xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.วอล์กเอาต์ประท้วง “นิคม” ดื้อไม่ลงบัลลังก์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาป่วนรอบสอง หลัง “สุนัย” อ้าง “พัลลภ” กล่าวหาประธานศาลฎีกา-เลขาศาลฎีกา คนวางแผนยึดอำนาจ ส.ส.ปชป. ลุกฮือให้ถอนคำพูด “นิคม” เล่นทีเผลอเข้าเสียบประธานที่ประชุม “จุรินทร์” ประท้วงต่อขาดความชอบธรรม แต่เจ้าตัวยังดื้อ ท้ายที่สุด ส.ส.ปชป.วอล์กเอาต์ทั้งหมด เหลือ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล-ส.ว.อภิปรายต่อ

วันนี้ (1 เม.ย.) ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาและอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... จำนวน 3 ฉบับ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนในการตรวจสอบการทำหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ตนเคยแสดงความเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ เพราะมีกระบวนการแก้ไขชัดเจน การแก้ไขแต่ละมาตราต้องแก้ไขข้อบกพร่องให้เปลี่ยนแปลง แต่ต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบว่าเหตุผลการแก้ไขเป็นอย่างไร และประเทศชาติกับประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร หากแก้ไขเพื่อประโยชน์พวกพ้อง รัฐธรรมนูญที่แก้ไขก็ไม่มีความคงทนถาวร

ทั้งนี้ การแก้ไขมาตรา 68 เรื่องที่มาของ ส.ว.นั้น เป็นการแก้ไขเพื่อตัดการถ่วงดุลอำนาจ ส.ว. สรรหา และเอื้อประโยชน์ให้กับ ส.ว.เลือกตั้ง โดยไม่ต้องเว้นวรรคในการลงสมัครรับเลือกตั้ง และสามารถลงสมัครได้ทั้งที่ยังไม่หมดวาระเดิมได้ รวมทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาให้นักการเมืองไม่ต้องถูกยุบพรรค แก้ไขปัญหาให้ผู้บริหารพรรคไม่ต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ ส.ว.เลือกตั้งเสพติดทางอำนาจ จึงยังไม่เห็นจุดใดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร

ส่วนมาตรา 68 ที่บัญญัติให้ประชาชนไปเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดโดยตรงนั้น ที่ผ่านมามีผู้ยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุด แต่การพิจารณาก็ไม่คืบหน้า ซึ่งหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้สำเร็จ ก็เท่ากับว่าเป็นการแก้ไขโดยยกอำนาจของประชาชนไปให้อัยการสูงสุด ซึ่งเรื่องที่สำคัญของประเทศชาติไม่ควรอยู่ที่กำมือคนคนเดียว ทั้งที่รัฐบาลพูดมาตลอดว่าอยากให้ประเทศเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แต่หากดำเนินการดังกล่าวเท่ากับว่าตรงข้ามสิ่งที่รัฐบาลพูดอย่างสิ้นเชิง เพราะการดำเนินการแบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากเผด็จการที่พวกท่านรังเกียจ จึงมองว่าเรื่องนี้ขัดรัฐธรรมนูญ

ด้านนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ประชาชนจะไม่ได้อะไร เพราะเป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แต่ทั้ง 3 ร่างที่เสนอมาเป็นการแก้ไขเพื่อตัวเองทั้งสิ้น ตนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีปัญหาเรื่องประชาธิปไตย หรือเผด็จการ วิธีการเสนอก็มีเจตนาปกปิด เป็นที่ครหาจากประชาชนแน่นอนว่าผลัดกันเกาหลัง ส่วนการแก้มาตรา 68 เป็นสิ่งยืนยันได้ว่าแก้ไขเพื่อใคร เป็นการเอาอำนาจของรัฐไว้แล้วสละอำนาจประชาชนออกไป เพราะการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งที่แล้ว สร้างความเจ็บปวดให้บางคน ส่วนมาตรา 237 แก้ไขเพื่อปล่อยให้ ส.ว.ที่มีอยู่กลับเข้าไปเป็นได้อีก เพราะรัฐธรรมนูญห้ามไว้ เพราะเกรงว่าจะขาดคความเป็นกลางทางการเมือง จึงมีการห้ามชัดเจนเรื่องการดำรงตำแหน่ง ส.ว.ไม่ได้ห้ามเฉพาะ ส.ว. แต่ห้ามการเมืองทั้งระบบ เพราะไม่ต้องการให้ไปฝักใฝ่ยืนข้างอำนาจรัฐเป็นการป้องกันปัญหาทั้งระบบ

