xs
xsm
sm
md
lg

เปิดวงเจรจา “ดับไฟใต้” สันติภาพแลกผลประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: นกหวีด

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร
ข่าวปนคน คนปนข่าว


แม้จะมีความพยายามโยนเผือกร้อนออกจากรัฐบาลกันจ้าละหวั่น หลังเกิดปัญหาโอษฐภัยจากคนปากพล่อยอย่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ที่ออกมาฟันธงถึงปลายทางการเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็นว่า

“จะจบที่การตั้งมหานครปัตตานี”

ร้อนถึง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่มีปัญหาเรื่องปากไม่แพ้กันต้องออกมากางปีกปกป้อง และตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการปฏิเสธเด็ดขาดว่าไม่มีแนวคิดดังกล่าว ก่อนที่ พล.ท.ภราดร จะออกมารับลูกแก้ตัวไปแบบน้ำขุ่น ๆ ว่าไอ้ที่พูดไปไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไปเออออห่อหมกกับโจรใต้แล้ว เพียงแต่อ่านเกมล่วงหน้าว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นจะมีข้อเสนอเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะมีแนวคิดแบ่งแยกดินแดนอยู่แล้ว แต่ในส่วนของรัฐบาลไม่เคยมีแนวคิดดังกล่าว แต่จะเจรจาภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม การปฏิเสธดังกล่าวดูจะเบาหวิวไร้น้ำหนักโดยสิ้นเชิง เพราะหางของคนที่เข้าไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบกับการแก้ปัญหาภาคใต้นั้น โผล่ให้เห็นมาแต่ต้นว่ามีรากเหง้าความคิดเกี่ยวกับการจัดตั้ง “นครรัฐปัตตานี” มายาวนานแล้ว เพียงแต่ยังไม่สบโอกาสที่จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายจนประสบความสำเร็จดังหวังเท่านั้น

หากย้อนแนวคิดของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ตอนนี้มีความพยายามจะดึงเอาโซ่ข้อเสื่อมรายนี้มาเชื่อมประสานสร้างสันติภาพดับไฟใต้อยู่ในขณะนี้จะเห็นชัดเจนว่า “พ่อใหญ่จิ๋ว” มีโมเดลเรื่อง นครรัฐปัตตานี มาหลายปีดีดักแล้ว

ถึงขนาดพรรคเพื่อไทยเองก็ซื้อแนวคิดนี้จนถึงขั้นใช้เป็นนโยบายหาเสียงเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ซึ่งในขณะนั้นมีความพยายามจะปรับเปลี่ยนชื่อใหม่ จาก “นครรัฐปัตตานี” เป็น “นครปัตตานี”

หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความละเอียดอ่อนในพื้นที่ว่า “นครรัฐปัตตานี” น่าจะมีความหมายกว้างไกลไปถึงการแยกดินแดนให้ปัตตานีเป็นรัฐโดยรวมเอายะลากับนราธิวาสเข้ามาด้วย จึงมีการปรับเปลี่ยนสลากสินค้าใหม่ ตัดคำว่า “รัฐ” ออก คงเหลือไว้แค่ “นครปัตตานี”

ยังอ้างด้วยว่าจะเป็นรูปแบบการปกครองพิเศษ แต่ไร้รายละเอียดว่าการปกครองพิเศษที่พูดถึงจะมีโฉมหน้าอย่างไร จะนำกฎหมายอิสลามมาบังคับใช้หรือไม่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่าเป็นการแบ่งแยกให้ชาวพุทธไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ได้ อันจะเป็นการเข้าทางโจรใต้ที่ต้องการขับไล่ชาวพุทธออกนอกพื้นที่ไปโดยปริยาย

เคราะห์ดีที่ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ตอบรับนโยบายดังกล่าว แต่ตบหน้าพรรคเพื่อไทยฉาดใหญ่ด้วยการไม่เลือกผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยเลยแม้แต่คนเดียว

แทนที่พรรคเพื่อไทยจะได้เรียนรู้จากบทเรียนดังกล่าวเพื่อนำไปปรับปรุงนโยบายของตัวเองให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ที่อยากให้มีการคืนความเป็นธรรมเป็นอันดับแรก รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ยังคงหมกมุ่นอยู่กับ “นครปัตตานี” โดยมีความพยายามผลักดันในเรื่องนี้อีกครั้งในช่วงต้นของการบริหาร

