xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการสีแดงนำทีมบุกสภา หนุนวงนิรโทษฯ “เจริญ” เชื่อฝ่ายที่ไม่ร่วมรับได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อ.สังคมฯ มธ. นักวิชาการเพื่อ ปชต. ภาค ปชช. ยื่น ปธ.สภาฯ หนุนแนวทางถกปรองดอง “เจริญ” คิดเองฝ่ายที่ปัดร่วมเห็นชอบ อ้างไม่มีเสียงค้าน อ้อนเปิดช่องร่วมถกบ้าง ชี้นักโทษการเมืองแค่เห็นต่าง สมควรปล่อย “วัฒนา” เชิญทุกฝ่ายร่วมถก คาดก่อนปิดสมัยนิติฯ นัดถกอีก ส่วน พ.ร.บ.ส.ส.แดง สัปดาห์หน้ารู้เรื่อง

วันนี้ (14 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายวรพล พรหมิกบุตร อาจารย์คณะสังคมวิทยา และมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายวสันต์ ลิมป์เฉลิม ตัวแทนคณะนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย และสันติวิธี พร้อมกลุ่มผู้สนับสนุนการนิรโทษกรรม ประกอบด้วย กลุ่มนักธุรกิจนนทบุรี กลุ่มประชาชนรักประชาธิปัตยลพบุรี กลุ่มสถาบันพัฒนาประชาธิปัตย์ กลุ่มสื่ออาสาประชาชน ฯลฯ ยื่นหนังสือเรื่องการดำเนินการของรัฐสภาเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมทางการเมืองเพื่อความปรองดองของประชาชน ถึงนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานรัฐสภา เนื่องจากการเจรจาปัญหานิรโทษกรรมทางการเมืองเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่มีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาคนที่ 1 ในฐานะประธาน ทำให้ประชาชนได้เห็นว่าที่ประชุมสามารถบรรลุถึงจุดร่วมความเห็นและข้อเสนอที่ตรงกันเรื่องหนึ่ง ได้แก่ การสนับสนุนผลักดันร่วมกันให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวนักโทษ หรือผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกดำเนินคดีอันเกี่ยวข้องกับผลของการชุมนุมประชาชนทุกฝ่าย ด้วยวิธีทางกฎหมาย ซึ่งอาจจะทำให้ฝ่ายที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมคงจะสามารถยอมรับได้ไม่ยากในทางปฏิบัติ

นอกจากนี้ยังเป็นที่เห็นได้ชัดว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง และผลของความขัดแย้งทางการเมืองได้แสดงทัศนะหรือคำแถลงในที่ต่างๆ อย่างคล้ายคลึงกัน คือ ไม่คัดค้านการออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้เฉพาะแก่ประชาชนผู้ร่วมชุมนุมกับทุกฝ่ายที่กระทำผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และอาจรวมถึงพระราชบัญญัติความมั่นคงแห่งชาติฯ ด้วย ซึ่งความตกลงร่วมกันนี้จะมีความคืบหน้าต่อไปได้ชัดเจนในทางปฏิบัติ หากรัฐสภาประสานงานให้มีการเจรจาในที่ประชุมทำนองเดียวกันต่อไป

นายวรพลกล่าวว่า ในฐานะประชาชน และประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่เห็นพัฒนาการความคืบหน้าจากการดำเนินงานของรัฐสภาในระดับหนึ่ง และสนับสนุนทุกฝ่ายที่ส่วนร่วมทั้งในการแสดงข้อคิดเห็นต่างๆ แม้จะยังมีความแตกต่างกันบางส่วน แต่ความหวังในการปรองดองโดยส่วนรวมสามารถพัฒนาขึ้นได้จากการประชุมเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังอยากขอให้นายเจริญในฐานะประธาน เปิดโอกาสให้นักวิชาการ หรือประชาชน ได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมด้วย

นายวสันต์กล่าวว่า นักโทษการเมืองต่างจากนักโทษที่มีความผิดทั่วไป เพราะเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมืองเท่านั้น เพื่อสร้างบรรยากาศให้ดีขึ้นควรให้นักโทษการเมืองเหล่านั้นได้ออกมาสู้คดีหรือมีการนิรโทษกรรม สำหรับการเชิญฝ่ายต่างๆ เข้ามาพูดคุยเพื่อหาทางออกในเรื่องการนิรโทษกรรมของนายเจริญนั้น ถือเป็นก้าวแรกที่ดี ตนขอสนับสนุน

นายวัฒนากล่าวว่า นายเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดกว้างโดยต้องการให้ทุกฝ่ายเข้ามาพูดคุยเพื่อหาทางออกของประเทศร่วมกัน ในวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา แม้จะมีบ้างฝ่ายที่ไม่ได้เข้าร่วมในการพูดคุย แต่เชื่อว่าในอนาคตจะต้องการการพูดคุยในลักษณะนี้อีกแน่นอน จึงอยากเชิญทุกฝ่ายที่มีความสนใจในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของประเทศเข้ามาพูดคุยแสดงความคิดเห็นกัน

นายวัฒนากล่าวว่า คาดว่านายเจริญจะมีการนัดฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือเรื่องดังกล่าวก่อนปิดประชุมสมัยนิติบัญญัตินี้แน่นอน ส่วน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยเสนอต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น คาดว่าจะมีความชัดเจนว่าจะนำเข้ามาวาระการประชุมเพื่อพิจารณาเมื่อไหร่ในสัปดาห์คงจะมีความชัดเจนขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น