“นายกฯ ยิ่งลักษณ์” ประชุม “ACMECS” ร่วมผู้นำลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม ผลักดันแนวคิดคมนาคมเชื่อมโยงภูมิภาค ให้เป็นฐานการผลิตเดียว เพื่อพัฒนาไปพร้อมๆ กัน
ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเพื่อร่วมประชุมผู้นำ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 5 (The Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ว่า ภายหลังพิธีเปิดการประชุมดังกล่าวนายกรัฐมนตรีได้ร่วมการประชุม (Closed Session) กับผู้นำจากประเทศสมาชิก ได้แก่ ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม และ เลขาธิการอาซียน เพื่อทบทวนความร่วมมือในกรอบ ACMECS และทิศทางความร่วมมือในอนาคต
นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงการหารือดังกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มกรอบความร่วมมือ ACMECS เมือปี 46 และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาและสร้างรายได้แก่ประเทศสมาชิก โดยมีเป้าหมายเพื่อลดช่องว่างของรายได้ และเสริมสร้างการไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีผลงานที่เห็นเป็นรูปธรรมที่ไทยให้การสนับสนุน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งเส้นทางสาย R48 R67 ที่กัมพูชา สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 และ 4 ที่ลาว รวมทั้ง สะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 2 และเส้นทางแม่สอด-เมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรี-กอกะเร็ก ที่พม่า เป็นต้น รวมถึงความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การตั้งนิคมอุสาหกรรมชายแดน การท่องเที่ยว การเกษตร และสาธารณสุข
นายสุรนันทน์กล่าวว่า ในการหารือนายกฯ ได้ยืนยันความสำคัญของ ACMECS ว่าเป็นกรอบความร่วมมือกับประเทศลุ่มน้ำโขงที่ไทยให้ความสำคัญลำดับแรก เพราะ ACMECS คือ การรวมกลุ่มของประเทศในอนุภูมิภาคที่มีแผนงานและกิจกรรมที่เกื้อกูลกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การประชุมครั้งนี้ยังให้ความเห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการ ACMECS ปี ค.ศ. 2013-2015 ซึ่งสะท้อนแนวทางการดำเนินการที่สอดคล้องกับกรอบความร่วมมืออาเซียน โดยปีที่สิ้นสุดของแผนปฏิบัติการจะเป็นปีที่เริ่มต้นของการเป็นประชาคมอาเซียน จึงต้องคิดถึง “ความเป็นหนึ่งเดียวกัน” และผลประโยชน์ ที่มีร่วมกัน
ทั้งนี้ ภายใต้การสนับสนุนแผนปฏิบัติการฉบับใหม่ได้เน้นให้ประเทศสมาชิก ACMECS เป็น “ฐานการผลิตเดียว” ซึ่งจะทำให้ประเทศสมาชิกเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต ทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญของโลก และเพื่อให้แนวคิดดังกล่าวเป็นจริง สมาชิกประเทศ จะร่วมกันผลักดันให้เกิดความคล่องตัวในการทำการค้า การลงทุน การคมนาคมขนส่ง และการผ่านแดนให้มากที่สุด ประเทศไทยจึงสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นเส้นทางที่มีศักยภาพในการเปิดประตูการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวที่ไม่ได้จำกัดเพียง 2 ประเทศ แต่สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคได้ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไทยได้สนับสนุนโครงการต่างๆ เพื่อให้การคมนาคมในภูมิภาค รวมถึงเชื่อมโยงไปยัง สาธารณรัฐประชาชนจีน และ อินเดียสะดวกขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต้องควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกข้ามพรมแดน และการผ่านแดน ด้วยซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิก
น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังได้เสนอให้ผู้นำ ACMECS สนับสนุนและผลักดันการอำนวยความสะดวกผ่านแดนเส้นทางที่อยู่นอกเหนือจากกรอบความร่วมมือ GMS อีกด้วย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอีกแนวทางที่ต้องผลักดันร่วมกัน และส่งเสริมแนวคิดในการจัดทำแนวพื้นที่เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ของประเทศสมาชิก หรือ Tourism Corridor ประกอบด้วย พุกาม-เชียงใหม่-หลวงพระบาง-เวียงจันทน์-เสียมราฐ-เว้ ซึ่งการจัดทำความตกลง ACMECS Single Visa โดยเริ่มนำร่องจากไทยและกัมพูชาเป็นหนึ่งในความสำเร็จของกรอบนี้ จึงควรที่ สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนามจะพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิกโดยเร็ว เพื่อเป้าหมาย “ห้าประเทศ หนึ่งที่หมาย”
พร้อมกันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังได้เสนอแนวทางความร่วมมือเรื่องข้าว ต้องเน้นมิติทางด้านการค้า และ มีกลไกดำเนินความร่วมมือ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง, ระดับคณะทำงาน และ ระดับสมาคมโรงสีและผู้ค้าข้าว รวมถึงการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชนตามพื้นที่ชายแดน ซึ่งไทยพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดทำแผนประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงสนับสนุนการยกระดับคุณภาพสถานพยาบาล ตามแนวชายแดนในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่มีการลงทุนในอนาคต
ในตอนท้ายที่ประชุมได้ตกลงเห็นพ้องที่จะยกระดับความร่วมมือ ACMECS เพื่อประโยชน์ของประชาชนและภูมิภาคโดยรวม และเห็นชอบแผนปฏิบัติการ ACMECS ปี ค.ศ. 2013-2015 และปฏิญญาเวียงจันทน์ โดยการประชุมครั้งต่อไปกำหนดให้มีขึ้นที่เมียนมาร์ ในปีหน้า