พันธมิตรฯ แถลงคัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 มาตรา เอื้อประโยชน์นักการเมือง หนุน ส.ว.ยื่นศาล รธน.วินิจฉัย พร้อมคัดค้านกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านสร้างหนี้สินให้กับชาติ หนุนอดีต สสร.50 ยื่น ป.ป.ช.ฟัน "ปู"พร้อม ครม.ทั้งคณะ เตรียมให้ทนายหาช่องทางเอาผิดเพิ่มเติม
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง แกนนำพันธมิตรฯ แถลงค้านแก้รัฐธรรมนูญ-กู้เงิน 2 ล้านล้าน
เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น.วันนี้(4เม.ย.) ที่บ้านพระอาทิตย์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรุ่นที่ 2 ได้อ่านแถลงการณ์พันธมิตรฯ ฉบับที่ 2/2556 เรื่อง คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองด้วยกันเอง และ คัดค้านกฎหมายกู้เงินมหาศาลสร้างหนี้สินให้กับชาติ โดยมีรายละเอียดดังนี้
“ตามที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เคยจัดการประชุมร่วมกับพี่น้องประชาชน ที่ สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2555 ในการปรึกษาหารือ ระดมความคิดเห็น และที่ประชุมได้มีมติปรากฏเป็นแถลงการณ์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 2/2555 ว่าการชุมนุมครั้งใหญ่นั้นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคงมีความจำเป็นต้องใช้การชุมนุมเพื่อเคลื่อนไหวต่อไป ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ คือ
1. มีการดำเนินการใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายอื่นใด ที่มีความชัดเจนว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
2. มีการดำเนินการใด ๆ ก็ตามไม่ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายอื่นใด ที่มีความชัดเจนว่าจะนำไปสู่การนิรโทษกรรมให้กับนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร และพวก
3. เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองเข้าสู่สถานการณ์ความเหมาะสมที่ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยครั้งใหญ่
ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดเจนว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ประกาศย้ำจุดยืนดังกล่าวอย่างแน่วแน่มั่นคงหลายครั้ง เพราะเป็นที่ชัดเจนว่าตลอดระยะที่ผ่านมาเงื่อนไขการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นมีความคุ้มค่าและประสบผลสำเร็จทุกครั้ง และเงื่อนไขในการชุมนุมที่ได้ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ฉบับที่ 2/2555 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ได้ดำเนินตามฉันทานุมัติของพี่น้องประชาชนอย่างเคร่งครัดทุกประการ จึงเป็นผลทำให้ระยะเวลา 1 ปีเศษ ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลก็ยังไม่ดำเนินการใดๆ ที่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว แต่ประการใด
นอกจากนี้ในมติของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในแถลงการณ์ฉบับที่ 2/2555 ยังกำหนดให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเดินสายจัดเสวนาพบปะกับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ เพื่อเปิดเผยความจริงและขยายให้ข้อมูลความรู้กับประชาชนได้รับทราบและตื่นรู้ถึงความล้มเหลวถึงระบอบเผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อันเป็นสาเหตุและความจำเป็นในการปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่ รวมถึงการนำเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศต่อประชาชนทั่วประเทศนั้น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ได้ปฏิบัติตามแถลงการณ์ดังกล่าวโดยจัดกิจกรรมเดินสายจัดงานเสวนาไปทั่วประเทศตลอดระยะเวลาปีเศษที่ผ่านมารวมทั้งสิ้น 34 จังหวัดแล้ว
อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ได้พบว่าปัญหาของบ้านเมืองในขณะนี้อยู่ในภาวะที่เป็นวิกฤติอย่างหนัก ทั้งในด้านการทุจริตคอรัปชั่น การสร้างหนี้สินของประเทศโดยปราศจากความโปร่งใสและปราศจากความชัดเจน การที่รัฐบาลไทยกำลังเดินหน้ารับอำนาจศาลโลกให้ประเทศไทยมีความสุ่มเสี่ยงในการที่จะเสียดินแดน การที่รัฐบาลไทยเดินหน้าขึ้นราคาพลังงานกับประชาชนอย่างไม่เป็นธรรมและเตรียมเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ด้วยการคงอัตราค่าภาคหลวงในระดับต่ำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน รวมไปถึงความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการกระชับและรวบอำนาจให้กับรัฐบาล ฯลฯ
