ASTVผู้จัดการรายวัน-"นิด้าโพล” เผยประชาชน 57% ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ยันคนผิดต้องรับโทษ วิปรัฐบาลโยน "สมศักดิ์" บรรจุร่างพ.ร.บ.นิรโทษเข้าสภาฯ แบไต๋เลื่อนขึ้นวาระพิจารณาแรกได้ หากคนเสนอขอใช้สิทธิ์ เด็กเพื่อไทยรุมสกรัม "มาร์ค" หยุดให้ร้ายนายใหญ่
วานนี้ (13 มี.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “พ.ร.บ. นิรโทษกรรม” ที่ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11-12 มี.ค.2556 จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,252 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา ทุกอาชีพ เกี่ยวกับความคิดเห็นเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมืองในช่วงเหตุการณ์ 19 ก.ย.2549-10 พ.ค.2554 พบว่า ประชาชน ร้อยละ 57.43 ไม่เห็นด้วย เพราะคนผิดต้องได้รับโทษ น่าจะมีวิธีที่ดีกว่านี้ และดูเหมือนจะเข้าข้างกับคนบางกลุ่มเท่านั้น และร้อยละ 31.71 ระบุว่าเห็นด้วย เพราะจะทำให้บ้านเมืองสงบสุข ไม่มีการแบ่งฝ่าย เรื่องจะได้จบและเริ่มต้นใหม่
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ร้อยละ 34.34 ระบุว่า ควรนิรโทษกรรมทั้งแกนนำและผู้ชุมนุมที่ฝ่าฝืนกฏหมาย รองลงมา ร้อยละ 29.80 ระบุว่า ควรนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทุกคน ยกเว้นผู้ที่มีอำนาจสั่งการ และร้อยละ 20.45 ระบุว่าควรนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ชุมนุมที่ฝ่าฝืนกฎหมาย มีเพียงร้อยละ 8.08 เท่านั้น ที่ระบุว่า ควรนิรโทษกรรมเฉพาะแกนนำ
อย่างไรก็ตาม ประชาชน ร้อยละ 59.03 ระบุว่า หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ นปช. เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จะนำไปสู่ความรุนแรงในสังคม และร้อยละ 19.65 ระบุว่า ไม่นำไปสู่ความรุนแรง
**โยนขุนค้อนบรรจุร่างพ.ร.บ.นิรโทษ
นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงความคืบหน้าของการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการกับส.ส.พรรคเพื่อไทยรวม 42 คนยื่นต่อสภาว่า ต้องรอให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร บรรจุในวาระการประชุมของสภาฯ หลังจากนั้น วิปรัฐบาลจะหารือร่วมกันอีกครั้ง แต่ตามระเบียบเเล้ว ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว สามารถเลื่อนขึ้นมาเป็นวาระพิจารณาเร่งด่วนได้ เพราะถือเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. ซึ่งขึ้นอยู่กับว่านายวรชัยต้องการใช้สิทธิเลื่อนขึ้นมาพิจารณาหรือไม่
นายไพจิตร ศรีวรขาน รองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะการจองจำนักโทษการเมืองในคุก ถือเป็นความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นต่อประชาชน ขณะนี้ยอมรับว่ามีความเห็นต่างในคณะกรรมการต่อประเด็นการหารือเรื่องนิรโทษ เพราะยังไม่สามารถตกผลึกแนวทางที่ชัดเจน เนื่องจากการประชุมในพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา ยังคงมีความเห็นต่างถึงแนวทางการออกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกเป็นพ.ร.บ. หรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)
นายนิคม ไวยรัชพาณิช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ ซึ่งเสนอเป็น พ.ร.บ.ดีกว่าเป็น พ.ร.ก. เพราะจะทำให้ขั้นตอนการพิจารณาเป็นไปอย่างรอบคอบ แต่มีความกังวลบางมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 3 และ 4 ที่มีเนื้อหากว้าง ให้อำนาจ ทั้งตำรวจและอัยการมากเกินไปในการใช้ดุลยพินิจ เกรงว่าจะมีกลุ่มอื่นได้รับประโยชน์ด้วย
"พรรคเพื่อไทยต้องรอบคอบ ซึ่งการเดินหน้าขับเคลื่อนจะต้องแสดงความจริงใจต่อกัน ควรระบุกลุ่มที่ได้ประโยชน์ให้ชัดเจน เพื่อให้ฝ่ายที่เห็นต่างเข้ามาร่วมมือด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณในความพยายามของนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่นัดกลุ่มผู้ขัดแย้งทางการเมืองเข้าหารือ สร้างความเข้าใจและหาทางออกเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม ส่วนกลุ่มที่ไม่ยอมเข้าร่วม โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ น่าจะเกิดจากความไม่ไว้วางใจ เพราะกรอบยังไม่มีความชัดเจน"