นอกจากนี้ รัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาต้องการหลีกหนีการตรวจสอบ ด้วยการแก้ไขมาตรา 190 เป็นปัญหาเพียงหลักการทั่วไปว่าจะไปสัญญากับใครต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ทำให้รัฐบาลรู้สึกรำคาญ เพราะหากต้องการจะแก้ไขเรื่องเหล่านี้ ไม่จำเป้นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ สามารถออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้

“ทั้งหมดเป็นปัญหาทางหลักการ ไม่เกี่ยวกับเป็นประชาธิปไตย ไม่มีประโยชน์ให้กับประชาชน มีแต่เจ้าของปัญหาได้ประโยชน์ทั้งสิ้น เหมือนที่เหมา เจ๋อตง บอกวิธีอย่างนี้ตัดเท้าให้เท่ากับรองเท้า สภานี้ต้องใคร่ครวญให้รอบคอบ ถ้าจะแก้ไขเรื่องใดเรื่องหนึ่งต้องเป็นทั้งระบบ ทำไมรัฐบาลไม่กล้าทำประชามติเพื่อขอทำใหม่ การเดินสู่หนทางประชาธิปไตย ต้องคิดถึงประชาชนไม่ใช่คิดถึงตัวเอง” นายชำนิกล่าว

จากนั้นเวลา 16.00 น. นายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีความบกพร่องในเรื่องที่มาและที่สำคัญบกพร่องในเรื่องเนื้อหาสาระ เพราะมีบทบัญญัติที่ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างชัดเจนมากมาย 1. รัฐธรรมนูญ 50 ไม่ได้สร้างดุลยภาพทางการเมืองที่เหมาะสมระหว่าง 3 อำนาจ 2. ระบบถ่วงดุลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ล้มเหลวและขัดกันซึ่งผลประโยชน์ เพราะผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็นฝ่ายตรวจสอบผู้ที่ทำหน้าที่สรรหา 3. ไม่มีการเคารพหลักอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชน จะเห็นได้ชัดจากการที่เรามี ส.ว.สรรหาอยู่ 4. บทบัญญัติที่ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน ตามที่สมัยนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้ตั้งไว้ คือ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้ระบุไว้ในรายงาน ข้อ 5.3 ว่า “บทบัญญัติมาตรา 237 และมาตรา 309 ก็ดี ล้วนขัดหลักนิติธรรมอย่างรุนแรง”

ทั้งนี้ ถ้าในอนาคตมีการเสนอแก้ไขมาตรา 309 ตนจะเป็นคนแรกที่ลงชื่อ เพราะประการแรก หลักนิติธรรมมาจากกระบอกปืนไม่มี ประการที่ 2 กฎหมายทั่วไปผ่านที่ประชุมร่วมรัฐสภา ถูกตีความว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ แต่สิ่งที่คณะปฏิวัติทำกลับชอบด้วยรัฐธรรมนูญจนชั่วกัลปาวสาน เป็นไปไม่ได้ ประการสุดท้าย คำสั่งคณะปฏิวัติด้วยกันเอง เช่น คำสั่ง รสช.ยังถูกตีความขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่คำสั่งคณะปฏิวัติ ภายใต้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน มีสิทธิ์เหนือคนอื่นได้อย่างไร ซึ่งขัดกันโดยสิ้นเชิง ตนคิดว่ากติกาของรัฐธรรมนูญเป็นกติกาของประเทศ ไม่มีการแก้เพื่อเรื่องส่วนตัวได้ ในส่วนมาตรา 68 ประเทศไทยไม่ได้ปกครองด้วยระบบกฎหมายแบบจารีตประเพณีที่ศาลไปสร้างคำพิพากษาเสมือนหนึ่งสร้างกฎหมายขึ้นมาเอง สร้างบรรทัดฐานเองขัดต่อหลักการแบ่งแยกซึ่งอำนาจ จึงมีความจำเป็นที่รัฐสภาจะต้องมีการแก้ไขเพื่อให้เกิดความชัดเจน ต้องเขียนให้ชัดว่ายื่นขัดรัฐธรรมนูญต่อศาล สามารถยื่นผ่านกี่ช่องทาง ไม่ใช่เกิดการตีความจนสร้างความสับสน

