ธ.กรุงศรี ลั่น 5 กลยุทธ์หลัก ตั้งเป้าขึ้น 1 ใน 3 ผู้นำสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยภายในระยะเวลา 3 ปี คาดปล่อยกู้ทะลุ 2 แสนล้านบาท คาดภายในปี 58 เห็นผลงาน โดยจะเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ และการเป็นผู้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ
นายวิชิต พยุหนาวีชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2556 การแข่งขันของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของดอกเบี้ยพิเศษ และรายการส่งเสริมการตลาด โดยในส่วนของกรุงศรี เราได้เตรียมความพร้อมไว้ในหลายด้าน รวมถึงได้ตั้งเป้าเพิ่มพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยจาก 1 แสนล้าน เป็น 2 แสนล้านบาท ภายในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปัจจุบัน โดยจะทำผ่าน 5 กลยุทธ์หลักซึ่งมีทั้งเชิงรุก และเชิงรับ ที่ทำงานสอดประสานกันอย่างลงตัว ซึ่งมั่นใจว่า จะทำให้เราสามารถก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 3 ผู้นำตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยได้ภายใน 3 ปี
สำหรับ 5 กลยุทธ์หลักของกรุงศรีประกอบด้วย 1) กลยุทธ์ความร่วมมือกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Developer Strategy) 2) กลยุทธ์ด้านช่องทางจัดจำหน่าย (Distribution Strategy) 3) กลยุทธ์การสร้างแบรนด์สินเชื่อที่อยู่อาศัย (Branding Strategy) 4) กลยุทธ์เชิงผลิตภัณฑ์ (Product Strategy) และ 5) กลยุทธ์ด้านการปฏิบัติงาน (Process Development Strategy)
นายวิชิต กล่าวว่า Developer Strategy จะเป็นกลยุทธ์เชิงรุกที่มุ่งจับมือกับบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศ ด้วยข้อเสนอทางด้านราคาที่จูงใจ และแข่งขันได้เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้าของบริษัท นอกเหนือไปจากการเพิ่มประสิทธิภาพ และความรวดเร็วด้านการอนุมัติสินเชื่อ การประเมินหลักทรัพย์ และการจดจำนองที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า
ทั้งนี้ Distribution Strategy เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่จะอาศัยกำลังของเครือข่ายสาขาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 600 แห่ง เพื่อรองรับกับลูกค้าที่สนใจจะใช้บริการสินเชื่อบ้านกรุงศรี รวมถึงการสร้างทีม Direct Sales ในการเข้าไปอำนวยความสะดวกด้านสินเชื่อให้แก่ลูกค้า ณ สำนักงานขายของโครงการต่างๆ
ส่วนในด้านของ Branding Strategy เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่กรุงศรีให้ความสำคัญ เพื่อตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับภาพลักษณ์ของสาขาให้มีความโดดเด่น พร้อมกับการโฆษณาสินเชื่อเพื่อคอนโดมิเนียม เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำในตลาดนี้ พร้อมกิจกรรมทางการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ นอกเหนือจากการใช้สื่อปกติ เช่น การทำดิสเพลย์ที่รถไฟฟ้า การใช้สื่อรถตู้กว่า 100 คัน
นายวิชิต ได้กล่าวถึง Pricing Strategy ว่า “กลยุทธ์ด้านราคาของกรุงศรีถือว่ามีความโดดเด่นมาก เพราะเราจะมีการติดตามความเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยในตลาดอย่างสม่ำเสมอ และจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสม และสามารถแข่งขันได้อยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้น ในส่วนของ Product Strategy เรามีสินเชื่อบ้านที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อคอนโดฯ สินเชื่อเพื่อบ้านมือสอง สินเชื่อรีไฟแนนซ์ และสินเชื่อโฮมฟอร์แคช เป็นต้น”
“นอกจากนี้ Process Development Strategy เป็นกลยุทธ์หลักสุดท้ายของเรา ที่มุ่งลดขั้นตอนในการอนุมัติ เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการพิจารณาสินเชื่อ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้สนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยี One Scan มาใช้ ทำให้กระบวนการอนุมัติ และกระบวนการประเมินราคา ทำงานไปพร้อมกันในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ลูกค้าสามารถจดจำนองได้ภายในเวลาเพียง 3 วันหลังจากยื่นใบสมัครเข้ามา” นายวิชิตกล่าว
“กรุงศรีมุ่งมั่นที่จะขยายพอร์ตสินเชื่อให้ใหญ่ขึ้น โดยเน้นการสร้างพอร์ตสินเชื่อที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องต่อไป”
จากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ภาพรวมตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในปี 2555 มีมูลค่าประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นสินเชื่อที่ปล่อยโดยธนาคารของรัฐประมาณ 1 ล้านล้านบาท และเป็นสินเชื่อที่ปล่อยจากธนาคารพาณิชย์ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท โดยกรุงศรีมีส่วนแบ่งการตลาดเฉพาะในกลุ่มของธนาคารพาณิชย์ประมาณ 7.8% หรือคิดเป็นมูลค่าสินเชื่อประมาณ 1 แสนล้านบาท และปีที่ผ่านมา สินเชื่อเพื่อคอนโดมิเนียมถือเป็นตลาดที่มีการเติบโตมากที่สุด ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่อยู่อาศัยประเภทดังกล่าวที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา
นายวิชิต กล่าวว่า กรุงศรีคาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยในปี 2556 จะยังคงเติบโตอยู่ที่ประมาณ 15-16% โดยกรุงเทพฯ จะเติบโตราว 6-7% ขณะที่การเติบโตของตลาดจะกระจายไปสู่เมืองใหญ่ๆ ตามความเจริญที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ปัจจัยทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน จะส่งผลทำให้ราคาบ้าน และคอนโดมิเนียมในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นอีกราว 10%
สำหรับปีนี้ความต้องการบ้านเดี่ยวบริเวณชานเมือง และทาวน์เฮาส์กลางเมืองจะกลับมาแรงมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากราคาคอนโดมิเนียมที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่กระแสความกังวลเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมได้ผ่อนคลายลง ทำให้ผู้บริโภคหันไปมองหาทาวน์เฮาส์ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองในระดับราคาเดียวกันแทน