xs
xsm
sm
md
lg

ธาริตไม่ยอมให้กมธ.ไล่บี้ พาลหนีออกห้องประชุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง "นายธาริต เพ็งดิษฐ์" ตอบข้อซักถาม  

เมื่อวานนี้ (13มี.ค.) มีการประชุม คณะกรรมาธิการ (กมธ.)การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร นายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะประธานฯ ได้เชิญ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้มาตอบข้อซักถาม ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุม เมื่อเดือนเมษายน -พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นการเชิญนายธาริต มาให้ข้อมูลตาม พ.ร.บ.คําสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 เป็นครั้งที่ 3
ทั้งนี้ กมธ.ได้สอบถามถึงการทำหน้าที่ของนายธาริต เมื่อครั้งเป็น กรรมการของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ว่าเป็นอย่างไร
นายธาริต กล่าวว่า เหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าง ตนก็เหมือนกับข้าราชการ และเหมือนหัวหน้าส่วนราชการอื่่นๆ ที่ถูกตั้งเข้าไปเป็นกรรมการ ศอฉ. ซึ่งกรรมการศอฉ. ประกอบด้วย 4 หน่วยงานหลักๆ คือ
1. ฝ่ายการเมือง ที่รับผิดชอบตามกฎหมาย ในการแก้ไขดูแลสถานการณ์ ที่ผู้มีอำนาจหลักคือ นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ที่เป็น ผอ.ศอฉ.
2. ฝ่ายที่ใช้กำลังในการปฏิบัติการ ซึ่งประกอบไปด้วย แม่ทัพ นายกอง
3. ฝ่ายตำรวจที่ดูแลความสงบเรียบร้อย 4. ฝ่ายข้าราชการพลเรือน สามัญทั่วไป อาทิ อธิบดีเอสไอ ผู้ว่าฯกทม. ปลัดกระทรวงต่างๆ ซึ่งการประชุมในแต่ละครั้งมีปผู้เข้าร่วมกว่า 100 ครั้ง ซึ่งการประชุมของศอฉ. มีอยู่ 2 แบบ คือการประชุมทั่วไป และการประชุมในชั้นความลับ จะมีเฉพาะฝ่ายยุทธการ ได้แก่ฝ่ายการเมือง ทหาร และตำรวจ ไม่เกี่ยวกับข้าราชการพลเรือน และดีเอสไอ และตนก็ไม่เคยเข้าประชุมฝ่ายยุทธการเลยสักครั้ง เพราะดีเอสไอ ไม่ได้มีบทบาทในการประเมินสถานการณ์ แต่เข้าไปรับผิดชอบเนื่องจากคดีความไม่สงบ ที่ถูกยกระดับจากคดีสามัญมาเป็นคดีพิเศษ ซึ่งในฐานะหัวหน้าหน่วย ก็มีหน้าที่ ให้ความเห็น ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เป็นบางครั้ง เตือนผู้ชุมนุมไม่ให้ชุมนุมโดยผิดกฎหมาย แต่จะเป็นไปตามกรอบของดีเอสไอ ส่วนการใช้กำลังขอคืนพื้นที่ ไม่เกี่ยวข้องกับ ดีเอสไอ
นายธาริต กล่าวอีกว่า การประชุมในศอฉ. ไม่มีการพูดคุยถึงชายชุดดำ แต่มีการระบุถึงกองกำลังไม่ทราบฝ่ายซึ่งจะสอดคล้องกับการทำคดีก่อการร้าย ซึ่งระบุว่า มีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายอยู่ด้วย ซึ่งเป็นภาพรวมทั้งประเทศ ไม่ได้เจาะลึกจุดหนึ่งจุดใด หากที่ประชุมจะแปลว่า กองกำลังไม่ทราบฝ่าย คือ ชายชุดดำ ตนก็ไม่เห็นด้วย ก็ไม่ทราบว่าจะพูดถึงชายชุดดำ กันขึ้นมา เพื่อประโยชน์อะไร แต่ที่แน่ๆในคดีที่ผู้บริหารศอฉ. ได้ถูกดำเนินคดีโดยดีเอสไอ ในข้อหาก่อเหตุให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนา เล็งเห็นผล มีผู้ต้องหา 2 คน คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อแจ้งข้อหาไปแล้ว ทั้ง 2 ท่าน ก็ได้แจ้งข้อหากับตน และเจ้าหน้าที่ ดีเอสไอ อีก 3 คน ท่านได้พูดถึงชายชุดดำในคดีที่ฟ้องผม และเจ้าหน้าที่ ก็อยากจะเรียนว่า การพูดถึงชายชุดดำคงจะมีประโยชน์ในหลายๆ มุม
