xs
xsm
sm
md
lg

มติ กกต.ชง ปธ.สภาฯ ยื่นศาล รธน.วินิจฉัย “ชัยวัฒน์-โปรดปราน” พ้น ส.ส.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เลขาฯ กกต.เผยมติที่ประชุมชงประธานสภาฯ ยื่นศาล รธน.วินิจฉัยสิ้นสุดสมาชิกภาพ “ชัยวัฒน์-โปรดปราน” พ้นบัญชีรายชื่อรักประเทศไทย หลังลงชื่อในหนังสือลาออกสมาชิกพรรคสมบูรณ์

วันนี้ (31 ม.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ที่ประชุม กกต.มีมติให้เสนอเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการสิ้นสุดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรครักประเทศไทย ของนายชัยวัฒน์ ไกรฤกษ์ และนายโปรดปราน โต๊ะราหนี หลังจากที่ กกต.เห็นตามที่คณะกรรมการไต่สวนของ กกต.เสนอว่า นายชัยวัฒน์ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือลาออกจากเป็นสมาชิกพรรครักประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 11 ม.ค. 55 และนายโปรดปรานได้ลงลายมือชื่อในหนังสือลาออกจากเป็นสมาชิกพรรครักประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 10 ม.ค. 55 จริง หลังการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 54 โดยดำเนินการเรื่องดังกล่าว ณ ที่ทำการพรรครักประเทศไทย และยื่นต่อนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทยในวันเดียวกัน ทำให้ตามกฎหมายแล้วถือว่าเมื่อหนังสือลาออกของบุคคลทั้ง 2 คนยื่นถึงนายทะเบียนสมาชิกพรรค การลาออกนั้นเป็นอันสมบูรณ์ ส่งผลให้สิ้นสุดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106(7) ที่ กกต.ต้องยื่นต่อประธานสภาฯ เพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 โดย กกต.จะใช้เวลารวบรวมหลักฐาน เพื่อส่งให้ประธานสภาฯ ภายใน 1 เดือน

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวนายชูวิทย์ได้มีการส่งหนังสือลาออกของบุคคลทั้งสองมายัง กกต.เมื่อเดือน ก.ค. 55 แต่นายชัยวัฒน์ และนายโปรดปราน ได้ทำหนังสือคัดค้าน กกต.จึงตั้งคณะกรรมการไต่สวน โดยได้มีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้ที่ถูกร้องมาให้ถ้อยคำ ซึ่งนายชัยวัฒน์และนายโปรดปรานได้ให้ถ้อยคำรับกับเอกสารที่นายชูวิทย์นำมาอ้างว่าบุคคลทั้งสองได้ลงลายมือชื่อจากหนังสือลาออก ทางคณะกรรมการไต่สวนจึงได้ตั้งประเด็นในการพิจารณารวม 2 ประเด็น ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย คือ กรณีหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคของนายชัยวัฒน์ และนายโปรดปรานได้มีการลงนามที่ใด เมื่อใดและยื่นให้กับใครเมื่อใด และการลงลายมือชื่อในหนังสือลาออกเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 3 ก.ค. 54 และหากพบว่าเกิดขึ้นภายหลังจะมีผลทางกฎหมายหรือไม่อย่างไร จนในที่สุดคณะกรรมการไต่สวนได้มีการพิจารณาและเห็นว่า การลงลายมือชื่อของบุคคลทั้งสอง ลงหลังจากการเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 3 ก.ค. 54 จึงได้เสนอให้ กกต.พิจารณาและ กกต.ก็มีมติดังกล่าว

เมื่อถามว่า ในผลสอบของคณะกรรมการไต่สวนได้มีการพิจารณาในประเด็นที่บุคคลทั้งสองถูกบังคับให้ลงลายมือชื่อในหนังสือลาออกหรือไม่ นายภุชงค์กล่าวว่า จากการตรวจสอบรายงาน พบว่า มีการให้ถ้อยคำเหมือนทั้งสองฝ่ายมีการพูดคุยตกลงกัน แต่ประเด็นที่คณะกรรมการไต่สวนพิจารณาเป็นเรื่องของข้อกฎหมายว่าเมื่อมีการลงลายมือชื่อในหนังสือลาออก หลังจากมีการเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 3 ก.ค. 54 ทำให้การลาออกมีผลสมบูรณ์ในทางกฎหมายแล้วหรือยัง


กำลังโหลดความคิดเห็น