กกต.ยังไม่พิจารณารับรอง “สุขุมพันธุ์” เป็นผู้ว่าฯ กทม. คาดนำเข้าที่ประชุมพรุ่งนี้ แต่ต้องจับตาต้องรอประธาน กกต.กลับมาจากมาเลเซียก่อนหรือไม่
นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวภายหลังการประชุม กกต.ว่าที่ประชุมยังไม่ได้พิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจาก กกต.กทม.เพิ่งเสนอเรื่องมายังไม่ได้มีการบรรจุลงในวาระ แต่ กกต.ได้มีการพูดคุยกันว่าอาจจะมีการพิจารณาในการประชุมวันพรุ่งนี้ (6 มี.ค.) โดยองค์ประชุมจะมี กกต.เพียง 4 คน เนื่องจากนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.ติดภารกิจไปศึกษาดูงานของหลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 4-7 มี.ค.นี้ และจะมาทำงานในวันศุกร์ที่ 8 มี.ค. ดังนั้นองค์ประชุม กกต.ทั้ง 4 คนก็จะต้องมีการหารือกันก่อนว่าจะพิจารณาประกาศรับรองผลหรือจะรอประธาน กกต.กลับมาก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากรอประธาน กกต. การประกาศรับรองผลจะทันหรือไม่ เพราะตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครกำหนดให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ต้องเข้าปฏิบัติหน้าที่ภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง นายภุชงค์กล่าวว่า ต้องรอดูความชัดเจนของที่ประชุม กกต.ในวันพรุ่งนี้ (6 มี.ค.) ก่อน โดยในเรื่องของการประกาศรับรองผล ต้องยึดตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค) ฉบับที่ 32 ที่ให้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 7 วันหากไม่มีเรื่องร้องเรียน แต่ถ้ามีเรื่องร้องเรียนให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ถ้าไม่แล้วเสร็จให้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไปก่อน ซึ่งในกรณีของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์นั้นมีเรื่องถูกร้องเรียนอยู่ 2 เรื่อง ดังนั้นจึงอยู่ที่การสืบสวนและดุลพินิจของ กกต. ที่หากเห็นว่าเรื่องที่มีการร้องเรียนนั้นไม่มีความรุนแรง และงานของกรุงเทพมหานครมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ผู้ว่าฯ กทม.ต้องรีบเข้าไปสะสางแก้ไข ก็อาจจะมีการประกาศรับรองผลไปก่อนครบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดได้
นายภุชงค์กล่าวอีกว่า จากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 1,528,855 โดยในจำนวนนี้เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ติดสอบ GAT/PAT จำนวน 2,821 คน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 72 กำหนดให้บุคคลที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งต้องแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งภายใน 7 วันหลังวันเลือกตั้ง ซึ่งก็คือภายในวันที่ 10 มี.ค. เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ 6 ประการ คือ 1. สิทธิในการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น 2. สิทธิร้องคัดค้านการเลือกกำนันและผู้ใหญ่บ้าน 3. สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น 4. สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน 5. สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น และ 6. สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
“ในกรณีของนักเรียนที่ติดสอบ GAT/PAT ก็ทราบว่าไม่กล้ามาใช้สิทธิเลือกตั้งเพราะกลัวจะกลับไปสอบไม่ทัน จึงอยากกำชับให้ผู้ปกครองเตือนให้บุตรหลานได้แจ้งเหตุแห่งการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งด้วยเพื่อไม่ให้เสียสิทธิทั้ง 6 ประการ เพราะแม้สิทธิทั้งหมดจะเป็นสิทธิทางการเมือง แต่ก็ถือว่ามีความสำคัญโดยเฉพาะสิทธิในการที่จะถอดถอนสมาชิกหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งในปีหน้าจะมีการเลือกตั้ง ส.ว.ปี 57 ทาง กกต.ก็จะได้แจ้งแผนงาน และวันเลือกตั้งให้กับทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการทราบแต่เนิ่นๆ เพื่อใช้ในการกำหนดวันทดสอบทางการศึกษาให้ไม่ตรงกับวันเลือกตั้ง”