“อลงกรณ์” ซัดรัฐบาลเอาเปรียบชงแต่ข้อดี ไม่พูดข้อเสียโครงการ แนะนายกฯ ครม.เซ็นค้ำประกันเงินกู้ เย้ยมองชาติแคบเหมือนม้าแข่งดูแค่ลู่ แฉซื้อหัวรถจักรทั้งที่ยังไม่มีแผนสร้าง ชี้ถ้าทำรถไฟความเร็วสูงต้องเริ่ม กทม.-หนองคายจุดแรก ถึงคุ้ม แนะทำกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน “พิเชษฐ” ยัน “จิ๋ว” กู้ไอเอ็มเอฟ “กรณ์” เตือนปัญหาวินัยคลัง เสี่ยงขัด รธน.หนุนหาคนร่วมทุนลดภาระ จี้พูดแหล่งรายได้ให้ชัด ท้าเอาทุกโครงการลงไปอยู่ในกฎหมาย
วันนี้ (28 มี.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยการออกร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ 2 ล้านล้านบาท นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การลงทุนมีความเสี่ยงแต่รัฐบาลกลับนำเสนอแค่ข้อดี แต่ไม่นำเสนอข้อเสียหรือโอกาสความล้มเหลวของโครงการ เป็นการเอาเปรียบประชาชนทั้งประเทศ แต่หากนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และ ครม.ที่มั่นใจในการลงทุนตนก็อยากให้เซ็นค้ำประกันเงินกู้ครั้งนี้ ซึ่งตนเป็นห่วงว่ารัฐบาลจะทำผิดพลาดในครั้งนี้ซึ่งจะปิดโอกาสการลงทุนที่มาจากเงินกู้ของประเทศ เหมือนติดกระดุมเม็ดแรกผิด เพราะหนี้สาธารณะจะถึงเพดานที่กำหนด และความล้มเหลวของโครงการอีกเรื่อง ก็คือการทุจริต คอร์รัปชัน แม้ว่า รมว.คมนาคมแสดงออกว่ามีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ก็เป็นเหมือนหนังตัวอย่าง ทั้งนี้การลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในหลายรัฐบาลที่ผ่านมาทั้งในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และรัฐบาลชวน หลีกภัย ซึ่งไม่ได้ดูแค่โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพเหมือนรัฐบาลนี้ แต่ยังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านสังคม แต่ในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับไม่มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน มีแต่ประชานิยม จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบันที่โอกาสเอื้ออำนวยให้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่กลับมุ่งแค่เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ไม่มีการทำด้านชลประทาน การศึกษาที่ยังตกยกประเทศ แต่รัฐบาลมองประเทศแคบไป มองอนาคตไทยเหมือนม้าแข่ง มองแค่ในลู่เท่านั้น
“สงสัยว่าทำไมรัฐบาลรีบร้อน และไม่รอบคอบ ยกตัวอย่าง โครงการรถไฟความเร็วสูง ที่ใช้งบ 9 แสนล้านบาท แต่ไม่เชื่อมต่อไปยังชายแดน ซึ่งทุกอย่างยังคิดไม่จบ แต่กลับจะมีการซื้อหัวจักรรถไฟแล้ว ทั้งที่รางรถไฟยังไม่มีแผนสร้างที่แน่นนอน และมีการกินเข้าไปเกือบ 50% จะกลายเป็นเงินกู้กินหัวคิวหรือไม่ ผมไม่อยากให้ต้องมีหัวรถจักรมากองไว้ไม่ได้ใช้งาน เหมือนกับเสาโฮปเวลล์” นายอลงกรณ์ กล่าว
