xs
xsm
sm
md
lg

คลี่ปม “ฮัสซัน ตอยิบ” แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น เบื้องหลังกระบวนการสันติภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อดีตบีอาร์เอ็น” เผยสถานะ “ฮัสซัน ตอยิบ” แค่แขนซ้ายดูแลฝ่ายทหาร ตัวเป้งสั่งการอยู่นอกประเทศ เป้าหมายสูงสุดยึดปัตตานี แย้มเคยบินไปดูไบเจรจา “ทักษิณ” หลายครั้ง เหตุมีคุณสมบัติเด่นแหกโค้งและข้ามช่องโหว่ต่างๆ ได้ ชี้ไฟใต้ยังระอุเหตุไม่ได้มีบีอาร์เอ็นกลุ่มเดียว แต่เชื่อหากรัฐจริงใจ เป็นธรรม สถานการณ์อาจจะเบาบางลง ระบุรัฐงัด พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ม.21ส่อเค้าล้มเหลว ตัวปลอมแห่จัดฉาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอข้อมูลจากบทสัมภาษณ์พิเศษอดีตแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น หรือขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) ซึ่งเคยรู้จักเป็นการส่วนตัวกับนายฮัสซัน ตอยิบ หรือที่เรียกกันในหมู่คนรู้จักว่า อาแซ ตอยิบ เพื่อบอกเล่าประวัติของนายฮัสซัน และเส้นทางของขบวนการบีอาร์เอ็นบางช่วงบางตอนทำให้เห็นถึงการทำงานขยายฐานมวลชนของขบวนการปฏิวัติมลายูองค์กรนี้ และที่สำคัญที่สุดคือ เบื้องหลังของกระบวนการสันติภาพที่กำลังก่อร่างขึ้นท่ามกลางความสงสัยใคร่รู้ของผู้คนจำนวนมาก

การพูดคุยสัมภาษณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ณ สถานที่ปิดลับแห่งหนึ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การสัมภาษณ์ทั้งหมดใช้ภาษามลายูถิ่นปัตตานี และถอดความโดย “ทีมข่าวอิศรา” โดยอดีตแกนนำบีอาร์เอ็นผู้นี้ขอใช้นามแฝงว่า “นายโฮป” เขาออกจากขบวนการมานานพอสมควรจากความจำเป็นทางครอบครัว

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลหลายแหล่งที่ “ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบ รวมถึงแนวร่วมรุ่นใหม่ในพื้นที่ ล้วนยืนยันตรงกันว่า “นายโฮป” คือผู้ที่เคยร่วมหัวจมท้ายอยู่กับขบวนการบีอาร์เอ็นในยุคหนึ่งจริง

อุสตาซฮัสซัน ตอยิบ เป็นใคร?

นายฮัสซัน ตอยิบ คือคนเดียวกับ อาแซ ตอยิบ เคยมีตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ. (ผู้นำทางทหาร) ของขบวนการบีอาร์เอ็นรุ่นที่ 13 ฉะนั้น อาแซ ตอยิบ จึงเป็นตัวจริง คิดว่าหลังจากที่มีการลงนามในข้อตกลงก็น่าจะมีเสียงตอบรับที่ดีสำหรับฝ่ายขบวนการ เพราะอาแซ ตอยิบ ถือเป็นมือหนึ่ง สถานะของเขารองจากหัวหน้าพรรค คือ สะแปอิง บาซอ (อดีตครูใหญ่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา ซึ่งข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงระบุว่าเป็นหัวหน้าขบวนการบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต) และสะแปอิง บาซอ ให้ความไว้วางใจและนับถืออาแซ ตอยิบมาก

ทำไมหลังลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการสันติภาพแล้ว สถานการณ์ในพื้นที่จึงยังมีความรุนแรงอยู่

