ผู้ประสานกลุ่มกรีน ชี้ พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท เป็นการทำรัฐประหารทางการเงิน ทำลายระบบงบประมาณ สถาปนาอำนาจเผด็จการ นำไทยสู่หายนะ แนะทุกฝ่ายร่วมกันตรวจสอบ เตรียมรณรงค์เปิดโปงต่อสาธารณะ
วันนี้ (17 มี.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ระบุถึงกรณีที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังเตรียมนำร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ.เงินกู้ วงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท เข้าสู่สภาฯ นั้น สังคมต้องร่วมกันตรวจสอบเงื่อนงำ และวาระซ่อนเร้นของ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่าใครได้ประโยชน์กันแน่ เพราะเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทจะไม่ถูกใช้จ่ายผ่านระบบงบประมาณตามหลักปฏิบัติปกติ ให้เม็ดเงินก้อนนี้อยู่นอกระบบงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยจัดสรรผ่านวิธีพิเศษภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งกำลังจะเป็นกฎหมาย เพราะผ่านการพิจารณาของสภาอยู่ระหว่างการทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ วางระบบการจัดการงบประมาณแผ่นดินที่พิสดาร รวบรัด และขึ้นต่อคณะกรรมการที่ ครม.แต่งตั้ง และไม่จำเป็นต้องประมูล
นายสุริยะใสระบุต่อว่า หากสังคมไทยปล่อยให้ พ.ร.บ.เงินกู้วงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ผ่านสภาตราเป็นกฎหมาย ต่อไปก็ไม่มีความจำเป็นต้องมี พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีอีก เปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองแอบอ้างความจำเป็นในการพัฒนา การลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ขอกู้เงิน และหากินหาประโยชน์กันง่ายๆ ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือไม่ต้องคำนึงถึงความโปร่งใสตามรัฐธรรมนูญกันอีกต่อไป ทั้งๆ ที่นักการเมืองมาแล้วก็ไป หาประโยชน์หากินจากเมกะโปรเจกต์ แต่ประชาชนต้องแบกหนี้ไปชั่วลูกชั่วหลาน ถ้าลองคำนวณจากฐานตัวเลข และงานวิจัยที่พบว่า การลงทุนของภาครัฐเงินจะหายไปอย่างต่ำ 30% เพราะฉะนั้น เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท จะมีเงินหายไปอย่างน้อย 6.6 แสนล้านบาท ถามว่าใครได้เงินก้อนนี้ไป
ผู้ประสานกลุ่มกรีนกล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.2 ฉบับนี้เลวร้าย และน่ากลัวกว่าคำประกาศคณะรัฐประหารด้วยซ้ำไป ผมถือว่านี่เป็นเสมือนการทำรัฐประหารทางการเงินของประเทศ สถาปนาอำนาจเผด็จการเหนือรัฐธรรมนูญ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 วรรคหนึ่ง ในเรื่องการจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ เว้นแต่เป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งกรณีนี้ไม่เข้าข่ายเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน
ทางกลุ่มกรีนจะหาช่องทางในการตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยการรณรงค์เปิดโปงให้ประชาชนเห็นข้อเท็จจริง และจะยื่นเรื่องให้หลายองค์กรเข้ามาตรวจสอบ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช.เป็นต้น