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลเกิดอะเมซิ่งโปรเจกต์ แต่กลับไม่เข้าใจเรื่องจุดเชื่อมโยง จึงมีโครงการรถไฟความเร็วสูงไปเชียงใหม่ทั้งที่ไม่ใช่จุดเชื่อมโยง แต่เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย นั้น จะเชื่อมโยงเป็นเส้นทางคุนหมิง-สิงคโปร์ ซึ่งควรเป็นเส้นทางแรกที่เริ่มลงทุนเพราะจะคุ้มทุน และต้องทำให้เชื่อมโยงไปถึงปาดังเบซาร์ไปถึงสิงคโปร์ ทั้งนี้ตนคิดว่ารัฐบาลตอบโจทย์ด้านโลจิสติกส์ผิด เพราะมีการลงทุนด้านการคมนาคมขนส่งทางน้ำเพียง 3 หมื่นล้านบาท หรือ 1.5% ของงบ 2 ล้านล้านบาท ทั้งที่ไทยได้เปรียบเรื่องการเป็นศูนย์กลางอาเซียนอยู่แล้ว แต่รัฐบาลกลับทิ้งจุดแข็งนี้
“หากมั่นใจว่าโครงการนี้มีโอกาสสำเร็จสูง ก็ควรจะทำกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หากคิดว่าจะมีรายได้คุ้มค่าตามที่รัฐบาลมั่นใจ ก็ควรเอาโครงการมาเป็นหน่วยลงทุนเพื่อลดภาระงบประมาณ หรือไม่ต้องกู้ แต่ทำ พ.ร.บ.การร่วมทุน หรือพีพีพี ที่เชิญชวนต่างชาติมาลงทุนหากคิดว่าโครงการลงทุนนี้ดีจริง ทำไมรัฐบาลไม่คิดเรื่องพวกนี้ที่เป็นเรื่องนอกกรอบ หรือไม่ง่ายในการไปรวบรัดและหากินกับการกู้ครั้งนี้” นายอลงกรณ์ กล่าว
ต่อมาเวลา 17.55 น.นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นขอใช้สิทธิพาดพิงข้อกล่าวหาจากฝ่ายรัฐบาลที่ว่า รัฐบาลนายชวน หลีกภัย สร้างหนี้ และรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาตามใช้หนี้กองทุนไอเอ็มเอฟ เนื่องจากตัวเองเป็น รมช.คลัง สมัยนั้น และร่วมรับผิดชอบอยู่ด้วย โดยยืนยันว่า รัฐบาลที่ตั้งเรื่องกู้เงินไอเอ็มเอฟคือ รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แต่รัฐบาลนายชวน เข้ามาบริหารเงินกู้และทำหนังสือถึงกองทุนไอเอ็มเอฟ เพื่อหยุดรับเงินกู้ก้อนดังกล่าวก่อนครบกำหนด 1 ปี และเริ่มชำระหนี้คืนไอเอ็มเอฟก้อนแรกเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2540 แต่พอรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาก็ชำระตามกำหนดและประกาศอิสรภาพ นี่เป็นสิ่งที่พวกตนเจ็บช้ำน้ำใจมาตลอด ซึ่ง นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ จึงกำชับให้ตนพูดเรื่องนี้
จากนั้นเวลา 18.30 น. นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า รัฐบาลสามารถหารายได้ทางอื่นมากกว่าสร้างภาระให้ประชาชน และเป็นการกู้นอกระบบงบประมาณ อาจเกิดปัญหาวินัยการคลัง และยังเสี่ยงที่จะขัดกับรัฐธรรมนูญ ทำให้โครงการที่รัฐบาลจะดำเนินการเกิดสะดุดได้ ตนในฐานะอดีต รมว.คลัง รวมถึงอดีตรมว.คลัง อาทิ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ก็ยังคัดค้าน เพราะเห็นว่าเป็นการออก พ.ร.บ.แบบหลวมๆ ไม่รัดกุม ทำให้มีหนี้สูงถึง 65% ดังนั้นจึงไม่สมควรใช้เงินกู้ แต่ควรเน้นการลงทุนเพื่อรักษาวินัยการคลัง จากการประเมินขีดความสามารถทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค พบว่าไทยอยู่ในลำดับที่ดีขึ้น โดยมีหนี้สาธารณะลดลง 42% แต่รัฐบาลกลับมีนโยบายที่บั่นทอนความเชื่อมั่นขีดความสามารถประเทศ ถือเป็นการพัฒนาที่ผิดตรรกะ สิ่งไม่เห็นด้วยคือการกู้นอกระบบ ทำให้ร่าง พ.ร.บ.