xs
xsm
sm
md
lg

กกต.แจง “เกษม” ลาออกจาก ส.ส.ตามสิทธิ รธน. ไม่สามารถฟ้องได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กกต.แจงเหตุผลไม่ฟ้องเรียกค่าเสียหาย “เกษม” ที่ลาออกจาก ส.ส.เชียงใหม่ จนต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ เพราะไม่ได้ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง แต่เป็นการลาออกตามสิทธิที่ รธน.รับรองไว้

นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่สื่อมวลชนเสนอข่าวการให้สัมภาษณ์ของนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ถึงกรณีนายเกษม นิมมลรัตน์ ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ ไม่เหมาะสมและทำให้เสียเงินภาษีที่จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ และขอเสนอให้ กกต.ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากนายเกษม นิมมลรัตน์ เช่นเดียวกับกรณีที่ กกต. เคยฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคน เพื่อเรียกค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ และหาก กกต.ไม่ฟ้องนายเกษม ก็จะฟ้อง กกต.ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ว่า กกต.ได้เคยฟ้องเรียกค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามมาตรา 113 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 เป็นกรณีที่ผู้สมัครหรือ ส.ส.และ ส.ว.กระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นกรณีที่ผู้สมัครหรือ ส.ส.และ ส.ว.มิได้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง แต่กระทำผิดกฎหมายอื่นๆ จนเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากสมาชิกภาพ เช่น กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หรือการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุให้ กกต.ต้องเสียงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งใหม่

กรณีที่ กกต.ได้ยื่นฟ้องนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ เป็นคดีละเมิด เพื่อเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากนายบุญจงฯ ได้กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 265 ที่ห้ามมิให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท ที่ได้รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าวไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม รวมทั้งคู่สมรสและบุตรของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นด้วย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าการถือครองหุ้นของนายบุญจงฯ เป็นการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 265 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรของนายบุญจงฯ สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 106 (6) อันเป็นการกระทำโดยฝ่าฝืนกฎหมายและทำให้ กกต.ได้รับความเสียหายต้องจัดการเลือกตั้งใหม่

นอกจากคดีนี้แล้ว กกต.ยังได้ดำเนินการยื่นฟ้อง ส.ส.ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้พ้นจากการเป็นสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.อีกจำนวน 4 คน ที่ได้กระทำผิดต่อกฎหมายและทำให้ กกต.ได้รับความเสียหาย ได้แก่ นายสมเกียรติ ฉันทวานิช อดีตส.ส.กทม., ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต ส.ส.ขอนแก่น, น.ส.มลิวัลย์ ธัญญสกุลกิจ อดีต ส.ส.สุรินทร์ และนายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ส.ส.พระนครศรีอยุธยา

อีกทั้ง กกต.ได้ยื่นฟ้อง ส.ส.และ ส.ว. กรณียื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วยข้อความอันเป็นเท็จจนเป็นเหตุให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นความผิดและให้พ้นจากตำแหน่ง เป็นเหตุให้ กกต.ได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ จำนวน 3 คน ได้แก่ นายชุมพล กาญจนะ อดีต ส.ส.สุราษฎรธานี และ น.ส.อรพิน มั่นศิลป์ อดีต ส.ส.นครสวรรค์ ส่วนกรณี น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ อยู่ระหว่างการดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง

สำหรับกรณีที่ ส.ส.สิ้นสุดลงเพราะเหตุอื่น เช่น ตาย หรือลาออกนั้น เป็นการสิ้นสมาชิกภาพที่มิได้เกิดจากการกระทำผิดกฎหมาย แต่การลาออกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย จึงแตกต่างกับกรณีของนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ที่กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดแล้วว่าเป็นความผิด แม้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 อันเป็น กฎหมายเฉพาะไม่มีบทบัญญัติให้บุคคลที่พ้นจากตำแหน่ง เพราะเหตุดังกล่าว จะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ไว้ก็ตาม แต่การกระทำของนายบุญจงฯ เป็นการกระทำผิดต่อกฎหมาย ทำให้ กกต.ได้รับความเสียหายต้องเสียงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งใหม่ จึงถือว่าเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนกรณีที่นายเกษม นิมมลรัตน์ ที่ได้ลาออกจากการเป็น ส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการกระทำตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองไว้ จึงมิได้เป็นการกระทำผิดกฎหมาย และไม่เป็นเหตุให้สำนักงานคณะกรรมการ การเลือกตั้งฟ้องเรียกค่าเสียหายได้


กำลังโหลดความคิดเห็น