แม้ประเด็นข้างต้นเหล่านี้จะยังไม่ใช่เงื่อนไขในการชุมนุมทั้ง 3 ประการในขณะนี้ แต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่นำไปสู่วิกฤติของชาติได้ทั้งสิ้น ดังนั้นในช่วงระยะเวลา 1 ปีเศษ ที่ผ่านมา พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงได้เดินสายเพื่อชี้แจงความจริงให้ประชาชนได้รับทราบ สร้างความเข้าใจและตระหนักในปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด
สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นรายมาตรา อันได้แก่ มาตรา 68 มาตรา 111 มาตรา 190 และมาตรา 237 และการเสนอร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ซึ่งจะสร้างหนี้สินให้กับประเทศ 2 ล้านล้านบาทนั้น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเห็นว่าทั้งสองเรื่องดังกล่าวจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงต่อไป ดังนี้
ประการแรก กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 68 นั้น นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลแสดงเจตนาอย่างชัดเจนที่จะลด และริดรอน สิทธิประชาชนในการยื่นคำร้องโดยตรงต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้ประชาชนมีสิทธิ์ยื่นคำร้องผ่านอัยการสูงสุดตามมาตรา 68 ได้เฉพาะในหมวดที่ 3 อันหมายถึงสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเท่านั้น และนั่นหมายความว่าหากนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ซึ่งอยู่ในหมวดที่ 5 เพื่อนำไปสู่การล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ประชาชนจะไม่สามารถยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญได้เลยไม่ว่าจะผ่านอัยการสูงสุดหรือไม่ก็ตาม
อย่างไรก็ตามหากแม้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ในหมวดที่ 3 ก็ยังต้องยื่นต่ออัยการสูงสุด ซึ่งอัยการต่างได้รับผลประโยชน์และตำแหน่งจากการเป็นคณะกรรมการในกิจการรัฐวิสาหกิจจากรัฐบาลกลายเป็นผู้ขัดขวางไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิยื่นคำร้องต้องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการลดอำนาจประชาชน และเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายรัฐบาล หลีกเลี่ยงและขัดขวางกระบวนการตรวจสอบจากประชาชนไม่ให้เข้าถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลดังกล่าวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เช่นนี้
ประการที่สอง กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 190 นั้น เป็นสิ่งที่อันตรายต่อประเทศชาติ เพราะได้ตัดหนังสือสัญญา 3 กลุ่มใหญ่ออกจากมาตรา 190 ปัจจุบัน อันจะทำให้หากสำเร็จกิจด้วยเสียงข้างมาก หนังสือสัญญา 3 ประเภทต่อไปนี้จะไม่ต้องนำเข้ามาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกต่อไป ได้แก่ 1. หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ 2. หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง และ 3. หนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ถือเป็นการทำลายการถ่วงดุลตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างชัดเจน และยังล้มเลิกกระบวนการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมอีก 4 ขั้นตอนตามมาตรา 190 เดิม อันได้แก่ การล้มเลิกขั้นตอนที่คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ล้มเลิกขั้นตอนคณะรัฐมนตรีต้องชี้แจงต่อรัฐสภา และเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภา ล้มเลิกขั้นตอนก่อนแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น ล้มเลิกขั้นตอนในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม ถือเป็นการรวบอำนาจตัดกระบวนการตรวจสอบทั้งจากฝ่ายนิติบัญญัติและประชาชน รวมถึงตัดสิทธิ์ประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการสัญญาระหว่างประเทศของรัฐบาลอีกด้วย ด้วยเหตุผลดังกล่าวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เช่นนี้