ขณะที่มาตรา 237 เราไปลงโทษผู้ที่ไม่มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น ซึ่งโทษเช่นนี้ทางกฎหมายอาญาเรียกว่า การกระทำผิดของหมู่คณะ ซึ่งขัดในแง่ทั้งสารบัญญัติและสบัญญัติและขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง โดยทางกฎหมายอาญา มาตรา 42 (2) ให้สิทธิการต่อสู้คดี ให้โอกาสพิสูจน์ความยุติธรรม แต่มาตราดังกล่าวผู้ที่ถูกตัดสิทธิไม่มีสิทธิแม้แต่จะตั้งทนายสู้คดี

มาตรา 190 มีความจำเป็นต้องแก้ไขไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของฝ่ายบริหารและหลีกเลี่ยงการตีความ “ในการทำสนธิสัญญาใดๆ ก็ตามที่มีผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต กระทบต่อเขตอำนาจรัฐ ต้องออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติโดยผ่านความเห็นชอบรัฐสภา” คำว่า “อาณาเขตนอกราชอาณาจักร” ในมาตรา 150 เป็นถ้อยคำที่ฟุ่มเฟือย ไม่ได้ตัดสาระอะไรออกไป อย่าไปวิตกจริตก่อน ความจำเป็นในการัตดบทบัญญัติวรรคสองของมาตรานี้ เพราะเท่ากับเราไม่เคารพในหลักการแบ่งแยกซึ่งอำนาจ กำลังให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ แทรกแซงการทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร คำว่าผลกระทบอย่างกว้างขวางให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน เท่ากับให้อำนาจศาลแทรกแซงฝ่าบยบริหารโดยตรง ดังนั้น ถ้าทุกเรื่องต้องเข้าสภาฯ หมด ไม่จำเป็นต้องมีฝ่ายบริหารแล้ว ฝ่ายตุลาการก็ทำหน้าที่แทนฝ่ายบริหารแล้ว

เช่นเดียวกับ มาตรา 111 ที่มาของ ส.ว. เรากลับไปตัดสิทธิการเลือกของประชาชน รวมถึงมาตรา 274 กระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์กรอิสระ กระทำโดย ส.ว.ต้องได้รับเสียง 3 ใน 5 หรือ 90 เสียง ก็ในเมื่อผู้ที่ทำหน้าที่สรรหากับผู้ถูกสรรหาตรวจสอบกันเองอย่างนี้ กระบวนการถ่วงดุลตามรัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่ได้อย่างไร และไม่ควรไปจำกัดสิทธิอื่นๆ ของ ส.ว.ด้วย

จากนั้นเวลา 16.55 น. นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนไม่ได้รังเกียจ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง และที่น่ากลัวที่สุดคือ มาตรา 111 คือ ส.ว.แต่งตั้ง ซึ่งเป็นเลขสัญลักษณ์ของความไม่เป็นธรรมในบ้านเมืองนี้ แต่ที่ตนแปลกใจที่สุดคือ คนยึดอำนาจ คนที่แสดงตัวเป็นประชาธิปไตยแต่ใฝ่เผด็จการ สำนวนจีนบอกคนพวกนี้คือปีศาจ ปากคาบคัมภีร์ ถึงได้เกิดการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอยากถามว่า มาตรา 113 ที่บอกว่าการดึงอำนาจศาลมาเป็นบุคคลสรรหา ส.ว.จะมีความสามารถสรรหาได้จริงหรือ แล้วใครเป็นผู้สรรหา ใช่คนที่อยู่ข้างหลัง เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติตัวจริงหรือไม่ และผู้ที่มีอำนาจแต่งตั้ง ส.ว.สรรหาก็เหมือนผลัดกันเกาหลังของแท้ เพราะหากองค์กรที่มีอำนาจในการแต่งตั้ง ส.ว.สรรหา กระทำผิดแล้ว ส.ว.เหล่านี้จะกล้าถอดถอนหรือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายสุนัยอภิปรายพาดพิงว่า ประธานศาลฎีกา เลขาฯ ศาลฎีกา ได้นั่งวางแผนในการยึดอำนาจที่ผ่านมา ทำให้นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ใช้สิทธิ์ลุกขึ้นประท้วง ขอให้นายสุนัยถอนคำพูด อย่าพาดพิงบุคคลภายนอก ซึ่งระหว่างนั้นนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ได้ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานการประชุมอีกครั้ง นายนิคมจึงได้ขอให้นายสุนัยถอนคำพูด แต่นายสุนัยไม่ยอมถอนคำพูด และระบุว่าคนที่พูดเรื่องนี้คือ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี จากนั้นทำให้นายนิพิฏฐ์ได้ลุกขึ้นประท้วง โดยขอให้นายสุนัยถอนคำพูด แต่นายสุนัยกล่าวว่าตนยอมถอนคำพูด แต่ขอแลกกับการประท้วงการทำหน้าที่ของนายนิคม

