ASTVผู้จัดการรายวัน - เลขาฯสมช.ไทย นำคณะประวัติศาสตร์ ลงนามเจรจาสันติภาพกับโจรใต้ “กลุ่มบีอาร์เอ็น”เป็นกลุ่มแรก ไร้เงื่อนไขต่อรอง เชื่อมีอีกหลายกลุ่มพร้อมจับเข่าคุย อ้างย้ำ”มาเลย์”ตัวกลางประสาน รอประเมินผลสถานการณ์ 2 สัปดาห์ “นายกฯปู” ยอมรับ พี่แม้วช่วยประสานรัฐ อ้างเป็นคนไทยอยากเห็นบ้านเกิดสงบสุข หลังนายกฯมาเลย์ปูดเป็นตัวประสานทุกเรื่อง แต่ไม่การันตีเหตุการณ์จะสงบ
วานนี้ ( 28 ก.พ.) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ประเทศมาเลเซีย เวลา 10.00น. มีพิธีลงนามการแสดงเจตนารมย์ทั่วไปในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ข้อตกลงทั่วไปในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ “general consensus document to launch a dialogue process for peace in the border province of southern Thailand” ระหว่างเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ของไทยกับมาเลเซีย และนายฮาซัน ตอยิบ หัวหน้าฝ่ายประสานงานต่างประเทศขบวนการ บีอาร์เอ็น โคออดิเน็ท ผู้รับมอบอำนาจพร้อมแกนนำอีก 5 คน โดยตัวแทนฝ่ายไทยที่ร่วมพิธีประกอบด้วย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ท.สุรวัฒน์ บุตรวงษ์ ผู้แทน กอ.รมน. พล.ต.ท.สฤษดิ์ชัย เอนกเวียง ผบช.สันติบาล และผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส
ขณะที่ตัวแทนประเทศมาเลเซีย ประกอบด้วย ดาโต๊ะมูฮัมหมัด ทาจูดดิน บินอับดุลวาฮับ เลขาธิการสมาภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเซีย พร้อมด้วย รมช.ต่างประเทศมาเลเซีย ผู้บริหารระดับสูงของมาเลเซีย ซึ่งการลงนามดังกล่าว ทางการมาเลเซีย ได้อำนวยความสะดวกในเรื่องของสถานที่และประสานงาน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพูดคุยเพื่อสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
โดยมีเนื้อหาของการลงนามเจรจาสันติภาพ ระบุว่า "รัฐบาลไทยกำหนดให้เลขาธิการทั่วไปแห่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (ณ ที่นี้หมายถึง พรรค A)เป็นหัวหน้าคณะในการสนับสนุนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยเรายินดีที่จะร่วมสร้างสันติภาพกับประชาชนผู้มีความคิดเห็นและอุดมการณ์ที่แตกต่างระหว่างรัฐ (ณ ที่นี้หมายถึง พรรค B) เพื่อเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนในการแก้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ภายใต้กรอบและรัฐธรรมนูญของไทย ในขณะที่มาเลเซียยินดีที่จะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ ซึ่งทั้งนี้มาตรการรักษาความปลอดภัยต่างๆจะถูกมอบให้กับผู้ร่วมผลักดันกระบวนการสันติภาพ จนกว่ากระบวนการนี้จะเสร็จสิ้น ลงนาม ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ 28 ก.พ. 2013"
**ไร้เงื่อนไขต่อรอง เป็นไปตามรธน.ไทย
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ เป็นดำเนินการต่อเนื่อง จากการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยและมาเลเซีย ซึ่งได้มอบหมายให้ สมช.ของ 2 ประเทศ ร่วมกันหาทองออกเพื่อสันติภาพ และประเทศไทยได้ดำเนินการตามนโยบายภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มต่างๆ ในหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มบีอาร์เอ็น ได้เข้ามาร่วมหารือเป็นกลุ่มแรก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้ และเชื่อมั่นว่าจะมีอีกหลายกลุ่มเข้ามาหารือในลักษณะนี้ ดังนั้นเมื่อเกิดการพูดคุยแล้วมั่นใจว่า บรรยากาศสันติภาพในพื้นที่จะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการพูดคุยกับผู้แทนกลุ่มบีอาร์เอ็นยังไม่มีเงื่อนไขต่อรอง และจะมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง โดยภายใน1-2 สัปดาห์ ก็จะมีการพูดคุยกับอีกหลายกลุ่ม ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นและเกิดความชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทางรัฐบาลมาเลเซียพร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุน เพื่อให้เกิดสันติภาพโดยเร็ว
