รองโฆษกเพื่อไทย พาสื่อพิสูจน์บ้านย่านบางแค พบเจ้าบ้านมีคนเดียว แต่รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.งอกอีก 6 คน เจ้าบ้านยันไม่รู้จัก แต่ถูกสวมสิทธิ์จากทะเบียนบ้านเก่า “หมวดเจี๊ยบ” ชม กกต.กทม.เปิดประเด็น ยินดีนำข้อมูลส่งต่อดำเนินการ
วันนี้ (28 ก.พ.) ร.ท หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองโฆษกศูนย์อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ได้พาสื่อมวลชนเดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังพบความไม่ถูกต้องของบัญชีรายผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่หมู่บ้านเศรษฐกิจ เขตบางแค ณ บ้านเลขที่ 545 ถนนหมู่บ้านเศรษฐกิจ แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กทม.ซึ่งเป็นบ้านของนายชาญชัย ยวงพานิช โดยกล่าวว่า ตนเป็นเจ้าบ้าน และมีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเพียงคนเดียว ไม่มีรายชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนอีก แต่ปรากฏว่า เมื่อถึงเวลาจะเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.นายชาญชัย ซึ่งเป็นเจ้าบ้าน และมีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเพียงคนเดียว กลับได้รับหนังสือแจ้งจาก กกต. ว่า บ้านของตนเองมีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีก 6 คน ซึ่งนายชาญชัยไม่รู้จัก และไม่เคยยินยอมให้ย้ายเข้ามาอยู่ในทะเบียนบ้าน
ที่น่าสังเกตยิ่งกว่านั้น ก็คือบุคคลแปลกปลอมทั้ง 6 คน ถูกกำหนดให้ใช้สิทธิเลือกตั้งในบ้านเลขที่เก่าของนายชาญชัย ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว เนื่องจากบ้านหลังนี้ ได้ถูกเปลี่ยนแปลงเลขที่บ้าน จากเดิมบ้านเลขที่ 122/1 เปลี่ยนเป็นบ้านเลขที่ 545 ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยสำนักงานเขตบางแค ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว แล้วเหตุใดจึงมีการใส่รายชื่อบุคคลทั้ง 6 คน เข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งในทะเบียนบ้านเดิมที่ยกเลิกไปแล้ว และยังกำหนดให้บุคคลแปลกปลอมทั้ง 6 คน ไปใช้สิทธิเลือกตั้งคนละคูหากับเจ้าของบ้านอีกด้วย ซึ่งนายชาญชัย ย่อมไม่มีทางทราบได้ว่ามีบุคคลอื่นแปลกปลอมเข้ามาใช้สิทธิเลือกตั้งในทะเบียนบ้านเก่าของตนเอง คือ บ้านเลขที่ 122/1 เพราะบุคคลทั้ง 6 คนดังกล่าว ถูกกำหนดให้ไปใช้สิทธิคนละคูหากับเจ้าของบ้าน สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งติดประกาศอยู่ที่หน่วยเลือกตั้งต่างๆ ในขณะนี้ เป็นการใช้สิทธิในทะเบียนบ้านที่ยกเลิกไปแล้วตามกฎหมาย มีจำนวนกี่ร้อยกี่พันหลังคาเรือน โดยเฉพาะรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่ในเล่มเดียวกับรายชื่อบุคคลแปลกปลอม ในกรณีของนายชาญชัย ซึ่งขณะนี้ติดประกาศอยู่ที่หน่วยเลือกตั้งแล้ว
ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวว่า สาเหตุที่พรรคเพื่อไทยนำคณะสื่อมวลชนลงตรวจสอบข้อเท็จจริงในครั้งนี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าปัญหาดังกล่าวมีอยู่จริง และเมื่อวานนี้ (27 ก.พ.) พรรคเพื่อไทยได้รับหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร ที่ ลต (กทม) 0705/42 เรื่องการย้ายเข้าเพื่อเลือกตั้ง เพื่อขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติดังกล่าว ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยได้รับทราบความผิดปกติ 4 รูปแบบ ในเขตบางแค ภาษีเจริญ และวังทองหลาง คือ 1.กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงหมายเลขทะเบียนบ้าน พบว่า มีการใส่รายชื่อบุคคลแปลกปลอมเข้าไปในสิทธิเลือกตั้งในที่อยู่เก่าที่ได้ยกเลิกไปแล้วตามกฎหมาย โดยที่เจ้าของบ้านไม่รู้เรื่อง ทั้งยังกำหนดให้บุคคลแปลกปลอมเหล่านั้นไปใช้สิทธิเลือกตั้งคนละหูหากับเจ้าของบ้านอีกด้วย ซึ่งจะทำให้เจ้าบ้านไม่มีทางทราบว่ามีบุคคลอื่นมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งในทะเบียนบ้านเก่าของตัวเองที่ได้ยกเลิกไปแล้ว ซึ่งเป็นกรณีที่พบในบริเวณหมู่บ้านเศรษฐกิจ เขตบางแค และสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือ รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งติดประกาศอยู่ที่หน่วยเลือกตั้งต่างๆ ในขณะนี้ เป็นการใช้สิทธิในทะเบียนบ้านที่ยกเลิกไปแล้วตากฎหมาย มีจำนวนกี่ร้อยกี่พันหลังคาเรือน โดยเฉพาะรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่อยู่ในเล่มเดียวกับรายชื่อบุคคลแปลกปลอม ซึ่งขณะนี้ติดประกาศอยู่ที่หน่วยเลือกตั้งแล้ว
2.ทะเบียนบ้านเดียวกัน แต่มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 2 ชุด ชุดแรก คือ เจ้าของบ้านตัวจริง ส่วนชุดที่สอง เป็นบุคคลแปลกปลอมที่เจ้าของบ้านไม่รู้จัก และกำหนดให้ไปใช้สิทธิ์คนละคูหากัน ซึ่งเป็นกรณีที่พบในเขตวังทองหลาง 3.กรณีผู้เสียชีวิตไปถึง 3 ปี แล้ว แต่กลับยังมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.ส่งมาให้ที่บ้าน ซึ่งกรณีนี้ หากมีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เจ้าตัวย่อมไม่รู้ เพราะเสียชีวิตไปแล้ว และยังตรวจสอบได้ยาก เนื่องจากบุคคลที่เสียชีวิตแล้ว ย่อมสิ้นสภาพและเสียสิทธิ์ต่างๆ ตามกฎหมาย ก็จะเกิดปัญหาอีก ว่าใครจะมีสิทธิในการขอตรวจสอบหรือทวงสิทธิ์แทนผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งเป็นกรณีที่พบในเขตภาษีเจริญ และ 4.ปัญหารายชื่อบุคคลอื่นแปลกลอมเข้ามาในทะเบียนบ้าน โดยที่เจ้าของบ้านไม่ทราบและไม่ยินยอม ซึ่งเป็นปัญหาที่พบในทั้ง 3 เขต
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยชื่นชมที่ กกต.กทม.เห็นความสำคัญกับเรื่องนี้ และพรรคเพื่อไทยยินดีจะนำข้อมูลที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน เพื่อรวบรวมส่งต่อให้ กกต.กทม ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้น และแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป ส่วนเรื่องการตรวจสอบว่าบุคคลแปลกปลอมดังกล่าวเป็นใครมาจากไหน และค้นหาข้อเท็จจริงว่ารายชื่อของบุคคลเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในบัญชีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้อย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องของ กกต.โดยเฉพาะ กกต.กทม.และ สำนักงานเขต ที่จะมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดการเลือกตั้ง ในส่วนของพรรคเพื่อไทยนั้น อยู่ในฐานะผู้สมัคร คงทำได้เพียงแค่ส่งต่อข้อมูลให้ กกต.และรณรงค์ให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้งในบ้านของตนเอง เพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ กกต.ควรชี้แจงแนวทางปฏิบัติให้ประชาชนทราบว่าต้องทำอย่างไร เพราะขณะนี้เลยกำหนดการแจ้งแก้ไขข้อมูลตามที่ กกต.กำหนดไปแล้ว