ระหว่างนั้นทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์นับ 10 คนลุกขึ้นยืนเพื่อประท้วงการทำหน้าที่ของนายนิคม เช่น นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม นายอภิชาต สุภาแพ่ง ส.ส.เพชรบุรี เป็นต้น ทำให้นายสุนัยกล่าวว่า อาการเก่ากำเริบอีกแล้ว อาการกำเริบขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับมาอีกแล้ว ท่านประธานระวังเขาจะบุกขึ้นไปลากบนเก้าอี้ อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่เกิดการโต้เถียงกันไปมา ทั้งสองฝ่ายได้มีการชี้หน้ากันจนเกิดการปะทะคารมกันระหว่างนายกุลเดช พัวพัฒนกุล ส.ส.อุทัยธานี พรรคประชาธิปัตย์ และ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย จนนายกุลเดชได้ท้าให้ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ไปเจอกันนอกห้อง แต่ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ไม่ได้ลุกตามออกไป

ทำให้นายนิคมชี้แจงว่า ตนไม่ได้ทำผิดข้อบังคับอะไรสักอย่าง และตนรู้ว่าตนสวมหมวกใบไหน การเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ตนไม่มีผลประโยชน์ใดแอบแฝง ขอยืนยันว่าตนทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง และปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุม อย่าไปทึกทักว่าตนไม่มีความเหมาะสม และหากตนทำหน้าที่ผิด ก็ขอให้ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ยังคงลุกขึ้นประท้วงอย่างต่อเนื่อง จนนายนิคมไม่สามารถควบคุมการประชุมได้ และได้สั่งให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์นั่งลง แต่ไม่มีใครให้ความร่วมมือ จนทำให้นายนิคมลุกขึ้นยืนทำหน้าที่

จนกระทั่งนายสุนัยกล่าวว่า ตนเห็นใจและขอยินยอมถอนคำพูด เพราะรู้เจตนาของคนบางกลุ่มที่จะขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญนี้เป็นประโยชน์ต่อคนบางกลุ่ม และตนไม่ได้พาดพิงใคร เพราะรู้ว่า เขาตั้งใจล่อประธานเป็นหลัก และขอยินดีที่จะหยุด ตนไม่ได้ยอมจน เพราะแพ้ต่อคนพาล แต่ทำเพื่อประธาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ว.เลือกตั้ง และส.ส.พรรคเพื่อไทย หลายคนได้ลุกขึ้นสนับสนุนให้นายนิคมทำหน้าที่ต่อ เนื่องจากเห็นว่าหากไม่ทำหน้าที่จะผิด และยังไม่เห็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นกลางแต่อย่างใด ทั้งนี้ หลังจากที่นายนิคมได้ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นครั้งที่ 2 ทำให้ถูก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ประท้วงนานกว่า 1 ชั่วโมง มีการส่งเสียงโห่แสดงความไม่พอใจในการปฏิบัติหน้าที่ จนกระทั่งนายนิคมได้ตัดบทและเข้าสู่การอภิปรายตามปกติ

ต่อมาเวลา 18.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน อภิปรายขณะที่นายนิคมยังเป็นประธานที่ประชุมอยู่ว่า ประธานขาดความชอบธรรม เนื่องจากมีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่หากประสงค์จะทำหน้าที่ประธานต่อ ขอให้ถอนชื่อออกจากการเสอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หากนายนิคมยังไม่ถอน พรรคประชาธิปัตย์ จะขอสงวนสิทธิ์ไม่ทำหน้าที่ต่อ จนกว่านายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เข้ามาเป็นประธานที่ประชุม พรรคประชาธิปัตย์ จึงจะมาร่วมประชุมด้วย แต่นายนิคมยังคงยืนยันที่จะทำหน้าที่ต่อไป โดยชี้แจงว่าการที่ตนลงชื่อแก้ไขมาตรา 237 ตนไม่มีประโยชน์กับพรรคการเมือง และไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง แต่ต้องการให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง ส่วนมาตรา 190 ที่ตนร่วมลงชื่อ เพราะเห็นว่าตนไม่มีอะไรเกี่ยวข้องเลย แต่จากการทำหน้าที่ที่ผ่านมาได้เห็นข้อขัดข้อง ที่ประเทศไม่สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ ตนยืนยันคำวินิจฉัยของตน