** มทภ.4 ชี้เป็นเรื่องรบ. ไม่เกี่ยวกองทัพ
พล.ท.ภราดร ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์จากประเทศมาเลเซียว่า มีข้อตกลงที่จะร่วมกันพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปสู่สันติสุข ทั้งนี้จะมีการพูดคุย และแสดงความคิดเห็นถึงปัญหาในพื้นที่ โดยจะเป็นการจัดเวทีพูดคุยเพื่อให้เกิดสันติภาพ สำหรับการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นในครั้งนี้ถือว่าเป็นการเปิดกุญแจดอกแรก เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการพูดคุยครั้งนี้เป็นไปตามแผนนโยบายการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามแผนพัฒนาข้อ 8 ของ สมช. อย่างไรก็ตามประเทศมาเลเซียพร้อมจะประสานให้ความร่วมมือดังกล่าว โดยหลังจากนี้อีก 2 สัปดาห์จะมีการหารือเพื่อติดตามการลงนามในเรื่องดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนการเดินทางมายังประเทศมาเลเซียของ นายกรัฐมนตรี ในวันนี้ ตนไม่ทราบว่านายกฯ จะได้มีโอกาสพบปะเพื่อพูดกับกลุ่มตัวแทนทั้ง 4 คนของกลุ่มบีอาร์เอ็นหรือไม่ เรื่องนี้คงจะต้องรอเช็คตารางเวลาของนายกฯอีกครั้งหนึ่ง
พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพ โดยทางทหารได้เปิดช่องทางให้มีการพูดคุย รวมถึงการให้โอกาสผู้ก่อความไม่สงบเข้ามามอบตัวและต่อสู้คดีของตนเองตามกระบวนการยุติธรรม แต่การร่วมมือนั้นจะมาในรูปแบบใดเป็นเรืองที่จะต้องรอดู ทั้งนี้คิดว่า มาตรการของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างถูกทาง ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ยึดถือแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเป็นหลัก และพร้อมทำตามคำสั่งของรัฐบาล
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ( กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับกองทัพ เป็นส่วนของนโยบายรัฐบาล ส่วนจะทำให้เกิดผลดี ผลเสียหรือไม่นั้น ก็ต้องดูกันต่อไป ถ้าหากกลุ่มคนที่รัฐบาลไปลงนามข้อตกลงสามารถควบคุมระดับปฏิบัติการในพื้นที่ได้ก็เป็นเรื่องดี แต่ในส่วนของกองทัพก็ยังต้องทำหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยต่อไป
** นายกมาเลยปูด“แม้ว”อยู่เบื้องหลังเจรจา
เมื่อเวลา 14.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศมาเลเซีย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกัรฐมนตรี พร้อมคณะ ได้เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย เพื่อเข้าร่วมประชุมหารือประจำปีระหว่างไทย-มาเลเซีย (Annual Consultation) ครั้งที่ 5 โดยมีตัวแทนทั้งฝ่ายไทยและมาเลเซียให้การต้อนรับ
จากนั้นเวลา 15.00 น. คณะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางมายังทำเนียบนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยมี นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ใหัการต้อนรับด้วยตนเอง ก่อนเข้าร่วมหารือทวิภาคีในประเด็นความร่วมมือต่างๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศและภายหลังการหารือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายนาจิบ ได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลง และ
บันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู)หลายประเด็น และเห็นพ้องที่จะจัดการประชุมหารือประจำปีครั้งต่อไปซึ่งนับเป็นครั้งที่ 6 ที่ประเทศไทยโดยในระหว่างแถลงข่าวร่วมกัน นายราจิบได้กล่าวช่วงหนึ่งว่า มีความยินดีที่จะอำนวยความสะดวกในการหารือแนวทางการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ของไทยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง และมีความยินดีที่มีการลงนามร่วมกันระหว่าง พล.ท.ภราดร เลขาสมช.