ส่วนคดีก่อการร้ายยืนยันอีกครั้ง มีแต่กองกำลังไม่ทราบฝ่าย ซึ่งก็มีการดำเนินคดีทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งกลุ่มนปช. และฝ่ายที่ใช้อำนาจรัฐ คือ ศอฉ. ดำเนิคดีได้แค่ 2 ท่าน ยังไม่ได้ส่งสำนวนให้อัยการ การดำเนินคดีกับผู้บริหารศอฉ. ทั้ง 2 ก็ไม่มีชายชุดดำ
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของตนได้ตรวจสอบอำนาจหน้าที่ กมธ. แม้ว่าตามอำนาจหน้าที่จะมีการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แต่การซักถามงานของดีเอสไอ ก็จะน่าจะได้รับการคุ้มครอง อยู่ 2 ส่วน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ การจะให้ข้อมูลที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรมเสื่อมเสีย ก็คงเป็นข้อจำกัด ตนก็ต้องรักษากฎหมาย นายวัชระ เพชรทอง รองประธานกมธ. เรียกร้องให้เคารพกฎหมาย ตนก็จะเคารพกฎหมาย และอำนาจหน้าที่ของกมธ.คงไม่ครอบคลุมถึงการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนยุติธรรม แต่ก็ยินดีที่จะให้ข้อมูลเท่าที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรูปคดี เพราะตนก็ตกเป็นจำเลยในคดีอาญาด้วย ก็อาจเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ
จากนั้น นายศุภชัย ได้ชี้แจงว่า กมธ.มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และอำนาจตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯ ที่เรียกหน่วยงานต่างๆให้มาชี้แจงได้ กมธ.มีอำนาจ พิจารณาสืบสวนใดๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเมือง ซึ่งครอบคลุมเรื่องชายชุดดำ และเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ กมธ.ไม่ได้ใช้อำนาจเกินเลยตามบทบัญญัติที่ให้ไว้
ต่อมา นายวัชระได้ถามนายธาริต ว่า มาให้ข้อมูลด้วยความเต็มใจ หรือเพราะสภาพบังคับของกฎหมาย นายธาริต ตอบทันทีว่า ผมมาด้วยหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่สมัครใจมา ชัดเจนนะครับ เพราะผมมีมุมมองว่า อำนาจของกมธ. ที่จะมาสอบถามเรื่องในสำนวนการสอบสวน เป็นเรื่องที่ไม่มีอำนาจ แม้ท่านประธานฯ จะยืนยันว่ามีอำนาจ ก็เป็นสิทธิ์ของท่าน แต่ในมุมมองของข้าราขชการประจำ ที่เป็นหน่วยบังคับใช้กฏหมาย ถ้าจะต้องชี้ขาดโดยใครก็แล้วแต่ แต่ก็ยินดีมาปฏิติหน้าที่ตามคำสั่งที่ท่านเรียกมา
นายวัชระ สวนทันทีว่า ถ้าไม่สมัครใจมา แล้วมาทำไม นายธาริต กล่าวว่า ผมก็ไม่อยากโต้แย้งกับท่าน ไม่ได้มีนิคเนมเป็น "แจ็ค สแปร์โร่ " ไม่ได้มุ่งหวังว่าในอนาคตจะมีตำแหน่งอะไรใหญ่โต ก็เป็นเพียงข้าราชการที่ถูกฝ่ายการเมืองเล่นงานมาตลอด ตนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ท่านผู้บังคับก็แจ้งให้มาตามคำสั่งเรียก ตนก็ปฏิบัติตามวินัย
นายวัชระ ถามต่อว่า นายธาริต ได้แถลงข่าวในฐานะกรรมการศอฉ. บ้างหรือไม่ นายธาริต ตอบว่า แถลงครับ ในฐานะกรรมการศอฉ. แต่ไม่เคยบอกว่าเป็นอะไรและพูดถึงคดีต่างๆในกรอบของ ดีเอสไอ
จากนั้นนายวัชระ ได้ขอให้เจ้าหน้าที่เปิดคลิปแถลงข่าวของนายธาริต นายธาริต จึงแย้งขึ้นมาว่า ขอโต้แย้งไม่ให้เปิด และตนไม่ได้ถูกไต่สวนโดยศาล ประธานต้องทำหน้าที่ให้ตรงกับอำนาจหน้าที่ ไม่เช่นนั้นจะโต้แย้งเป็นลายลักษณ์อักษร และจะขออนุญาตลากลับ ไม่ชี้แจง
"มุมมองของผม กมธ.ไม่มีอำนาจให้ผมชี้แจงในฐานะกรรมการศอฉ. ท่านวัชระ เรียกร้องให้ทุกคนเคารพกฎหมาย ผมก็เคารพกฎหมาย แต่เจตนาของกมธ.ต้องการซักฟอก บดขยี้ เล่นงานดีเอสไอ เมื่อมาชี้แจงแต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็จะขอลากลับ ถ้าจะดำเนินคดีกับผมก็ดำเนินคดี "