นี้สุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ สุดท้ายแล้วใช้เวลา 7 ปีทำได้จบหรือไม่ เพราะมีภาระหนี้และดอกเบี้ยมากมาย ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นสุดท้ายรัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนโครงการเหล่านี้ได้ ดูได้จากการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทฟื้นฟูจากน้ำท่วม ก็โหนกระแสความกลัวประชาชน ถึงขั้นขู่ ส.ส.ฝ่ายค้าน และศาลรัฐธรรมนูญต้องรับผิดชอบถ้าประชาชนถูกน้ำท่วม ขณะนี้ใช้ไปเพียง 6 พันล้านบาท
นายกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลควรมอบให้ รมว.คมนาคม ไปศึกษาโครงการก่อน และจัดหาคนมาร่วมทุนเพื่อลดภาระประเทศ รัฐบาลต้องพูดความจริงว่าแหล่งรายได้มาจากที่ใด หรือจะกลับมาปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือจริงๆ ท่านไม่มีเจตนาที่จะรับผิดชอบในอีก 10 ปีข้างหน้าจะไม่คืนเงินต้นแม้แต่บาทเดียว เพราะอีก 10 ปีท่านไปไหนแล้วก็ไม่ทราบ เงินก็ใช้ไปหมดแล้ว ประชาชนต้องแบกรับภาระหนี้ ทราบหรือไม่ผลการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ทำให้ระบบเงินตึงขึ้น มีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เพราะมีการแย่งชิงเงินกู้ระหว่างรัฐกับเอกชน อัตราดอกเบี้ยในระบบของเราจะสูงขึ้น หากดอกเบี้ยเพิ่มทุก 1 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นหนี้เพิ่ม 6 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลไม่ได้เตรียมความเสี่ยงไว้เลย หากโครงการอยู่ในภาวะขาดทุนจะทำอย่างไร ขนาดแอร์พอร์ตลิงก์รายได้ยังไม่พอ ต้องเป็นภาระของประชาชน และโครงการรถไฟความเร็วสูงใครเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถรับการกระทำของรัฐบาลได้
นายกรณ์ กล่าวว่า ทำไมรัฐบาลไม่ทำแผนการเบิกจ่ายงบเงินกู้ของรัฐบาลสูงสุดที่สุดปี 59 เงิน 3.8 แสนล้านแล้วเสร็จภายใน 5 ปี ทั้งที่รัฐบาลสามารถกู้ได้ตามปีงบประมาณโดยไม่มีอุปสรรคทางการเงินใดๆ ทั้งสิ้น เพราะช่องว่างทางการคลังให้สิทธิกู้ได้อีกหลายโครงการ แต่รัฐบาลกลับหลีกเลี่ยงออกฎหมายพิเศษไปกู้นอกระบบ ทำไมต้องเอาไปเสี่ยงกับโครงการลงทุนครั้งสำคัญของประเทศ ซึ่งตนขอท้าว่าให้เอาทุกโครงการที่อยู่ในเอกสาร ลงไปเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย จะได้รู้ว่าโครงการไหนลงทุนอย่างไรบ้าง ถ้าโครงการไหนล่าช้าก็ขอให้หมดสิทธิ์ในเงินกู้นี้เลย ถ้าโครงการไหนจะยกเลิกก็ไม่ให้นำเงินที่ตั้งไว้ ไปใช้ในโครงการอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้ ควรเขียนระเบียบการพัสดุลงไว้ในกฎหมาย เพื่อไม่ให้มีมติ ครม.จัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ให้ภาคีเครือข่ายต่อต้านการคอร์รัปชันเข้ามามีบทบาท โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาตรวจสอบ โดยให้เขียนไว้ในกฎหมายว่า ถ้าโครงการใดเกิดพบการทุจริต หรือเข้าไม่ถึงข้อมูลให้โครงการนั้นหมดสิทธิไปในทันที ที่อ้างว่าหนี้สาธารณะจะไม่เกิน 50% หากเกินต้องถือเป็นโมฆะทันที และถ้าเกิดทำโครงการไปแล้วมีงบขาดดุลที่มากกว่าปัจจุบันให้ถือเป็นโมฆะ