xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์ มธ.เสนอ 3 ทางเลือกนิรโทษฯ “นิรันดร์” เตือนนักการเมืองอย่าให้อภัยกันเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เวทีเสวนาแนวทางการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม “กิตติศักดิ์” เสนอแนวทาง 3 ข้อ ทั้งไม่มีข้อจำกัด มีเงื่อนไข และดำเนินคดีเคร่งครัด ส่วน กก.สิทธิ์ ชี้ต้องสร้างบรรทัดฐานการเมือง จวก “มาร์ค” ตั้ง คอป.เพียงพิธีกรรม เชื่อนิรโทษกรรมไม่ช่วยอะไร เตือนเรื่องให้อภัยต้องเป็นหน้าที่สังคม ไม่ใช่นักการเมืองให้อภัยกันเอง ไม่ใช่หว่านเงินเยียวยา 7.5 ล้าน

วันนี้ (24 มี.ค.) ที่ห้องจิตติ ติงศภัทริย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สมาคมนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภาฯ 35 และสถาบันสังคมประชาธิปไตย ได้จัดงานเสวนาเรื่อง “แนวทางการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนและการสร้างบรรทัดฐานทางการเมือง”

โดยนายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานเสวนาว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นปัญหาในหลายแง่ทั้งสังคมและวัฒนธรรมทางกฏหมายที่จะก่อผลกระทบตามมามากมาย ผู้จะขอรับการนิรโทษกรรมต้องรับยอมว่าได้ทำอะไรผิดและให้คำมั่นว่าจะไม่ทำผิดอีก เสมือนการปฏิญาณตนเองว่าจะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งอีก โดยมีคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด โดยไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดครอบงำกันได้ มีผู้แทนนักการเมืองฝ่ายละ3 คน และคนอื่นๆ รวม 9 คน เพื่อพิจารณาการขอรับการนิรโทษกรรมของบุคคลต่างๆ

ทั้งนี้ ส่วนตัวมีข้อเสนอนิรโทษกรรม 3 ทางเลือก คือ 1.แบบไม่มีข้อจำกัด แต่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าไม่ถูกต้อง เพราะที่สุดแล้วอาจเกิดความขัดแย้งและเข่นฆ่ากันขึ้นมาอีก เพราะสามารถออกกฎหมายนิรโทษกรรมได้ 2.การออกนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข จำกัด ไม่เหวี่ยงแห โดยผ่านคณะกรรมการสอบสวน และ 3.ดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด หาผู้กระทำผิดมาลงโทษ เช่น กรณีนาซีที่มีการดำเนินคดีมาตลอดเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือการติดตามจับกุมกบฏของอิสราเอลที่ยังคงดำเนินอยู่จนถึงทุกวันนี้

ด้าน น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า แนวทางการนิรโทษกรรมต้องเป็นเรื่องที่สร้างบรรทัดฐานทางการเมือง เพราะที่ผ่านมาการนิรโทษกรรมต่างๆ ไม่ได้แสดงถึงบรรทัดฐานทางการเมือง เพราะไม่ได้มีการยอมรับ เป็นเพียงการยุติธรรมของผู้ชนะเท่านั้น เช่นการออกนิรโทษกรรมให้กับผู้ทำรัฐประหาร หรือการออกนิรโทษกรรมช่วงปี 2535 ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแบบไทยที่ไม่ต้องการรื้อฟื้นและให้ลืมๆ กันไป

“นักการเมืองรู้จักแต่รับชอบ ไม่รู้จักการยอมรับผิด ในสมัยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตั้ง คอป.ก็เป็นเพียงพิธีกรรม ยังไม่ได้รับการปฏิบัติจากรัฐบาลต่อๆ มา ข้อเสนอของ คอป.ถูกแช่ไว้ อย่างไรก็ตาม การออกกฎหมายนิรโทษกรรมไม่ได้ช่วยให้สังคมยุติความขัดแย้งลงได้ เพราะมีคนเห็นต่าง จึงจำเป็นต้องมองเรื่องสิทธิและความรับผิดชอบของรัฐด้วย” นพ.นิรันดร์ กล่าว

นพ.นิรันดร์ กล่าวอีกว่า วันนี้ประชาชนทั้งสองฝ่ายเห็นว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมได้ ก็เพราะฝ่ายการเมืองตกลงผลประโยชน์กันได้เท่านั้น ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจมากขึ้น วันนี้ประชาชาตาสว่างขึ้น รับรู้ว่าทุกเรื่องที่เกิดขึ้นจากทั้งสองสี เป็นเพราะความคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง เกิดการเข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระ การใช้อำนาจทางทหารเพื่อรักษาอำนาจแบบเก่าไว้ เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง จึงเกิดความรุนแรงขึ้น