เหตุการณ์ก็จะไม่สงบลงทันทีหลังจากพูดคุย เพราะใครๆ ก็รู้ว่าคนที่ก่อเหตุในพื้้นที่ไม่ได้มีบีอาร์เอ็นกลุ่มเดียว แน่นอนจะต้องมีเหตุระเบิด เหตุยิงรายวันเหมือนเดิมไปอีกระยะ จนกว่าฝ่ายขบวนการจะเห็นความจริงใจของรัฐ และรัฐเองได้แสดงความจริงใจออกมาจริงๆ ถ้าถึงตอนนั้นเหตุการณ์ในพื้นที่อาจจะเบาบางลง แต่คงไม่ถึงขั้นสงบไปทั้งหมดเลย เพราะไม่ใช่บีอาร์เอ็นเท่านั้นที่ก่อเหตุในพื้นที่

อยากให้เล่าประวัติของ ฮัสซัน ตอยิบ

ผมรู้จัก อาแซ ตอยิบ ตั้งแต่ 30-40 ปีก่อน สมัยบีอาร์เอ็นแตก (ราวปี พ.ศ. 2520) และกำลังอยู่ในช่วงฟื้นขบวนการใหม่ ตอนนั้นเมื่อขบวนการแตกก็ทำให้แต่ละคนแยกย้ายไปทำภารกิจของตนเอง ตอนที่อยู่ข้างใน (หมายถึงในขบวนการ) อาแซ ตอยิบเคยเล่าให้ฟังว่า เขาเริ่มเข้าขบวนการตั้งแต่อายุ 18 ปี ตอนแรกๆ ไปเรียนที่ประเทศอินโดนีเซีย ได้รับการวางตัวว่าให้กลับมาผู้นำสายกองทัพ เมื่อเรียนจบก็กลับประเทศไทย อยู่ได้ไม่นานก็ไปมาเลเซียเพื่อรับตำแหน่ง

สมัยนั้นการเดินทางจะใช้เรือเป็นหลัก ผมเป็นคนไปรับเขาที่ท่าเรือบ่อยๆ ตอนนั้นคนในพื้นที่ยังไม่ได้รู้จัก อาแซ ตอยิบ ว่าเป็นคนในขบวนการ และเขาเองก็ไม่ได้ใช้ชื่อ อาแซ ตอยิบ ส่วนใหญ่เราใช้ชื่อสัตว์เป็นรหัสหรือฉายาเวลาทำงานให้กับขบวนการ

เท่าที่จำได้ อาแซ ตอยิบ เล่าว่า ช่วงที่อยู่ในพื้นที่ (ฝั่งไทย) เขาเดินสายสอนหนังสือแทบทุกปอเนาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการตระเวนสอน และยังได้ก่อตั้งโรงเรียนตาดีกาขึ้นมา ทำให้ในพื้นที่มีการเรียนการสอนระบบตาดีกา ต่อมาคนในพื้นที่เริ่มรู้จักเขา ทำให้เขาต้องไปอยู่มาเลเซีย โดยไปลงเรือที่ท่าเรือปัตตานี แถวๆ หนองจิก (อำเภอหนึ่งของ จ.ปัตตานี)

ตั้งแต่วันนั้นจนถึงตอนนี้ก็นานมากแล้วที่ไม่ได้เจอกัน เชื่อว่า อาแซ ตอยิบ ยังคงเปิดร้านรับจ้างขูดมะพร้าวเพื่อไปทำกะทิ เพราะตอนที่ขบวนการแตก หลายคนก็ทำงาน ขายลูกชิ้นบ้าง ขายปลาบ้าง ต่อมาเมื่อฟื้นขบวนการก็อยู่กันปกติ ไม่ได้หลบซ่อน

กระบวนการสันติภาพเริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร

ผมไม่ทราบจุดเริ่มต้นที่ชัดเจน แต่รู้ว่าการเปิดเวทีพูดคุยทำให้คนในขบวนการชื่นชมทักษิณมาก (หมายถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย) เพราะเป็นผู้ชายคนแรกที่กล้ามาพูดคุยกับบีอาร์เอ็น และทำให้สังคมโลกรู้ว่าจริงๆ แล้วรัฐไทยยอมรับว่าขบวนการนี้มีอยู่จริง ไม่ได้ลอยๆ อย่างในอดีต