แต่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.คัดค้านอย่างหนักหน่วง จนต้องพับโครงการไปอีกครั้ง

จากนั้นไฟใต้ลุกลามไปยังหาดใหญ่อย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 เกิดเหตุระเบิด ร.ร.ลีการ์เด้น หาดใหญ่ และอีกหลายจุดที่ยะลา โดยในวันเดียวมีผู้เสียชีวิตจากเหตุความรุนแรงนี้ถึง 15 ราย บาดเจ็บจำนวนมาก

สาเหตุความสูญเสียในครั้งนั้นเกิดจาก ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคุก เดินทางไปมาเลเซีย เจรจากับกลุ่มพูโลในช่วงต้นปี 2555 จนถูกพรรคประชาธิปัตย์นำมาเปิดโปงว่านักโทษหนีคุกที่เคยจุดไฟใต้ให้ลุกโชนรายนี้คือผู้ที่ทำให้ปัญหากลับมาทวีความรุนแรงอีกครั้ง จากพฤติกรรมมักง่ายคิดไม่รอบคอบ เจรจาไม่ถูกกลุ่ม จนเกิดปฏิกิริยาโต้กลับจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการเจรจาเพื่อแสดงศักยภาพ คนซวยคือชาวบ้านที่ต้องรับเคราะห์

แทนที่ ทักษิณ จะได้คิดและหยุดการเคลื่อนไหวที่เอาชีวิตประชาชนไปเสี่ยง เขากลับประกาศต่อสาธารณะถึงแนวทางการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งรัฐบาลไทยโดย นายกรัฐมนตรี น้องสาวนักโทษ ก็รับลูกเดินตามใบสั่งพี่ชาย จนนำไปสู่การเจรจาปาหี่กับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น และมีการนำแนวคิดการปกครองรูปแบบพิเศษกลับมาขายอีกครั้ง

เพียงแต่มีการเปลี่ยนชื่อเป็นครั้งที่สามจาก นครรัฐปัตตานี เป็น นครปัตตานี และล่าสุดเป็น มหานครปัตตานี

โดยมีการขายไอเดียว่า แนวคิดของมหานครปัตตานี คือ การให้ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มารวมเป็นจังหวัดเดียวคือ มหานครปัตตานี และให้เลือกผู้ว่าราชการจังหวัดมาปกครองตัวเอง ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่ ร.ต.อ.เฉลิม เคยขายต่อสังคมมาแล้วครั้งหนึ่งว่า ควรให้ประชาชนเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะรวมสามจังหวัดเข้าด้วยกันและเลือกผู้ว่าฯเพียงคนเดียวเหมือนกับแนวคิดล่าสุดทีี่มีการเผยแพร่อยู่ในขณะนี้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข้างต้นสะท้อนว่ารากเหง้าความคิดเกี่ยวกับ “นครปัตตานี” “นครรัฐปัตตานี” มาจนถึง “มหานครปัตตานี” หยั่งรากฝังหัวอยู่ในกลุ่มคนที่มีความรับผิดชอบต่อการแก้ปัญหาภาคใต้ชนิดที่ยากจะเปลี่ยนแปลง มีแต่จะพยายามหาช่องทางเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่วางไว้เท่านั้น

เพราะงานนี้ถ้าทำสำเร็จก็เท่ากับได้แต้มต่อทางการเมืองว่าสามารถดับไฟใต้ได้ ในขณะเดียวกันในทางธุรกิจคนคิดคดทรยศต่อบ้านเมืองก็เตรียมที่จะฉกฉวยโอกาสจากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อแบ่งสรรปันส่วนกันง่าย ๆ กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและผู้นำประเทศเพื่อนบ้านที่กระดี๊กระด๊าให้ความช่วยเหลือเต็มที่

สิ่งที่ต้องลุ้นนับจากนี้ไปคือ ปลายด้ามขวานไทยจะถูกแบ่งแยกออกไปในยุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อแลกกับคำว่า “สันติภาพ” ที่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจของใครบางคนอยู่เบื้องหลังหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น