ด้านนายศุภชัย พยายามไกล่เกลี่ยว่า กมธ.ทำตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ และเห็นว่าหากข้อมูลในคลิปที่เปิดนั้นเป็นเช่นไร นายธาริต ก็สามารถชี้แจงเพิ่มเติมได้ ซึ่งไม่น่ามีความเสียหายใดๆ และอาจเป็นประโยชน์มากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ควรต้องเคารพซึ่งกันและกัน ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะมีความจริงเพื่อบอกไปสู่คนรุ่นหลังได้อย่างไร ถ้าจะให้เหตุผลว่า เรื่องนี้ไม่ได้ อันนี้ไม่ขอชี้แจง แล้วเมื่อไรจะมีความจริง
จากนั้น นายธาริต ได้กล่าวว่า กระบวนการซักถามของประธานกมธ. และนายวัชระ ไม่ตรงตามอำนาจหน้าที่ของกมธ. เป็นการทำการเกินอำนาจ และใช้เวทีนี้จัดการกับข้าราชการประจำ ดังนั้นจะขอไม่ชี้แจง และลากลับ แต่จะทำหนังสือไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแจ้งให้ทราบว่า กมธ.ชุดนี้ทำเกินอำนาจหน้าที่ และต้องการให้ฝ่ายการเมืองทราบว่า ข้าราชการประจำไม่ใช่ลูกไล่ของฝ่ายการเมือง ตนไม่ได้มีอารมณ์ แต่รู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ไม่สร้างสรรค์ ต้องขออภัย ตนจำเป็นต้องทำ และไม่มีทางเลือกทางอื่น จากนั้นนายธาริต ก็เดินอออกจากห้องประชุมไป
ภายหลังจากนั้น นายธาริต ให้สัมภาษณ์ผู็สื่อข่าวว่า มาชี้แจงตามคำเชิญของกมธ. และเป็นไปตามภาระหน้าที่ของตนเอง แต่เมื่อมาแล้ว ประธานคณะกรรมาธิการ และ นายวัชระ เพชรทอง รองประธานฯ ก็ได้ดำเนินการในลักษณะของการซักฟอก พยายามไต่สวนว่าการทำหน้าที่ของ ศอฉ. เป็นอย่างไร ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ใน ศอฉ.นั้น ได้รับคุ้มครองตามกฎหมาย จึงขอโต้แย้งต่อคณะกรรมาธิการชุดนี้ว่า ไม่มีหน้าที่มาซักฟอก หรือค้นหาความจริงในการทำงานของศอฉ. แต่ กมธ. ก็ยังทำการไต่สวนต่อ การกระทำอย่างนี้ถือว่า ทำเกินอำนาจหน้าที่ของกมธ. จึงขอลากลับ ไม่ร่วมการชี้แจงต่อไป และจะทำหนังสือโต้แย้งสิ่งที่กมธ.ทำนั้นเกินอำนาจหน้าที่ ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร
"ผมเป็นข้าราชการประจำคนหนึ่ง และมักจะถูกฝ่ายการเมืองดำเนินการในทำนองนี้ตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นการชี้แจงอะไรก็ตาม ต่อคณะกรรมาธิการ ข้าราชการประจำไม่ใช่ลูกไล่ของฝ่ายการเมืองที่จะทำอะไรได้ตามอำเภอใจตลอดไป ผมเคารพกฎหมาย และก็คิดว่าทุกคนต้องเคารพกฎหมายบ้านเมืองให้อยู่ในกรอบอย่างเหมาะสม แต่การกระทำของฝ่ายอื่นที่เกินจากกฎหมาย ผมก็จะต้องโต้แย้ง" นายธาริต กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ต่อไปจะไม่มาชี้แจงต่อกมธ. อีกแล้วใช่หรือไม่ นายธาริต กล่าว ว่า ตนโต้แย้งกมธ.ชุดนี้เพียงชุดเดียว แต่ถ้าชุดอื่นเชิญ ก็ต้องดูก่อนว่าสาระสำคัญเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าหากเป็นเรื่องที่กมธ. ไม่มีอำนาจ ตนก็พิจารณาไม่มา หรือถ้ามา ก็จะไม่ชี้แจง
ผู้สื่อข่าวถามว่า การไม่ชี้แจงต่อกมธ. จะทำให้สังคมเกิดความสงสัยต่อไป หรือไม่ นายธาริต กล่าว ว่า ไม่เป็นไร เพราะทุกอย่างเปิดเผยอยู่แล้ว ทั้งขบวนการการสอบสวนต่างๆ ก็ทำตามหน้าที่ และคลิปที่นำมาเปิด ก็เป็นสิ่งเปิดเผย สื่อมวลชนก็สามารถไปหาได้ ไม่ได้ห่วงเรื่องเทป เพราะมันเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่ ไม่ใช่เรื่องลับ แต่วิธีการที่เอาข้าราชการประจำมาแล้วทำแบบนี้ มันเกิดอำนาจหน้าที่ของกมธ.
กำลังโหลดความคิดเห็น