ของไทย กับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยต่อไปนี้จะเห็นการพูดคุยและเจรจาเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ของไทย ซึ่งตนหวังว่าจะได้ผลที่น่ายินดีกับประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งนี้เห็นว่าการเริ่มหารือในครั้งนี้ต้องชื่นชม น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ผลักดันให้เกิดการเจรจาดังกล่าว หลังจากนี้เชื่อว่าจะมีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเพื่อนำไปสู่สันติภาพ โดยเปลี่ยนพื้นที่รุนแรงเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนา และย้ำว่ามาเลเซียยินดีให้ความร่วมมือในฐานะผู้อำนวยความสะดวกและเป็นผู้หารือกับคณะทำงานร่วมกันระหว่างไทยกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียและสนับสนุนคณะทำงานให้เกิดผลโดยคาดว่าอีกสองสัปดาห์จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ไทยกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ทั้งนี้ในระหว่างการตอบคำถามสื่อมวลชน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ยังยอมรับด้วยว่า การเจรจาระหว่างเลขาสมช.และกลุ่มบีอาร์เอ็นที่เกิดขึ้นได้ ส่วนหนึ่งมาจากการผลักดันของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ในอนาคตมาเลเซียพร้อมที่จะเป็นคนกลางและเปิดเวทีในการพูดคุย เพื่อเดินหน้ากระบวนการสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ของไทยด้วย
**ปู"อ้างพี่ชายอยากเห็นบ้านเกิดสงบสุข
เเวลา 18.15 น. ที่โรงแรมแมริออท ปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงถึงผลสำเร็จในการมาหารือประจำปี ครั้งที่ 5 โดยได้แสดงความมั่นใจถึงความร่วมมือของมาเลเซียในการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ตนมั่นใจว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นที่มาเลเซียครั้งนี้เป็นเจตนารมณ์ร่วมกันที่ต้องการสร้างสันติสุขในพื้นที่ และมาเลเซียได้แสดงเจตนารมณ์ที่ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงและการแบ่งแยกดินแดน รวมถึงไม่ยินยอมให้ผู้ก่อความไม่สงบมาใช้พื้นที่ของมาเลเซียในการไปก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และหากถามว่าตนมีความมั่นใจแค่ไหนว่าความรุนแรงจะลดลงนั้น สิ่งที่มั่นใจคือเจตนารมณ์ร่วมกันที่อยากเห็นสันติภาพเกิดขึ้น โดยเริ่มจากการเจรจาและพูดคุย จากนั้นจึงมาพิจารณาถึงขั้นตอนการดำเนินการ รวมทั้งการน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา”มาใช้
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนการที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียระบุว่าการพูดคุยกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของไทยกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นเกิดขึ้นได้มาจากการสนับสนุนโดย พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น ต้องยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณก็เป็นคนไทยคนหนึ่งที่อยากเห็นบ้านเกิดเมืองนอนมีความสงบสุข ซึ่งก็หมือนกับทุกๆคน จึงไม่อยากให้มองเจตนารมณ์ผิดเพี้ยนไป เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นวาระของชาติที่ทุกคนต้องช่วยแก้ปัญหา และอย่ามองเป็นเรื่องการเมือง เราพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกคน
“วันนี้ถือเป็นการเริ่มกระบวนการพูดคุย ยังไม่เข้าสู่การเจรจาอะไร ยังไม่มีการพูดกับกลุ่มกลุ่มหนึ่ง แต่เราต้องการพูดคุยกับทุกกลุ่ม เราต้องมีการศึกษาก่อน จากนั้นจึงไปสู่ขั้นตอนการเจรจา ซึ่งทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ส่วนที่มีบางฝ่ายเกรงว่าจะเป็นการยกระดับให้กลุ่มก่อความไม่สงบ กลายเป็นปัญหาระดับชาตินั้น ขอยืนยันว่าครั้งนี่เป็นการพูดคุยเท่านั้น และขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เป็นห่วง ส่วนจะลดความรุนแรงในพื้นที่ได้หรือไม่นั้น ดิฉันต้องบอกว่าเราเห็นิศทางการแก้ปัญหาที่ดีขึ้น และถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ”นายกรัฐมนตรี กล่าวในคำถามที่ว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นตัวจริงหรือไม่
