xs
xsm
sm
md
lg

สมช.โวลงนามโจรใต้ กุญแจสู่ความสงบ มทภ.4 ชี้กองทัพไม่รู้ เป็นเรื่องรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร (แฟ้มภาพ)
เลขาฯ สมช.ระบุการลงนามสันติภาพกับบีอาร์เอ็น เป็นกุญแจดอกแรกที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีมาเลย์เป็นผู้ประสาน เผยอีก 2 สัปดาห์นัดหารือเพื่อติดตามผลการลงนาม ไม่รู้ “นายกฯ ปู” จะพบกับแกนนำบีอาร์เอ็นหรือไม่ ด้านแม่ทัพภาค 4 ชี้การลงนามกับโจรใต้ไม่เกี่ยวกับกองทัพ เป็นเรื่องของรัฐบาล ทหารพร้อมทำตามคำสั่ง และยังคงเดินหน้าดูแลความปลอดภัยต่อไป

วันนี้ (28 ก.พ.) พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์จากประเทศมาเลเซีย หลังลงนามแสดงเจตนารมณ์เริ่มต้นสู่สันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ “general consensus document to launch a dialogue process for peace in the border province of southern Thailand” กับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ได้แก่ นายฮัสซัน ตอยิบ หรือนายอาแซ เจ๊ะหลง รองเลขาธิการฯ และหัวหน้าสภาการเมืองของกลุ่มบีอาร์เอ็น พร้อมด้วยนายอาแว ยะบะ เลขานุการฝ่ายต่างประเทศ นายอับดุลเลาะห์ มาหะมะ ระดับนำฝ่ายอูลามา และนายอับดุลเลาะห์มาน ยะบะ ระดับนำฝ่ายการเมืองว่า ตนเป็นผู้นำคณะในการลงนามกับกลุ่มตัวแทนบีอาร์เอ็นจำนวน 4 คน โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องของประเทศมาเลเซีย เป็นสักขีพยาน โดยมีข้อตกลงที่จะร่วมกันพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อนำไปสู่สันติสุข ทั้งนี้จะมีการพูดคุยและแสดงความคิดเห็นถึงปัญหาในพื้นที่ โดยจะเป็นการจัดเวทีพูดคุยเพื่อให้เกิดสันติภาพ

สำหรับการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นในครั้งนี้ถือว่าเป็นการเปิดกุญแจดอกแรกเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการพูดคุยครั้งนี้เป็นไปตามแผนนโยบายการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามแผนพัฒนาข้อ 8 ของ สมช. อย่างไรก็ตามประเทศมาเลเซียพร้อมจะประสานให้ความร่วมมือดังกล่าว โดยหลังจากนี้อีก 2 สัปดาห์จะมีการหารือเพื่อติดตามการลงนามในเรื่องดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนการเดินทางมายังประเทศมาเลเซียคของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในวันนี้ ตนไม่ทราบว่านายกฯ จะได้มีโอกาสพบปะเพื่อพูดกับกลุ่มตัวแทนทั้ง 4 คนของกลุ่มบีอาร์เอ็นหรือไม่ เรื่องนี้คงจะต้องรอเช็กตารางเวลาของนายกฯ อีกครั้งหนึ่ง

ด้าน พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพ โดยทางทหารได้เปิดช่องทางให้มีการพูดคุย รวมถึงการให้โอกาสผู้ก่อความไม่สงบเข้ามามอบตัวและต่อสู้คดีของตนเองตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งการก่อความไม่สงบในไทยที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนไทยและมาเลเซียนั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีการพูดคุยกันกับประเทศเพื่อนบ้าน และขอความร่วมมือ แต่การร่วมมือนั้นจะมาในรูปแบบใดเป็นเรื่องที่จะต้องรอดู ทั้งนี้คิดว่า มาตรการของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างถูกทาง ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ยึดถือแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเป็นหลัก และพร้อมทำตามคำสั่งของรัฐบาล

แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากประชาชนขณะนี้ปฏิเสธความรุนแรงจากการก่อเหตุในพื้นที่ภาคใต้ โดยเรามีแนวทางในการแก้ไขปัญหาชัดเจน คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความเป็นธรรม ดูแลให้สิทธิด้านมนุษยชน สร้างภาพแวดล้อมให้ประชาชนเกิดความปลอดภัย

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับกองทัพ เป็นส่วนของนโยบายรัฐบาล ส่วนจะทำให้เกิดผลดีหรือผลเสียหรือไม่นั้นก็ต้องดูกันต่อไป ถ้าหากกลุ่มคนที่รัฐบาลไปลงนามข้อตกลงสามารถควบคุมระดับปฏิบัติการในพื้นที่ได้ก็เป็นเรื่องดี แต่ในส่วนของกองทัพก็ยังต้องทำหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยต่อไปหากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยังก่อเหตุอยู่ สำหรับการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นนั้น แม้จะไม่มีการลงนามดังกล่าวทางกองทัพก็ทำหน้าที่ตามปกติอยู่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น