ผ่าประเด็นร้อน
ในที่สุดคณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามความคืบหน้าทางคดีของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ก็ได้สรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (พล.ร.21 รอ.) และผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 สรุปก็คือ การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงดังกล่าว มี “ชายชุดดำ” ติดอาวุธปะปนอยู่ด้วย และเป็นผู้ก่อเหตุสังหารชีวิตทหาร รวมทั้งใช้ระเบิดเอ็ม 67 ขว้างใส่ พล.อ.ร่มเกล้า จนเสียชีวิต
ขณะเดียวกัน การเสียชีวิตของคนเสื้อแดงยังมีการพิสูจน์ให้เห็นว่ามีการยิงมาจากฝั่งของผู้ชุมนุมด้วยกันเอง เพราะในบริเวณนั้นไม่มีทหารวางกำลังอยู่
จากการแถลงของ สมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการดังกล่าว ได้สรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของอนุกรรมาธิการฯ ว่า
1. มีชายชุดดำอยู่ในวันที่ 10 เม.ย. 2553 โดยมีการเตรียมการก่อนหน้าวันเกิดเหตุในการใช้อาวุธปืนอาก้า เอ็ม 77 ระเบิดเอ็ม 67 และแก๊สน้ำตา ยิงใส่เจ้าหน้าที่ที่ขณะนั้นมีเพียงโล่และกระบองเท่านั้น
2. อนุกรรมาธิการฯ มีข้อสงสัยว่า ผู้เสียชีวิตจำนวน 26 ราย ที่พบในวันดังกล่าว จะถูกลำเลียงมาจากที่อื่นหรือไม่ เพราะหากดูจากรอยเลือดหรือดีเอ็นเอในที่เกิดเหตุนั้นก็ขัดต่อผลการตรวจสอบ อีกทั้งจากพยานหลักฐานก็ไม่สามารถระบุว่ามีผู้เสียชีวิตในบริเวณดังกล่าวมากถึง 26 ศพ ดังนั้นจึงอยากให้ดีเอสไอเร่งตรวจสอบในคดีนี้
และ 3. ในเรื่องการดำเนินคดีใน 4 กลุ่มคดีนั้น อนุกรรมาธิการฯ เห็นว่าขณะนี้แทบจะไม่มีความคืบหน้า อีกทั้งยังมีความสงสัยว่าในส่วนการดำเนินคดีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะจำเลยที่ 1 นั้น ทางอัยการได้มีความเห็นสั่งฟ้องไปยัง พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วหรือไม่ นอกจากนี้ยังตนมองว่ากระบวนการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยังไม่ครอบคลุมผู้เสียชีวิต จำนวน 89 ราย
นั่นคือผลการตรวจสอบที่สรุปจากพยานหลักฐานทั้งบุคคล เอกสาร ภาพถ่ายทั้งภาพนิ่งและวิดีโอที่สามารถยืนยันได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดีจะว่าไปแล้วสำหรับในกรณี “ชายชุดดำ” ที่ติดอาวุธปะปนอยู่ในการชุมนุมของคนเสื้อแดงนั้นหากสติปัญญาไม่มืดบอดก็คงมองเห็นได้ดีว่า “มีจริง” แม้ว่าพวกแกนนำคนเสื้อแดงจะพูดกันแบบไร้เดียงสาปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่มี ไม่จริง แต่จากหลักฐานภาพถ่ายที่ปรากฏออกมาทางโลกออนไลน์ มันปิดบังกันไม่ได้ เพียงแต่ว่าบางคนอาจไม่ได้สวมชุดดำ แต่ “สวมชุดแดง” มีสัญลักษณ์แสดงออกว่าเป็น “คนเสื้อแดง” ดังนั้นถ้าให้สรุปรวมๆ ก็คือคนพวกนี้คือ “ชายชุดดำ” แม้ว่าบางครั้งอาจไม่ได้สวมชุดดำก็ตาม
ขณะเดียวกัน สิ่งที่เป็นประเด็นก็คือในบรรดาผู้เสียชีวิตดังกล่าวต้องไม่เหมารวมเป็นจำนวน 89 ศพ หรือ 91 ศพตามที่บรรดาแกนนำเสื้อแดงพยายามตอกย้ำ เพราะในจำนวนนั้นประมาณ 26 ศพ ที่คณะอนุกรรมาธิการฯ วุฒิสภาสรุปออกมานั้นมีพิรุธ เพราะผลการชันสูตรออกไม่ตรงกับการตรวจสอบ ลักษณะเหมือนกับเสียชีวิตจากที่อื่นแล้วนำศพมาที่บริเวณการชุมนุมที่สี่แยกคอกวัว