**เด็กพท.ตอก "มาร์ค"หยุดให้ร้ายนาย
นางจารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สไกป์ เข้ามาที่ประชุมส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นการครอบงำและเร่งรัดกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อล้างผิดให้ตัวเองว่า นายอภิสิทธิ์ควรหยุดพูดได้แล้ว ตอนประชาชนมาชุมนุมร่วมกันนับล้านคน เพื่อขอให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ ถ้านายอภิสิทธิ์ เป็นคนดีจริง คนดีเขาลาออกหรือยุบสภาไปนานแล้ว แต่สุดท้ายนายอภิสิทธิ์กลับสร้างเรื่องหาเหตุ จนเกิดการตายของผู้มาชุมนุมจำนวนมาก รวมทั้งบาดเจ็บหลายพันคน และได้รับผลกระทบต่อสุขภาพหลายหมื่นคน นายอภิสิทธิ์ น่าจะรู้ว่ามูลเหตุจูงใจเรื่องทั้งหมด มาจากการเมือง
"แม้เกิดเหตุการณ์บาดเจ็บล้มตายของคนไทยจำนวนมาก นายอภิสิทธิ์ เป็นผู้นำรัฐบาล กลับไม่ได้แสดงความรับผิดชอบอะไร และตลอดมายังขวางความเจริญในทุกๆ เรื่อง ซึ่งคนประเภทนี้ มีแต่จะพาประเทศไปสู่ความล้มเหลวและพ่ายแพ้"นางจารุพรรณกล่าว
นางขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์คงไม่เคยติดคุกจากการถูกปรักปรำ จึงไม่รู้ว่าคนที่อยู่ในคุกมีความรู้สึกอย่างไร สำหรับผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นถึงผู้นำประเทศ น่าจะมีความเห็นอกเห็นใจความเดือดร้อนของประชาชน ให้ได้ประกันตัวออกมาทำมาหากิน ถึงแม้จะเป็นประชาชนเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ได้เลือกพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาลก็ตาม ก็ควรจะเห็นใจพ่อแม่ พี่น้องของคนที่ติดคุกที่ต้องทำมาหากินแทน เพราะสิ่งที่พวกเขาขอ ก็เป็นแค่สิทธิในการประกันตัวชั่วคราวเท่านั้น
** ป้อง”แม้ว”ไม่ใช่คนเร่งความขัดแย้ง
ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5) พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการหารือเกี่ยวกับพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อละเว้นผู้กระทำความผิดทางการเมืองว่า ถือเป็นเวทีที่ดี เมื่อเปิดเวทีให้ใช้แล้ว ใครที่มีโอกาสก็ควรใช้ เมื่อเชิญแล้ว ก็ควรจะไป ส่วนจะสำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขอให้ชกบนเวที อย่าชกข้างเวที ถ้าไม่เห็นด้วยต้องไปคุยกันบนเวที ไม่ใช่ไม่พอใจ ไม่ถูกใจตัวเองแล้วไม่ไป ซึ่งทุกฝ่ายต้องได้รับความเป็นธรรม เพราะมีกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว ส่วนทหารที่ได้รับความสูญเสีย ตนดูแลอยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ควรได้รับการนิรโทษกรรมด้วยนั้น เป็นเรื่องที่คณะทำงานที่เกี่ยวข้องต้องคุยกัน ซึ่งต้องฟังมติส่วนรวมอยู่แล้ว ตนเป็นคนข้างนอก ไม่อยากให้ความคิดเห็นมาก ถ้าออกมาอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ทั้งนี้ อย่ามองว่า การที่พ.ต.ท.ทักษิณ สไกป์มาจะทำให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น ขอให้มองในเรื่องดีๆ บ้าง เพราะพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนๆ หนึ่งที่มีสิทธิ์ออกความคิดเห็น ลองไม่เสนอข่าวบ้างก็จบ ไม่มีอะไรมาก
**เอเเบคเสนอโรดเเม็ปรวมคนในชาติ
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงสื่อมวลชนเรื่อง "เสนอโรดแม็ป เผย 3 ปัจจัยรวมทุกคนในชาติเป็นหนึ่งเดียวบนผืนแผ่นดินไทย" ใจความว่า สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ยังคงมีสัญญาณของความขัดแย้งแตกแยกของคนในชาติและความไม่มั่นคงภายในประเทศปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในทางการเมืองระดับชาติ และในวิถีชีวิตประจำวันของประชาชน แต่ยังมีความเป็นไปได้ที่จะรวมทุกคนในชาติเป็นหนึ่งเดียวบนผืนแผ่นดินไทย
โดยได้ให้ข้อเสนอแนะ 3 ประการ ได้แก่ 1.การรณรงค์ปลูกจิตสำนึกรู้คุณแผ่นดินเป็นค่านิยมร่วม เพราะทุกคนคือคนไทย ที่มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ 2.ความวางใจในรัฐบาล เพราะเมื่อพรรคการเมืองชนะเลือกตั้ง ก็ต้องเคารพและให้โอกาสในการทำงาน โดยรัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบ และ 3.การกำหนดเป้าหมายของชาติและผลประโยชน์ร่วมกัน