ประการที่สาม กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 111 เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาเพิ่มจำนวนเป็น 200 คน ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และไม่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง และทำให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งที่จะหมดวาระในเดือนมีนาคม 2557 สามารถสมัครรับเลือกตั้งต่อได้ทันที ในกรณีดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจนว่ารัฐบาลซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ต้องการให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งในเบ้าหลอมลักษณะเดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันจะเป็นผลทำให้สมาชิกวุฒิสภาต้องอาศัยฐานเสียงเดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และต้องอาศัยอิทธิพลและระบบอุปถัมภ์เดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังปรากฏเห็นได้ชัดเจนในทุกวันนี้ว่าสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกับฝ่ายรัฐบาลได้จริง และทำให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งจำนวนมากได้ปฏิบัติตัวเป็นทาสของฝ่ายรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็ยังมีความมุ่งหมายให้กระบวนการแต่งตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งต้องมาจากสมาชิกวุฒิสภานั้นยังคงอยู่ภายใต้อำนาจทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งจะเป็นผลทำให้เกิดการรวบอำนาจและทำให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไม่สามารถตรวจสอบอำนาจรัฐบาลได้จริงเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวนี้เองเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีการเพิ่มวาระให้กับสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ให้สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ อีกทั้งยังมีสมาชิกวุฒิสภาได้เข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวด้วย จึงย่อมอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์และย่อมขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 122 อย่างชัดเจน ด้วยเหตุผลดังกล่าวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 111 เช่นนี้
ประการที่สี่ กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 237 เพื่อนำไปสู่การยกเลิกโทษยุบพรรคการเมือง และการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคการเมือง กรณีดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจนว่านักการเมืองเหล่านี้ไม่มีความจริงใจที่จะเพิ่มบทลงโทษรุนแรงกับผู้ที่กระทำความผิดทุจริตเลือกตั้งหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งผู้เสนอทั้งหมดก็จะได้ประโยชน์ต่อพรรคการเมืองและตำแหน่งของตนเองจึงถือเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์และย่อมขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 122 อย่างชัดเจน ด้วยเหตุผลดังกล่าวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เช่นนี้
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงขอคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 4 มาตรา และขอสนับสนุน เห็นด้วย และให้กำลังใจสมาชิกรัฐสภาที่ได้ยื่นคำร้องต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยในข้อกฎหมายดังกล่าวว่าเป็นการกระทำที่ขัดกันกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญทั้งประเด็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญนี้ และเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของสมาชิกรัฐสภา ทั้งนี้แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีมติมอบหมายให้ทนายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ไปปรึกษาหารือกับนักวิชาการและนักกฎหมายเพื่อศึกษาข้อกฎหมายเพิ่มเติม และหากพบประเด็นหรือช่องทางเพิ่มเติมหรือบทลงโทษต่อผู้ที่กระทำความผิดตามกระบวนการยุติธรรม ก็ให้ดำเนินการทางกฎหมายต่อเนื่องจนถึงที่สุด
ประการที่ห้า การเสนอร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ซึ่งจะสร้างหนี้สินให้กับประเทศ 2 ล้านล้านบาทนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว หลีกเลี่ยงในวิธีพิจารณางบประมาณโดยปรกติ ไม่มีความชัดเจนและรายละเอียดเนื้อหาของแต่ละโครงการ และยังมีบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 169 ที่ไม่นำเงินส่งคลังตามกฎหมายวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และยังให้อำนาจให้กระทรวงการคลังนำเงินจากการกู้ไปให้กู้ต่อแก่หน่วยงานของรัฐเพื่อนำไปใช้จ่ายได้อีกด้วย ในขณะที่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 169 กำหนดให้การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวข้องด้วยการโอนงบประมาณหรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง กรณีดังกล่าวจึงเป็นร่างกฎหมายที่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