นั่นเป็นผลสรุปของคณะอนุกรรมาธิการฯ ของวุฒสภา ที่ผ่านการตรวจสอบพยานหลักฐานต่างๆ รอบด้าน ทำให้เห็นว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ไม่ใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ แต่เป็นการชุมนุมที่แฝงเจตนาร้าย มีการวางแผนให้เกิดการจลาจล มีการเข่มฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ (ทหาร) เพื่อกดดันจนนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในขณะนั้น หรือกดดันนำไปสู่การยุบสภาตามต้องการของ ทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่เบื้องหลังการชุมนุมดังกล่าว
แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาและตั้งคำถามก็คือ เวลาผ่านมา 3 ปีเต็ม ทำไมกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่นำโดย ธาริต เพ็งดิษฐ์ ถึงได้เลือกทำคดีเฉพาะบางแง่มุมเท่านั้น นั่นคือเลือกที่จะสอบสวนเดินหน้าเฉพาะการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง มีการฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลหลายคดี มีการเรียกฝ่ายทหารเข้าไปให้ปากคำในศาลอย่างต่อเนื่อง ขณะที่คดีการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่กลับไม่มีความคืบหน้า ทุกอย่างกลับตาลปัตร
นอกจากนี้ยังมีคดีความผิดของ ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายอันดับหนึ่ง ก็ไม่ไปถึงไหน ที่ผ่านมา ธาริต ไม่เคยเปิดเผยถึงความคืบหน้า มีแต่เร่งรัดคดีการเสียชีวิตของฝ่ายคนเสื้อแดงเท่านั้น สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความจริงดังกล่าวก็คือคำยืนยันจากปากของ “นิชา ธุวธรรม” ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า เป็นคนยืนยันด้วยตัวเองว่าคดีการเสียชีวิต ของ พล.อ.ร่มเกล้า ไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่เคยทำหนังสือเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีและกรมสอบสวนคดีพิเศษมาแล้วหลายครั้ง ก็ยังไม่มีความคืบหน้า
ล่าสุด ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ออกมาระบุว่าคดีการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทหาร และคดีของ พล.อ.ร่มเกล้าไม่คืบหน้าและเตรียมทำหนังสือสอบถามไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หลังจากเวลาผ่านไป 3 ปี แม้ว่าในกรณีนี้อาจถูกมองว่า “ความรู้สึกช้า” ไปสักหน่อย เพราะเพิ่งมาตื่นตัวหลังจากใช้เวลาไปตั้งนาน อาจถูกมองว่าไม่กระตือรือร้นก็เป็นได้ แต่ถึงอย่างไรนี่ถือว่าเป็นท่าทีที่ชัดเจนครั้งแรกของผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งที่ผ่านมาถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยในกรณีดังกล่าว
แต่คำถามสำหรับ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ธาริต เพ็งดิษฐ์ นาทีนี้ต้องเคลียร์ให้ชัด และกลายเป็นว่าแรงกดดันจะกลับมาที่ตัวเขาอย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยพิสูจน์ได้จากหลายคดีก่อนหน้านั้นว่า เขากำลัง “รับใช้” นายใหม่หรือไม่ นายที่กำลังมีสถานะเป็นโจรหลบหนีคดีอยู่หรือไม่ เป็นคำถามที่คนอย่างเขาต้องตอบให้ชัด และ 3 ปีที่ผ่านมาทำไมถึงได้เสียเวลากับเรื่องไม่เป็นเรื่อง และทำลายความน่าเชื่อถือองค์กรยุติธรรมให้ผิดเพี้ยนได้ถึงขนาดนี้!!