xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ย้ำค้านแก้ รธน. ชี้ลิดรอนสิทธิ ปชช. “นิคม” จ๋อย! ปชป.เบรกนั่ง ปธ.ขณะจ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อภิสิทธิ์” ย้ำไม่เห็นด้วยแก้ รธน. แนะยึดหลัก 3 ป. ทุกฝ่ายต้องเห็นพ้อง ซัดลิดรอนสิทธิ รวบอำนาจ สับคนทำหน้าที่ไม่คิดถึงหลักใหญ่ ชำเรากี่ครั้งก็แก้ปัญหาไม่ได้ ด้านเพื่อไทย อ้างไม่เป็นประชาธิปไตยลูกเดียว ขณะ “นิคม” โผล่เตรียมนั่งบัลลังก์ เจอ “เจะอามิง” เบรกลั่นไม่อภิปรายหากนั่ง ปธ.จนต้องถอยให้ “ค้อนปลอม” อยู่ต่อแทน



 คลิกที่นี่ ฟังเสียง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  


วันนี้ (2 เม.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมร่วมรัฐสภาวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 3 ฉบับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ตนขอย้ำจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยกล่าวถึงหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าต้องยึดหลัก 3 ป. คือ ประชาธิปไตย ปฏิรูปและปรองดอง คือถ้าเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นก็น่าสนับสนุน ปฏิรูปหมายถึงถ้าเป็นปัญหาในเชิงระบบไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพความโปร่งใส จะแก้เพื่อให้ระบบมีความโปร่งใสมากขึ้นก็ยินดีที่จะสนับสนุน ส่วนปรองดองนั้นหมายถึงรัฐธรรมนูญคือกติกาสูงสุดของประเทศ การแก้ไขที่ดีที่สุดคือแก้ในประเด็นที่ทุกฝ่ายเห็นพ้อง โดยต้องถอดสถานะของตัวเองในขณะนั้นออกเพราะไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน รัฐบาล วุฒิสภา หรือจะเป็นประชาชน ร่างแก้ไขเพิ่มเติมทั้งสามร่างไม่เข้าหลักทั้ง 3 หลัก

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สังคมประชาธิปไตยมีหลายปัจจัยไม่ใช่ว่าเลือกตั้งแล้วจะเป็นประชาธิปไตย เพราะไม่ใช่หลักประกันความเป็นประชาธิปไตยของระบบการเมืองและสังคม เสียงข้างมากมีความสำคัญแต่ต้องเคารพเสียงข้างน้อย และความเห็นแตกต่างไม่ให้นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง จึงจะเป็นประชาธิปไตย แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการลิดรอนสิทธิประชาชน 2 ร่าง ส่วนอีก 1 ร่างก็นำไปสู้การรวบอำนาจมากยิ่งขึ้น โดยร่างแรกคือการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 นั้นได้เคยมีการแก้ไปแล้วในสมัยที่ตนเป็นรัฐบาล และได้เขียนกฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าหนังสือสัญญาแบบใดที่ต้องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการแก้ไขให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารก็ควรนำกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภา ซึ่งเชื่อว่าสภาจะพิจารณาด้วยความยืดหยุ่น และขอตั้งข้อสังเกตว่าการที่รัฐบาลไม่เสนอกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภา เพราะมีเจตนาที่จะแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 เพื่อปิดช่องประชาชนในการมีส่วนร่วมและลดอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมีการลิดรอนสิทธิประชาชนที่จะมีส่วนร่วมในการเจรจาการค้า การลงทุนระหว่างประเทศที่จะกระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาคนที่ถืออำนาจรัฐใช้สถานะตัวเองไปเอื้อธุรกิจของตัวเองสร้างความเดือดร้อนให้คนในประเทศ

“ผมได้ไปค้นบันทึกผู้จัดทำร่าง รธน.ปี 50 มีการใช้คำว่า “เขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ” เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล จึงอยากสอบถามว่าการตัดข้อความดังกล่าวออกไปมีจะผลอย่างไร ยืนยันได้หรือไม่ว่าคำว่า เขตอำนาจรัฐในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 นี้จะครอบคลุมถึงเรื่องเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือไม่ เพราะกำลังจะมีการเจรจาผลประโยชน์ทางทะเล สิ่งเหล่านี้จะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาหรือไม่” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ในสมัยที่ตนเป็นรัฐบาลมีการแก้ไขมาตรา 190 พรรคเพื่อไทยเคยเรียกร้องให้นำเรื่องสัญญาการกู้เงินต่างประเทศให้อยุ่ในข่ายที่ต้องเสนอรัฐสภาพิจารณาด้วย ซึ่งตนก็เห็นด้วย แต่ในวันนี้รัฐบาลกลับตัดข้อความนี้ออกไปไม่ต้องนำเข้าสภา