**พูโลเอาบ้างแถลงให้มาเลย์ตัวกลาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเว็บไซต์ของ องค์การสหปาตานีเสรี หรือ พูโล http://puloinfo.net ได้ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า องค์การสหปาตานีเสรี หรือ PULO ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งในเครือข่ายขบวนการปลดปล่อยมลายูปาตานีรู้สึกยินดีต่อการตัดสินใจของรัฐบาลราชอาณาจักรไทยที่ขอให้มาเลเซียอำนวยความสะดวกในการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติความขัดแย้งในเขตยึดครองของไทยที่ภาคใต้หรือปาตานี PULO และกลุ่มอื่นๆในเครือมีจุดยืนที่ชัดเจนมานานแล้วทั้งในการติดต่อที่เป็นความลับและคำแถลงซึ่งเราเปิดอกเสมอต่อการหาทางแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธีโดยการเจรจา ตราบใดที่รัฐบาลราชอาณาจักรไทยมาพร้อมกับคณะผู้แทนที่จริงใจและได้รับมอบอาณัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เราจะตอบสนองด้วยการแต่งตั้งผู้แทนที่ถูกต้องเช่นกันต่อการมีส่วนร่วมในการเจรจาด้วยความจริงใจเพื่อสันติภาพ
เราหวังว่ามาเลเซียมีความจริงใจและสามารถช่วยจัดพื้นที่ปลอดภัยเพื่อร่วมเจรจาในครั้งนี้ เราคาดหวังที่จะได้รับเชิญการพบปะกับผู้แทนของรัฐบาลราชอาณาจักรไทยอย่างสวัสดิภาพและปลอดภัยในการรับฟังข้อเสนอต่างๆในความพยายามเพื่อหยุดยั้งความรุนแรงและยุติความขัดแย้งอย่างสันติ
**“ถาวร”ซัดแค่สร้างภาพหวังผลการเมือง
นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า คงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาล ว่าสถานการณ์จะสงบลงหรือไม่ เพราะเบื้องต้นจะเห็นได้ชัดว่า เป็นการหวังผลการเมืองของผู้นำทั้งไทย และมาเลเซีย โดยในส่วนของไทย จะเป็นเกมการเมืองหลังจากที่กลุ่มวาดะห์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาในปัญหาดังกล่าว ในส่วนของมาเลเซีย ก็จะมีการเลือกตั้งในเร็วๆ นี้ จึงคงไม่มีการส่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุความรุนแรงมายังไทย เพราะหวั่นว่า จะกระทบต่อฐานที่นั่งของตนเอง ดังนั้นจึงยังไม่เห็นถึงแนวทางสันติภาพเพราะในไทยเอง
นายถาวร กล่าวอีกว่า แม้ว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นจะเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในภาคใต้ แต่อย่าลืมว่า ปัจจุบันยังมีกลุ่มบุคคลที่เคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรง ซึ่งเป็นพวกที่ได้รับผลกระทบจากความไม่ยุติธรรม จากรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นายคำนูณ สิทธิสมาน สว.สรรหา ระบุ ในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า รัฐบาลจะต้องชี้แจงต่อประชาชนทั้งประเทศ และต่อรัฐสภา ถึงรายละเอียดในหนังสือที่ไปลงนามกับตัวแทน BRN ในมาเลเซียวันนี้ ไม่มีอะไรดีกว่าชี้แจงต่อประชาชนผ่านรัฐสภาตามช่องทางมาตรา 179 ได้หารือกับส.ว.อนุศาสน์ สุวรรณมงคล และส.ว.พล.อ.เกษมศักดิ์ ปลูกสวัสดิ์ กรรมาธิการวิสามัญภาคใต้ของวุฒิสภาอาจจะมีท่าทีแถลงออกมาในวันวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม 2556
** ทำแผนโจรใต้บึ้มโรงแรมลี การ์เดนส์
ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ เวลาประมาณ 15.00 น. พล.ต.ต.สุวิทย์ เชิญศิริ ผบก.ภ.จวสงขลา พ.ต.อ.อำพล บัวรับพร รองผกก.สส.ภ. 9 พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษภาค 9 และตำรวจสภ.หาดใหญ่ รวมกว่า 100 นาย พร้อมอาวุธครบมือ ควบคุมนายเจะหมะ วานิ ผู้ต้องหาลอบวางระเบิดโรงแรมลี การ์เดนส์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เหตุเกิดวันที่ 31 มีนาคม 2555 ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ
ตลอดการทำแผน มีประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมากยืนรอดูหน้านายเจะหมะ และมีหญิงสาวคนหนึ่งตะโกนด่าด้วยคำหยาบคาย ใช้เวลาทำแผนนี้เกือบ 1 ชั่วโมง จึงควบคุมตัวไปต่อที่มัสยิดควนลัง หมู่ 3 ต.ควนลัง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดที่ทั้ง 3 คนรวมตัวกัน หลังทำแผนเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวนายเจะหมะ กลับไปยังศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ยะลา