ทั้งนี้ เราต้องการความปรองดองทางสังคมที่ไม่ใช่การเกี๊ยะเซี๊ยะทางการเมืองของนักการเมือง ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย ส.ส.เสนอกฎหมายเพียงฝ่ายเดียวยังไม่เพียงพอ อะไรควรนิรโทษกรรม อะไรไม่ควร เช่น การทุจริตต้องไม่มีการนิรโทษ ส่วนความผิดที่ทำไปเพราะเหตุทางการเมืองก็ควรได้รับการนิรโทษกรรม คนไทยควรได้รู้ว่าชุดดำเป็นใคร วัดปทุมวนารามเกิดอะไรขึ้น ใครอยู่เบื้องหลัง ใครใช้อำนาจไม่ชอบ เราต้องทำความจริงให้ปรากฏ และนำคนผิดมาลงโทษ

“สังคมไทยทำผิดซ้ำซาก ปล่อยคนผิดลอยนวล จะเกิดการฆ่ากันกลางถนนอีก ถ้าจะให้อภัยก็ต้องให้อภัยโดยสังคม ไม่ใช่นักการเมืองให้อภัยกันเอง และการเยียวยาฟื้นฟูต้องเกิดขึ้นในรูปแบบอื่นๆ ด้วย ที่ไม่ใช่การจ่ายเงิน 7.5 ล้านบาทเท่านั้น แต่พวกเขาต้องการรู้ว่าใครทำให้ญาติเขาตาย อย่าให้พวกเขารู้สึกว่าถูกเอาเงินมาปิดปาก เราต้องใช้กฎหมายเป็นแนวทางในการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ไม่เช่นนั้นจะทำให้ความแตกแยกเพิ่มขึ้น” นพ.นิรันดร์ กล่าว

ขณะที่ นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะมีเห็นต่างกันและเห็นว่ามีความไม่เป็นธรรม ที่วันนี้เราต้องคิดว่าพวกเราได้ข้อสรุปบทเรียนแล้วหรือไม่ ถ้าเราคิดว่าไม่เอาการรัฐประหาร หมาเอาระบบรัฐสภาที่ไม่เอาไหน เราก็ไม่เอา ไมาเอากระบวนการตุลาการภิวัตน์ ถ้าเราสรุปบทเรียนเรื่องเหล่านี้ได้ สังคมก็สามารถเดินหน้าได้ ที่ผ่านมาเราเผชิญกับกระบวนการยุตธรรมเชิงลงโทษ เพราะถือว่ารัฐเป็นผู้เสียหาย วิธีการออกกฎหมายต้องคำนึงถึงเหยื่อ เพราะวันนี้ไม่มีใครยอมรับว่าทำผิดหรือกล่าวคำว่าขอโทษ

ทั้งนี้ ไม่มีอะไรถูกหรือผิดไปทั้งหมด การออกกฎหมายนิรโทษกรรมสามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ มีขั้นตอนค่อยๆ ดำเนินการ เช่น การนิรโทษกรรมในยุคประธานาธิบดีลินคอล์นที่เริ่มออกกฎหมายฉบับแรกเกี่ยวกับข้อหากบฏฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ และออกอีก3 ฉบับในยุคของประธานาธิดี แอนดรูว์ จอห์นสัน ที่เข้ารับตำแหน่งหลังประธานาธิบดีลินคอล์นถูกลอบสังหาร ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมในไทยตต้องไม่เอาชนะคะคานกัน ซึ่งความรู้สึกแบบนี้ยังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทยนับแต่การชุมนุมทางการเมืองปี 2548 เป็นต้นมา

ส่วนนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า หลังการนิรโทษกรรมปี 2535 ญาติวีรชนยังคงเป็นพลเมืองชั้น 2 และรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่ได้ยินเรื่องการนิรโทษกรรม ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมาเริ่มมีคนเสื้อเหลือถูกดำเนินคดี และต่อมาก็เป็นคนเสื้อแดงที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ไม่อยากให้ฝ่ายการเมืองเป็นคนดำเนินการเรื่องนิรโทษกรรม เพราะพูดคนละเรื่อง

ทั้งนี้ อยากนำเสนอต่อสังคมสาธารณะด้วยการออกเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยเริ่มต้นจากผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อน มีคน 4 กลุ่มที่จะไม่ได้อานิสงส์จากกฎหมายนี้ เพราะทุกฝ่ายมีความเห็นว่าควรเอาคนเกี่ยวข้องมาขึ้นศาลว่าเกิดอะไรขึ้น 1.จำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 90 คน 2.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ 3.แกนนำเสื้อแดงและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ 4.ผู้นำเหล่าทัพและฝ่ายค้านในขณะนั้น เมื่อทำความจริงให้ปรากฏแล้วค่อยให้อภัย จากนั้นจึงกำหนดมาตรการร่วมกันว่าทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงขึ้นมาอีก










กำลังโหลดความคิดเห็น