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดว่ากรรมการบริหารพรรคไม่ต้องร่วมรับผิดชอบกับการทำผิด และยังมีการกำหนดในมาตรา 5 พ่วงการนิรโทษกรรมย้อนหลังให้กับผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากการยุบพรรคด้วย พร้อมกับตั้งข้อสงสัยว่าจากเรื่องมาตรา 237 โยงมาถึงมาตรา 68 ได้อย่างไร เพราะไม่เคยอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯมาก่อน แต่แถมเข้ามาเพื่อตัดสิทธิไม่ให้ประชาชนยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อพบว่ามีการล้มล้างการปกครอง หรือล้มล้างรัฐธรรมนูญ และที่อ้างว่าต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดความชัดเจนก็ฟังไม่ขึ้น เพราะปัญหานี้จบไปตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าประชาชนสามารถยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งถือว่ามีผลผูกพันทุกองค์กร ตนจึงสงสัยว่าที่แก้สวนทางกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ประชาชนใช้สิทธิผ่านอัยการได้ช่องทางเดียว แทนที่จะยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ด้วย เป็นเพราะมีเจตนาจะไม่ให้ประชาชนร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่

“ความน่าห่วงใย คือ เมื่อแก้แล้วเรื่องที่เคยเป็นคดีต่อไปจะเป็นอย่างไร เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสมควรไปทำประชามติเสียก่อน และเขียนด้วยว่าหากมีการร่างรัฐธรรมนูญพบว่ามีการล้มล้างการปกครองประชาชนมีสิทธิร้องได้ แต่ถ้าแก้ไขเสร็จประชาชนจะร้องได้ที่อัยการอย่างเดียว ซึ่งอัยการเคยมีความเห็นแล้วด้วยว่าไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้สงสัยว่าเป็นใบเบิกทางไปสู่การรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ จึงขอให้ยืนยันว่าจะทำเรื่องนี้หรือไม่ เพราะมีการลิดรอนสิทธิประชาชน ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีผลในการปฏิรูป แต่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนมาตรา 237 ประเด็นที่มาของ ส.ว. จะอาศัยหลักเดียวว่าเลือกตั้งดีกว่าไม่เลือกตั้งไม่ใช่คำตอบ เพราะปัจจุบันวุฒิสภาไม่มีผลต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี การไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐบาล หรือชี้นำในเรื่องกฎหมาย เพราะสุดท้ายเป็นสิทธิของสภาที่จะไม่เอาตามวุฒิสภาได้ แต่วุฒิสภาทำหน้าที่ 2 อย่าง คือ กลั่นกรองกฎหมาย ต้องการผู้ทรงคุณวุฒิ และมีผลต่อการเลือกองค์กรอิสระและการถอดถอนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง จึงต้องการคนที่มีความเป็นกลางทางการเมือง ปัญหาจึงมีอยู่ว่า การเลือกตั้งโดยตรงแม้จะห้ามไม่ให้สังกัดพรรคการเมือง จะเป็นหลักประกันได้จริงหรือไม่ และเห็นว่าการแก้ไขประเด็นนี้ถอยหลังมากกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 เพราะกำหนดให้ ส.ว.ลงสมัครเลือกตั้งติดต่อกันได้โดยไม่ต้องเว้นวรรค ทำให้วุฒิสภาเหมือนสภาผู้แทนราษฎร เพียงแต่ลงเลือกตั้งไม่เปิดเผยว่าสังกัดพรรคไหนเท่านั้น จึงไม่ใช่การปฏิรูป สอดคล้องกับแนวคิดรุกคืบรวบอำนาจ เพื่อหวังผลเสียงสนับสนุนจากบุคคลที่ต้องการเป็นวุฒิสภามากกว่า 1 วาระ

นายอภิสิทธิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาที่ทำให้บรรยากาศการประชุมสภาไม่ราบรื่น เป็นเพราะคนที่ทำหน้าที่ไม่คิดถึงหลักใหญ่ ไม่แยกแยะว่าการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองมีความขัดกันของผลประโยชน์หรือไม่ ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาของการเมืองไทยมาโดยตลอด ดังนั้นไม่ว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อีกกี่ครั้งก็แก้ปัญหาไม่ได้ การให้สัมภาษณ์ของนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ยืนยันว่าไม่ถอนตัวทำหน้าที่ประธาน เชื่อว่าประชาธิปัตย์ประวิงเวลาตีรวนแก้ รธน. จึงขอยืนยันว่าพวกตนไม่ได้ประวิงเวลา เพราะตกลงกันเรียบร้อยแล้วว่าจะอภิปราย3วัน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้เปิดทางให้นายนิคมแล้วว่า ไม่ได้ห้ามปฏิบัติหน้าที่แต่ขอให้ถอนชื่อ ทั้งที่เราไม่่เชื่อว่าท่านถอนชื่อแล้วใจจะกลับมาเป็นกลาง แต่ต้องการรักษาความสง่างามและความถูกต้องของผู้ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาในที่ประชุม หากยังไม่ทำตัวให้เป็นแบบอย่างว่าต้องทำทุกอย่างตามเจตนารมณ์ของวิถีประชาธิปไตย ยึดความถูกต้อง มีธรรมาภิบาล ไม่ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญอีกกี่ครั้งก็แก้ปัญหาไม่ได้