*** ต่างชาติมองประสบความสำเร็จยาก
ทางด้านสำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่า พวกนักวิเคราะห์ต่างแสดงความกังขาต่อคำกล่าวที่ว่า ข่าวการลงนามเพื่อเปิดการเจรจาสันติภาพระหว่างกลุ่มบีอาร์เอ็นกับทางการไทย เป็นเครื่องหมายแสดงถึงการผ่าทางตัน โดยพวกเขาต่างชี้ให้เห็นว่าพวกกบฎในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมีลักษณะที่แตกเป็นกลุ่มๆ ไร้เอกภาพ ไร้ซึ่งข้อเรียกร้องที่เป็นรูปธรรม ทำให้ทางการไทยประสบความลำบากในการเสาะหาผู้ซึ่งเป็นตัวแทนที่สามารถพูดจาเข้าถึงพวกนักรบในภาคสนามได้จริงๆ
เอเอฟพีบอกว่า ขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นคำย่อของชื่อในภาษามาเลย์ว่า “บาริซาน เรโวลูซิ นาชันนัล” หรือ “แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ” นั้น เป็น 1 ในกลุ่มกบฎขนาดใหญ่ๆ หลายกลุ่มที่ถูกไทยกล่าวโทษว่าเป็นผู้ก่อความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทว่ายังจะต้องติดตามกันต่อไปว่า มีกลุ่มกบฏอื่นใดอีกหรือไม่ที่ยินยอมกระทำตามบีอาร์เอ็น
ในการแถลงข่าวที่กัวลาลัมเปอร์คราวนี้ ทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีไทย และนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ต่างไม่ได้ระบุวันที่ที่จะเปิดการเจรจากันอย่างชัดเจน ขณะที่เจ้าหน้าที่มาเลเซียผู้หนึ่งบอกว่า การพบปะกันของบีอาร์เอ็นกับทางการไทยนั้น ในเบื้องต้นจะเป็นการหารือเพื่อตกลงกันเกี่ยวกับ “ข้อกำหนดต่างๆ เพื่อการอ้างอิง” (terms of reference) สำหรับการดำเนินการในขั้นต่อๆ ไป เจ้าหน้าที่ผู้นี้บอกด้วยว่า หวังกันว่ากลุ่มกบฎอื่นๆ จะเข้าร่วมในการเจรจานี้ในเวลาต่อไปข้างหน้า
“ขอให้พวกเราทั้งหมดตั้งความหวังและสวดอ้อนวอนว่า การสนทนากันอย่างต่อเนื่องเป็นชุดเช่นนี้ ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในเวลา 2 สัปดาห์ในกัวลาลัมเปอร์ จะสามารถนำมาซึ่งผลลัพธ์อันเป็นที่พึงปรารถนาได้” นายนาจิบ ผู้นำมาเลเซียกล่าว
ขณะที่ มาร์ค แอสคิว ผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาคใต้ของไทยแห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย แสดงความเห็นว่า ยังแทบไม่มีหลักฐานใดๆ เลยว่า ผู้ที่ “แต่งตั้งตัวเอง” เป็นตัวแทนของกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ มีอำนาจควบคุมเหนือพวกนักรบที่กำลังก่อการกบฎอยู่ในเวลานี้“ความท้าทายยังคงเป็นอย่างเดียวกันกับที่เคยเป็นมา นั่นคือ เรื่องการติดต่อกับพวกผู้ก่อความไม่สงบที่กำลังดำเนินการต่อสู้อยู่จริงๆ ให้ได้ ไม่ใช่เป็นการติดต่อเพียงแค่กับพวกนักเจรจาเท่านั้น” เขากล่าวกับเอเอฟพี
ทางด้าน ดันแคน แมคคาร์โก นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ สำทับว่า ในอดีตที่ผ่านมาการเจรจาในช่องทางลับๆ ระหว่างพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายไทยกับพวกตัวแทนกบฎกลุ่มต่างๆ นั้น แทบไม่บังเกิดความก้าวหน้าอย่างจริงจังอะไรเลย“ภายใต้สถานการณ์ดังที่กล่าวมานี้ ข่าวคราวล่าสุดนี้จึงยังจำเป็นที่จะต้องมองกันด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก” เขาเตือน
เอเอฟพีระบุว่า พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็กล่าวยอมรับในวันพุธ(27ก.พ.)ว่า ประเทศไทยยังคงกำลังดำเนินการระบุชี้ตัวว่าจะเจรจากับพวกผู้นำผู้ก่อความไม่สงบคนไหนอย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ได้เสนอความคิดเห็นของ แอนโธนี เดวิส นักวิเคราะห์ที่ตั้งฐานอยู่ในไทยและทำงานให้ ไอเอชเอส-เจนส์ บริษัทที่ปรึกษาด้านความมั่นคงชื่อก้อง โดยที่ เดวิส บอกว่า ครั้งนี้ถือเป็น “หลักหมายที่สำคัญมาก” ครั้งหนึ่ง “ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องเคยๆ ที่ทำๆ กันมาแค่นั้น นี่เป็นการพบปะพูดคุยในระดับที่ยอมรับความชอบธรรมของฝ่ายค้านที่ใช้กำลังอาวุธในภาคใต้ของไทย เมื่อพิจารณาจากจุดนี้ในทางเป็นจริงแล้ว มันก็คือจะไม่มีการหวนกลับไปอีกแล้ว”