xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.ให้ 30 วัน ปธ.สภาฯ ยื่นข้อมูลถอด ส.ส. “มาร์ค” - โยนศาลอาญาแจงคดีอัลรูไวลี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ)
โฆษกศาล รธน.แจง “ค้อนปลอม” มี 30 วัน ยื่นหลักฐานสอบคุณสมบัติ ส.ส. “อภิสิทธิ์” เพิ่ม ชี้ให้โอกาสเพราะมาถูกทาง หน.โฆษกศาล รธน. ชี้ปมสืบพยานอัลรูไวลี เป็นดุลพินิจศาลอาญา หลังศาล รธน.วินิจฉัย พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศ ม.41 ขัด รธน.

วันนี้ (14 มี.ค.) นายกมล โสตถิโภคา โฆษกสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นหลักฐานเพื่อเติมกรณีที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102(6) หรือไม่ หลังจากกระทรวงกลาโหมมีคำสั่งปลดออกจากราชการว่า กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องยื่นหลักฐานเพิ่มเติม โดยเฉพาะคำสั่งกลาโหมที่ออกมานั้นมีผลสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ และเหตุผลของคำร้อง เป็นที่สิ้นสุดแล้วหรือไม่ และความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส.ของอภิสิทธิ์สิ้นสุดลงอย่างไร ซึ่งต้องอธิบายด้วยเหตุ โดยผู้ร้องต้องยื่นเอกสารประกอบคำร้องเพิ่มเติมกลับมาให้ศาลรัฐธรรมนูญภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 17 เม.ย. และหากพ้นระยะเวลาที่ศาลกำหนดจะถือว่าผู้ร้องไม่ติดใจที่ชี้แจงเพิ่มเติม ศาลก็จะนำคำร้องดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุม เพื่อพิจารณาวินิจฉัยไม่รับคำร้อง

นายกมลกล่าวว่า การที่ศาลให้โอกาสผู้ร้องยื่นเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมทั้งที่ยังไม่ได้พิจารณารับคำร้อง เพราะผู้ร้องได้ยื่นมาถูกขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ตามมาตรา 91 วรรค 1 ที่ ส.ส.และ ส.ว.เข้าชื่อร้องผ่านประธานสภาฯ หรือประธานวุฒิสภา และอีกช่องทางคือยื่นให้ กกต.พิจารณาวินิจฉัย

ด้านนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 มาตรา 41 ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค ประกอบมาตรา 29 และมาตรา 40 (2) (3) (4) และ (7) ว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว พ.ร.บ.ดังกล่าวก็ถือว่าไม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลอาญา ว่าการดำเนินการไปสืบพยานของอัยการที่ไปสืบพยานปาก พล.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก หรือนายเกียรติกร แก้วเพชรศรี ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี จะนำมาพิจารณาในคดีด้วยหรือไม่ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ศาลอาญาก็ยังมีประมวลกฎหมายวินิจฉัยความทางอาญา ที่สามารถนำมาบังคับใช้ในการพิจารณาคดีได้ การสืบพยานในก่อนหน้าโดยใช้กฎหมายนี้จะเป็นโมฆะหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาลอาญา และการที่ พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศไม่สามารถใช้ได้แล้วจะยังคงประสานขอตัวพยานกลับมาดำเนินการสืบในประเทศไทยได้หรือไม่นั้น เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นดุลพินิจของศาลอาญาที่จะดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยใน พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ ทางศาลรัฐธรรมนูญได้มีการศึกษาข้อมูลของสนธิสัญญาระหว่างประเทศอย่างรอบคอบเนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ดังนั้นทางศาลรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อคำร้องนี้ให้มากที่สุด โดยมีการนำคำร้องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 7-8 ครั้ง นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 55 ที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น