ปธ.สภาฯ นัดนัดลงมติแปรญัตติแก้ รธน.ใน 60 วัน 18 เม.ย.นี้ ตั้งแง่บีบ ปชป.ยอมรับหากสมาชิก รบ.มีความเห็นเป็นอื่น ลุ้น 11 เม.ย.ตุลาการนั่งโต๊ะพิจารณคำร้อง ส.ว.สมชาย ครบองค์ประชุมหรือไม่ ชี้หากองค์คณะไม่ถึง 5 เจอโรคเลื่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 10 เม.ย. นายอุดมเดช รัตนเสถียร ที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวถึงกรณีที่จะมีการนัดประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติกรอบเวลาการแปรญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ฝ่ายค้านเป็นผู้เสนอใช้เวลา 60 วัน ตามที่ฝ่ายค้านเรียกร้องว่า เบื้องต้นได้หารือกับทาง ส.ว.เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว หากในวันที่ 18 เม.ย.มีการประชุม และเสนอญัตติเรื่องนี้ ก็พร้อมที่จะออกเสียงโหวตเพื่อความสบายใจ
นายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า กรณีญัตติการแปรญัตติ 60 วัน ที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้วิปทั้ง 3 ฝ่ายไปหารือกันนั้น เบื้องต้นได้ประสานไปยังวิป 3 ฝ่าย นัดลงมติญัตติที่สมาชิกเห็นเป็นอื่น คือการแปรญัตติแก้รัฐธรรมนูญใน 60 วัน ตามที่พรรคฝ่ายค้านเป็นผู้เสนอ ในวันที่ 18 เม.ย. เวลา 09.30 น. ทั้งนี้เพราะอยากให้กระบวนการเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น และประธานรัฐสภาเองก็อยากให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม หากสมาชิกรัฐบาลมีความเห็นอย่างไร ยังยืนยันให้มีการแปรญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน ก็ขอให้พรรคฝ่ายค้านยอมรับในกฎกติกาด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันเดียวกันนี้ มีรายงานข่าวแจ้งว่าแม้ขณะนี้จะยังไม่พบว่ามีตุลาการคนใดยื่นหนังสือลาประชุม แต่ก่อนหน้านี้ก็มีตุลาการบางคนเดินทางไปต่างประเทศ และก็มีบางส่วนที่ครั้งที่แล้วมีการพิจารณารับคำร้องนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ลาประชุมเพราะเดินทางไปต่างประเทศได้เดินทางกลับมาแล้ว ดังนั้นจึงไม่แน่ว่าในการเรียกประชุมด่วนของคณะตุลาการในวันนี้ (11 เม.ย) จะมีตุลาการเดินทางมาประชุมถึง 5 คนที่จะถือเป็นองค์ประชุมพิจารณคำร้องหรือไม่ และ 5 คนที่อาจจะเดินทางมาจะเป็นองค์คณะเดียวกับที่พิจารณารับคำร้องนายสมชายหรือไม่ แต่ทั้งนี้หากตุลาการฯ เดินทางมาประชุมไม่ถึง 5 คนก็จะไม่สามารถประชุมได้และการพิจารณาคำร้องดังกล่าวก็ต้องเลื่อนออกไป
อย่างไรก็ตาม หากตุลาการฯมาไม่น้อยกว่า 5 คนซึ่งถือเป็นองค์ประชุมที่สามารถประชุมได้ ก่อนที่จะมีการพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย คณะตุลาการฯ ก็จะต้องมีการพิจารณาคำคัดค้านการเป็นองค์คณะในการวินิจฉัยคำร้องนี้ของตุลาการทั้ง 8 คนที่มีคำวินิจฉัยในคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ยกเว้นนายจรัญ ภักดีธนากุล ก่อน ซึ่งโดยวิธีการแล้วที่ประชุมจะมีการพิจารณาการคัดค้านตุลาการเป็นรายๆ ไป ว่ารายนี้คำคัดค้านรับฟังได้หรือไม่ สมควรที่จะไม่ได้เป็นองค์คณะหรือไม่ จนครบทั้ง 8 คนที่ถูกคัดค้าน และดูว่าตกลงแล้วเหลือตุลาการที่ที่ประชุมเห็นว่าสามารถทำหน้าที่เป็นองค์คณะพิจารณาคำร้องนี้ได้เท่าใด หากเหลือไม่ถึง 5 คน การพิจารณาคำร้องนี้ก็ต้องเลื่อนออกไปก่อน จนกว่าจะได้ตุลาการเป็นองค์ประชุมครบ 5 คน