และในเมื่อกรณีดังกล่าวคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบด้วยแล้ว พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงเห็นด้วย และขอสนับสนุน พร้อมให้กำลังใจในการที่อดีต สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ลงโทษต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อไป และเห็นด้วย และขอสนับสนุน พร้อมให้กำลังใจสมาชิกรัฐสภาที่จะยื่นคำร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 นี้ต่อไป
แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงขอคัดค้าน ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ และมีมติมอบหมายให้ทนายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ไปปรึกษาหารือกับนักวิชาการและนักกฎหมายเพื่อศึกษาข้อกฎหมายเพิ่มเติม และหากพบประเด็นหรือช่องทางเพิ่มเติมหรือบทลงโทษต่อผู้ที่กระทำความผิดตามกระบวนการยุติธรรม ก็ให้ดำเนินการทางกฎหมายต่อเนื่องจนถึงที่สุด
ด้วยจิตคารวะ
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
4 เมษายน 2556
ณ บ้านพระอาทิตย์"
หลังจากนั้น ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี จะมีการจัดชุมนุมใหญ่หรือไม่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ที่เรามาร่วมชุมนุมคัดค้านต่อต้าน ว่าไม่มีชนชาติใดในโลกที่จะทรหดอดทนแบบเรา ไปกินไปนอนบนถนนร่วมแล้ว 348 วัน เมื่อมีสถานการณ์เกิดขึ้น เราในฐานะที่ติดตามการเมืองมาอย่างกระชั้นชิด พันธมิตรจะเรียกประชุมด่วนตัดสินใจได้ทันที มีปรากฏการณ์ในอดีตที่ผ่านมาเราอย่างนี้ทุกครั้ง จึงขอเรียนต่อผู้สื่อข่าวว่าเรายังทำเหมือนเดิม คือทำตามสถานการณ์ เรื่องนี้ไม่ต้องห่วงเร็วมาก แบบที่แล้วมาไม่มีอะไรชักช้าเลย ขอให้มีการประเมินอย่างรอบคอบตัดสินใจอย่างรอบคอบแล้วเราจะไม่ผิด ที่ทำมาแล้วเราทำสำเร็จอยู่ทุกครั้งของการชุมนุม
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า แสดงว่าจะมีการชุมนุมหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะวิกฤต พล.ต.จำลอง กล่าวว่าก่อนจะทำอย่างงั้นต้องประชุมก่อน เมื่อประชุมแล้วใช้ความรอบคอบอย่างเต็มที่ ว่าจะชุมนุมหรือไม่ชุมนุม พร้อมย้ำว่าทั้งหมดนี้คือการประกาศจุดยืน เพราะสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้นในทางการเมืองที่ประชาชนอึดอัดคือการแก้รัฐธรรมนูญ 4 มาตรา และการเสนอร่างพ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้าน นี้คือสิ่งที่ไม่เห็นด้วย เพราะมีการถามถึงท่าทีของพันธมิตรว่าเป็นยังไง ถึงได้มีการแถลงในวันนี้วาไม่เห็นด้วย ซึ่งมีการดำเนินการอยู่ 3 อย่าง 1.ให้กำลังใจ 2.แสดงความเห็นด้วย และ3.ขอสนับสนุนองค์กรใดบุคคลใดก็ตามที่คัดค้านทั้ง 2 เรื่อง
ส่วนจะดูสถานการณ์ไปถึงเมื่อไรนั้น พล.ต.จำลอง กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่เกิด ไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้ แล้วแต่กรณีคอยติดตามเป็นระยะ จะไปบอกก่อนไม่ได้ ยืนยันว่ามาวันนี้เพื่อให้เบาใจว่าได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด และได้ทำตามการบ้านของเราที่แถลงไปเมื่อ 10 มีนาคม 2555 ที่สวนลุมพินี ว่า ประเด็นที่จะชุมนุมมีอยู่ 3 ประเด็นและจะต้องมีการประชุม ซึ่งเห็นว่ามีแต่จะแก้รัฐธรรมนูญ จึงมีการเดินหน้าปฏิรูปประเทศผ่านการเสวนาถึง 34 จังหวัด ทำตามคำมั่นสัญญากับประชาชนพร้อมแสดงจุดยืนทุกครั้ง ยันไม่ได้อยู่เฉยๆ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ค่อยให้กำลังใจ สนับสนุนคนที่ต่อต้าน และมีการประชุมผู้รู้ว่ามีทางไหนบ้างที่จะดำเนินการทางกฏหมายในการฟ้องร้อง
ขณะที่เรื่องปราสาทเขาพระวิหารนั้น แกนนำพธม. กล่าวว่า จะอยู่ในข้อที่ 3 เมื่อเหตุการบ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ความเหมาะสมที่ประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลง และตอนนี้มันยังไม่ถึงขั้นนั้น พร้อมย้ำว่าได้แถลงจุดยืนมาหลายครั้งแล้วว่า ให้รัฐบาลประกาศอย่างเป็นทางการไม่รับอำนาจศาลโลกซึ่งหลายประเทศก็เคยทำ จึงไม่จำเป็นต้องแสดงจุดยืนอีก ส่วนข่าวที่จะมีการปฏิวัติ พล.ต.จำลอง ได้ถามกลับว่าใครจะทำ มีแต่หนังสือ "ปฏิวัติสุขภาพ" ของอ.ปานเทพ