ทั้งนี้ เมื่อนายจุรินทร์พูดจบ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ทยอยเดินออกจากห้องประชุม เหลือเพียงนายจุรินทร์ นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการวิปฝ่ายค้าน นายสัมพันธุ์ ตั้งเบญจผล ส.ส.สุโขทัย พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย วิปฝ่ายค้าน นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี และ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาล เข้ามาหารือด้วยประมาณ 10 นาที จากนั้นกลุ่มนายจุรินทร์ได้ออกจากห้องประชุมทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การประชุมยังคงดำเนินต่อไป โดยนายนิคมได้ขานชื่อนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์อภิปราย แต่นายเอกนัฏลุกขึ้นขอสงวนสิทธิ์การอภิปราย จนกว่านายสมศักดิ์จะขึ้นมาทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม ทำให้การอภิปรายมีเพียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว.เท่านั้น

จากนั้นเวลา 19.15 น. เมื่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ขึ้นทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม บรรดาส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ต่างพากันเข้ามานั่งในห้องประชุม โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นอภิปรายเนื่องจากถูกพลาดพิงทันที ว่า ที่กล่าวหามีพรรคการเมืองเก่าแก่ ไม่เคยถูกยุบพรรค จะคิดเป็นพรรคอื่นไม่ได้นอกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่พรรคเดียวที่ไม่ถูกยุบ เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ เราได้ถูกปลูกฝังมาในการทำหน้าที่ให้ยึดหลักของกฎหมาย ซึ่งหลังจากพิจารณาและลงมติว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กระทำผิด แม้จะมีการวิ่งเต้นของทนายความจากอดีตนายกฯ 2 คน ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคประชาธิปปัตย์ แต่ตุลาการฯ ไม่เอาด้วย จึงถูกข่มขู่ ซึ่งข้อความเหล่านี้ออกมาจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องไปยื่นฟ้องจำเลย ซึ่งจำเลยก็อยู่ในสภาฯแห่งนี้

ทำให้ จ.ต.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วง ว่านายชวนพูดเท็จ แต่นายชวนยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหา เพราะการที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ถูกยุบเพราะมาได้ทำผิด

ขณะที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โต้ว่า นายชวนไม่ควรมาตีกินเรื่องนี้ เพราะได้ถอนฟ้องไปแล้ว ทำให้นายชวนลุกขึ้นโต้ว่า กรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถอนฟ้อง เพราะนายพร้อมพงศ์ ได้ไปกราบข้อขมาขอให้ตุลการฯถอนฟ้อง

จากนั้นนพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นตอบโต้จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ว่าไม่รู้จักที่ต่ำที่ถูก แต่นายสมศักดิ์ พยายามไกล่เกลี่ย แต่ทั้งสองฝ่ายไม่ยอมกัน ทำให้นายสมศักดิ์ พูดออกมาว่า “จะเอาหรือไม่รัฐธรรมนูญ หรือจะเอาเรื่อง หรือจะโต้กันไปกันมา 4 ทุ่มแล้วเลิกดีหรือไม่”

จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ลุกขึ้นมาตอบโต้ นพ.สุกิจ ว่าตนไม่ได้ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ตนให้เกียรตินายชวน และทำตามหน้าที่ และที่ตนถูกพลาดพิงก็ทำให้เสียหาย ตนก็ต้องใช้สิทธิ์พลาดพิง แต่น.พ.สุกิจ ไม่ยอมและขอให้ถอนคำพูดว่า “นายชวนพูดเท็จ” มากล่าวหาผู้หลักผู้ใหญ่ของผม ถ้ากล่าวหาผมว่าพูดเท็จ ผมยังไม่โกรธเท่านี้ จนนายสมศักดิ์ พยายามไกล่เกลี่ยให้จ.ส.ต.ประสิทธิ์ เป็นผู้เสียสละถอนคำพูด เรื่องจะได้จบ จนจ.ส.ต.ประสิทธิ์ ยินยอมถอนคำพูด

จากนั้นเข้าสู่การอภิปรายตามปกติ โดยส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอสงวนสิทธิ์ ในช่วงที่นายนิคม ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม เข้ามาอภิปราย


กำลังโหลดความคิดเห็น