบริหารเศรษฐกิจของเราให้ระมัดระวัง ไม่ให้เพิ่มความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น