“จึงขอยืนยันว่าไม่สามารถรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่างได้ เพราะ 2 ร่าง เป็นการตัดสิทธิประชาชน ไม่ทำให้การเมืองดีขึ้น ส่วนอีก 1 ร่าง เป็นการรุกคืบทางอำนาจและต่อรองผลประโยชน์” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้อภิปรายสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันว่าไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็นอุปสรรคใหญ่ขัดขวางการพัฒนาประเทศ อาทิ นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่ามาตรา 190 ต้องมีการแก้ไข เพราะมีตัวอย่างที่ทำให้ตัวแทนของรัฐบาลขายขี้หน้า กรณีที่ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศจีน และประเทศไทย ร่วมหารือและมีข้อตกลงคุ้มครองการเดินเรือขนส่งสินค้าในแม่น้ำโขง หลังจากเกิดเหตุเรือขนส่งสินค้าโดนปล้น แต่เมื่อมีข้อตกลงกันแล้ว ผู้แทนรัฐบาลไทยไม่สามารถลงนามข้อตกลงดังกล่าวได้ เพราะเกรงว่าจะขัดมาตรา 190 จึงต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเห็นชอบก่อน ทั้งนี้ในบทบัญญัติ มาตรา 190 ที่แก้ไขยังคงระบุเรื่องเขตอำนาจอธิปไตยจึงถือว่าหากมีสัญญาระหว่างประเทศไทยที่ทำให้ไทยเสียดินแดนก็ค่อยให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติ

ด้านนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญทำให้ไทยเสียโอกาสพัฒนาประเทศ เมื่อกฎหมายมีปัญหาก็ควรแก้เพื่อทำให้การพัฒนาประเทศง่ายขึ้น ไม่ใช่ไปอดทนยอมรับต่อสิ่งที่มีปัญหาอย่างนี้ ส.ว. วันนี้มีอำนาจมากมาย แต่มีความขัดแย้งสูง บางคนทำตัวเป็นฝ่ายค้าน บางคนเป็นฝ่ายแค้น ไม่วางตนเป็นกลาง ทำงานไม่ยึดโยงกับประชาชน ทำให้ประชาชนเสียโอกาส ถ้ามาจากประชาชนก็จะเข้าใจว่าประชาชนต้องการอะไร จึงอยากให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ส่วนมาตรา 190 ที่ให้รัฐสภาอนุมัติทุกเรื่องเกี่ยวกับการทำสนธิสัญญาระหว่างจะต้องแก้ไข เพราะที่ผ่านมาทำให้เราเสียเวลา เสียโอกาส เช่น กรณีองค์กรนาซา จะเข้ามาศึกษาก้อนเมฆในชั้นบรรยากาศ เพื่อการวิทยาศษสตร์ แต่ก็ทำให้เสียโอกาส เพราะบางฝ่ายไปข่มขู่ว่าถ้าทำจะยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ทำตามมาตรา 190

ทั้งนี้ ในระหว่างที่นายเจะอามิง โต๊ะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นอภิปรายเป็นคนต่อไป นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เดินมาสับเปลี่ยนกับนายสมศักดิ์เพื่อทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ทำให้นายเจะอามิงทักท้วงว่า นายนิคมจะขึ้นมาทำหน้าที่ประธานไม่ได้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมรับการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมของนายนิคม หากนายนิคมเป็นประธาน ตนจะไม่อภิปราย ทำให้นายนิคมถึงกับหน้าเจื่อนและยอมเดินลงจากบัลลังก์เพื่อให้นายสมศักดิ์ดำเนินการประชุมต่อจนจบ จากนั้นนายนิคมจึงได้ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นครั้งที่สองของวันนี้

นอกจากนี้ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ยังได้อภิปรายตำหนิการทำหน้าที่ประธานที่ประชุมของนายสมศักดิ์ว่า ไม่สนใจการอภิปรายของสมาชิก เนื่องจากขณะที่นั่งอยู่บนบัลลังก์ยังรับโทรศัพท์ ไม่ทราบว่ามีใครที่ใหญ่กว่าประธานโทร.มาจนต้องรับสายหรือไม่ ทำให้นายสมศักดิ์รีบชี้แจงว่าเป็นการรับโทรศัพท์เพื่อประสานงานในสภา










ยื่นศาลฯเบรกแก้รธน. ตุลาการฯถกด่วนวันนี้
ASTVผู้จัดการรายวัน-ฝ่ายค้านบอยคอตไม่อภิปรายช่วงนิคมขึ้นนั่งบัลลังก์เป็นประธาน พร้อมประกาศไม่รับร่างแก้ไขรธน. ทั้ง 3 ร่าง ชี้ขัดหลัก 3 ป. แถม ปิดหู ปิดตา ประชาชน เพิ่มอำนาจรัฐบาล ด้าน ส.ว.สมชาย ยื่นศาลรธน. ขอให้สั่งระงับการแก้รธน. มาตรา 68 , 237 ชี้เข้าข่าย ลิดรอนสิทธิประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างการปกครองฯ พร้อมให้ยุบ 6 พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล และสั่งระงับการพิจารณาแก้ไข ขณะที่ศาลรธน.นัดถกด่วน วันนี้ การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 5 สมัยสามัญนิติบัญญัติ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พุทธศักราช ….
กำลังโหลดความคิดเห็น