ทำไมที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงไทยบางส่วนระบุว่า ฮัสซัน ตอยิบ เป็นแกนนำพูโล โดยเฉพาะช่วงที่เข้าพบและพูดคุยกับคุณทักษิณที่มาเลเซียเมื่อเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว

จริงๆ เขาเป็นแกนนำบีอาร์เอ็นตลอด ไม่เคยเปลี่ยน แต่รัฐมั่วเอง ไปใส่ประวัติว่าเป็นพูโล ตอนนี้มาเลย์ก็ยืนยันแล้วว่าเป็นแกนนำบีอาร์เอ็น รัฐเองก็น่าจะเข้าใจแล้ว

กระบวนการสันติภาพหลังจากนั้นเป็นอย่างไร

จริงๆ ครั้งแรกของการพูดคุยไม่ได้เกิดขึ้นแค่ช่วงปีสองปีนี้ จริงๆ เกิดขึ้นมานานแล้ว ครั้งแรกที่มีการพูดคุยระหว่างทักษิณกับกลุ่มของ อาแซ ตอยิบ ไปคุยกันที่ดูไบ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) โดยมีคนของดูไบเป็นคนกลาง และหลังจากนั้นก็มีการคุยกันอีกหลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ 3 ไม่ได้คุยในประเทศที่เขาหลบซ่อน (หมายถึงฝ่ายบีอาร์เอ็นใช้เป็นที่พำนัก เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย)

ทำไมขบวนการบีอาร์เอ็นถึงไว้ใจคุณทักษิณ ทั้งๆ ที่มีกระแสว่าคนสามจังหวัดไม่เอาอดีตนายกฯ คนนี้

สาเหตุที่เขาไว้วางใจทักษิณ และไม่ได้วางใจพรรคประชาธิปัตย์ เพราะมองว่านโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีทางยอมตามข้อเสนอของขบวนการได้เลย แต่สำหรับทักษิณมีการแหกโค้งและข้ามช่องโหว่ต่างๆ ได้ ทักษิณมีข้อดีตรงจุดนี้ และเมื่อทักษิณยอมพูดคุย ทำให้แกนนำเชื่อในตัวทักษิณ และยอมที่จะพูดคุยด้วย เพราะขบวนการเองก็ไม่อยากใช้ความรุนแรง อยากให้เกิดความสงบสุข

เป้าหมายสุดท้ายของขบวนการคืออะไร คือแผ่นดินปัตตานีใช่หรือไม่

เราวางหลักการเอาไว้ว่าจริงว่าต้องแผ่นดินเท่านั้น จุดจบทั้งหมดต้องแผ่นดิน แต่ถ้าหากรัฐมีความจริงใจ ทำอะไรให้หลายๆ อย่างแก่คนในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องความเป็นธรรม เป้าหมายสูงสุดของขบวนการอาจไม่ใช่แผ่นดินก็ได้

ผมอยากให้หลายๆ คนเข้าใจ เพราะการที่ทุกคนให้ความหมายว่าต้องแผ่นดินเท่านั้น มันจะต้องหมายถึงการเสียเลือดเนื้อของพี่น้องประชาชนจำนวนมาก จะต้องมีการแตกหัก และขบวนการเองก็ไม่ได้มีนโยบายที่จะแลกเลือดเนื้อของพี่น้องเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการหรือในสิ่งที่ทางกลุ่มปักธง

ทำไมบีอาร์เอ็นถึงเคยแตกมาครั้งหนึ่ง

ตอนนั้นมีปัญหาเรื่องการแย่งชิงอำนาจ ไม่ไว้วางใจกัน แกนหลักๆ ก็ต้องหนีไปมาเลย์ อยู่อย่างอดอยาก จากนั้นพวกเขาก็ไปหาสะแปอิง บาซอ ปรากฏว่าสะแปอิงให้กำลังใจ บอกกับพวกเขาว่า พระเจ้าจะไม่ให้เราตายเพราะอด ทุกคนได้ฟังแล้วก็มีกำลังใจและเดินหน้าต่อ จนสามารถต่อสู้ได้จนถึงทุกวันนี้

โครงสร้างของบีอาร์เอ็นประกอบด้วยฝ่ายใดบ้าง

สูงสุดคือศาสนา รองลงมาคือพรรค และคนที่อยู่สูงสุดแต่ใต้พรรค คือ สะแปอิง บาซอ แขนซ้ายของสะแปอิง คือ อาแซ ตอยิบ ดูแลฝ่ายทหาร แขนขวาคือฝ่ายมหาดไทย แต่ผมไม่ขอออกชื่อ คนเหล่านี้อยู่นอกประเทศไทย และมีรองที่อยู่ในพื้นที่ คอยรับนโยบายจากทางพรรค แล้วก็กระจายลงไปยังระดับจังหวัด อำเภอ จากนั้นฝ่ายปฏิบัติก็จะแบ่งงานกันว่าใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่

ทำไมถึงออกจากขบวนการ

ตอนนั้นแม่ของภรรยาเสียชีวิต และภรรยามีน้องที่พิการต้องดูแล เมื่อแม่เขาตายก็ไม่มีใครช่วยดูแล ภรรยาก็บอกว่าต้องกลับบ้านแล้วนะ (ขณะนั้นนายโฮปกับภรรยาอยู่มาเลเซีย) จากนั้นภรรยาก็กลับบ้าน ผมก็คิดอยู่นาน สุดท้ายก็ตามกลับมา

ผมพิจารณาแล้วเห็นว่าขบวนการสั่งการจากข้างนอกได้ และตัวเราเองก็แก่แล้ว จึงขอวางมือ ก็เข้าไปคุยกับข้างใน เขาก็ว่าวางมือก็ได้ แต่รู้ใช่ไหมว่าควรทำอย่างไร ความในอย่านำออก ความนอกอย่านำเข้า และหลังจากนี้ข้างในจะไม่เชื่อถืออีกแล้ว ผมก็รับปาก หลังจากนั้นก็กลับมา และอยู่ในพื้นที่ตลอด แต่ก็ยังทราบข่าวคราวของพรรคพวกเป็นระยะ

การพูดคุยสันติภาพมองว่ามีความหวัง แล้วมาตรการที่รัฐเตรียมเอาไว้สำหรับกลุ่มติดอาวุธที่เคลื่อนไหวอยู่ข้างใน อย่างมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ คิดว่าพอไปได้หรือไม่

เรื่องข้อเสนอ เงื่อนไข และวิธีการปฏิบัติหลังจากพูดคุยเจรจาคงต้องมาคุยกัน แต่เรื่องมาตรา 21 ผมเห็นว่าสมัยก่อนรัฐก็ใช้วิธีการคล้ายๆ กันนี้สมัยแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ (มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ให้ผู้ที่เคลื่อนไหวอยู่วางอาวุธกลับมาร่วมพัฒนาชาติไทย) มันเคยมีปัญหาเมื่อระดับนโยบายสั่งว่าให้ใช้ระบบนี้ ระดับข้างล่างอยากจะทำผลงานก็เลยต้องมีค่าหัว (หมายถึงต้องจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่หากจะเข้ากระบวนการ) ในอดีตเขาทำกันแบบนี้

ฉะนั้น ถ้ารอบนี้ที่เปลี่ยนมาใช้มาตรา 21 ยังมีปัญหาแบบเดิมอีก จะไม่มีอะไรดีขึ้น เท่าที่ผมทราบ เริ่มกระบวนการยังไม่ทันไรก็เริ่มมีค่าหัวแล้ว มีค่าจัดฉากหลายๆ อย่าง มีการนำคนที่ไม่ได้เป็นขบวนการแต่อ้างว่าเป็น ถึงขนาดซื้ออาวุธไปฝัง แล้วบอกว่าเป็นอาวุธปืนที่เตรียมใช้ก่อเหตุรุนแรง ถ้ารัฐทำแบบนั้น มาตรา 21 จะล้มเหลวไม่ได้ผล เพราะคนที่ออกมาไม่ใช่ของจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น