นาทีนี้ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า “เก้าอี้” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกแล้ว สำหรับพลพรรค “เพื่อไทย” ที่ทุ่มทุกสรรพกำลังเต็มพิกัดหวังยึดฐานที่มั่นสุดท้ายของพรรคประชาธิปัตย์ให้ได้
เรียกว่า มุกเด็ด ไม้เด็ด นโยบายทำได้ ทำไม่ได้ มีเท่าไหร่จัดเต็มจัดหนักออกมาไม่ยั้ง
ยิ่งทั้งโพลเป็นกลางและโพลเชลียร์เผยตรงกันว่า “จูดี้” พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคเพื่อไทยมีคะแนนนำ “คุณชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร แชมป์เก่าจากพรรคประชาธิปัตย์อยู่ด้วย อย่างไรงานนี้โปรเจ็กต์ยึดเมืองหลวงต้องทำให้สำเร็จ
โดยเฉพาะท่าทีของรัฐบาล “ปูจ๋า” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ ณ ปัจจุบันแสดงอาการอย่างแจ่มชัดแล้วว่า เวลานี้ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าชัยชนะในสนามเลือกตั้งชิงเก้าอี้พ่อเมืองกรุง ไล่เรียงตั้งแต่การที่ “ยิ่งลักษณ์” โหมกระหน่ำลงพื้นที่หาเสียงอย่างต่อเนื่อง ชนิดหมดเวลาราชการทันใดเจ้าตัวหายวับไปควง “จูดี้” หาเสียงเรียกคะแนนจนดึกดื่นทันที
เรียกว่าใส่สุดตัวแบบไม่กลัวหน้าแตก ไม่เหมือนช่วงแรกที่กั๊กๆเหมือนเงี่ยรอดูทิศทางลม
เช่นเดียวกับบรรดา ส.ส. แกนนำ สมาชิกพรรค ที่แห่แหนกันลงพื้นที่อย่างหนักแบบกลัวตกขบวนความดีความชอบ อะไรที่พอหวือหวาตื่นตาตื่นใจเรียกคะแนนได้พรรคเพื่อไทยทำหมด
เรียกว่าชั่วโมงนี้อื่นๆ ที่แทรกซ้อนเข้ามา “รัฐบาล-พรรคเพื่อไทย” แถบจะเขี่ยทิ้งไว้ข้างตัวก่อนเกือบแทบทั้งสิ้น ชนิดเสร็จศึกชิงเมืองหลวงเมื่อไหร่ค่อยว่ากัน
ไล่เรียงตั้งแต่ในคิวของ “สารวัตรเหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ที่ทุ่มทิ้งปัญหาระดับชาติอย่างสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังร้อนระอุ มีคนบาดเจ็บล้มตายกันรายวัน แล้วมาอุทิศตนหาเสียงให้กับ “จูดี้”
เช่นเดียวกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ที่ทั้งแกนนำคนเสื้อแดง และนักวิชาการเสื้อแดงร่อนหนังสือเสนอถึง ก็ยังต้องถูกเก็บเข้าลิ้นชักไปหมักไปดอง
ขณะที่การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ย่อยในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา ที่สืบเนื่องมาจากการถึงแก่อสัญกรรมของ “ชุมพล ศิลปอาชา” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่จนบัดนี้ก็ดูเหมือนจะยังหาความลงตัวไม่ได้
ตลอดจนศึกสำคัญในการต่อสู้คดีปราสาทเขาพระวิหาร ที่ใกล้จะถึงวันแถลงด้วยวาจาครั้งสุดท้ายต่อศาลโลกเต็มที แต่รัฐบาลกลับแทบไม่เคยพูดถึงหรือแสดงถึงความคืบหน้าที่เป็นโล้เป็นพาย
ยิ่งหากนับรวมเอาวิชามารที่พลพรรคเครือข่ายนายห้างเล่นงานคู่แข่งฝั่งตรงข้ามโดยอาศัยหน่วยงานยุติธรรมภายใต้การบังคับบัญชาอย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นกลไก ทั้งคดีการสร้างโรงพัก (ทดแทน) 396 แห่งล่าช้า คดีการต่อสัญญาโรงไฟฟ้าบีทีเอส และคดีบริจาคเงินเข้าพรรคประชาธิปัตย์
ยิ่งตอกย้ำชัดๆ ว่าทีมงาน “พรรคสีแดง” ตั้งความหวังไว้สูงขนาดไหนกับเก้าอี้พ่อเมืองกรุงหนนี้
อย่างไรก็ดี ตามจังหวะที่รัฐบาลเล่นกวาดขยะไว้ใต้พรมเพื่อรอให้เสร็จศึกผู้ว่าฯกทม.ไปก่อนรอบนี้ ก็ทำให้สถานการณ์การเมืองหลังจากนี้น่าจับตาอยู่ในระดับที่ “ระทึก” ไม่น้อย
ไล่เรียงตั้งแต่อุณหภูมิร้อนๆ ที่ต้องเกิดเป็นเรื่องแรก คือคิวของร่าง พ.ร.ก.นิรโทษกรรม ฉบับแกนนำคนเสื้อแดง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยการนิรโทษกรรม ตลอดจนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เที่ยวล่าสุดที่มี “ตี๋น้อย” เจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เป็นหัวเรือใหญ่ ที่ได้ล็อกหมายให้เริ่มต้นกระบวนการในช่วงต้น “มีนาคม” ที่จะถึงนี้
แน่นอนว่า ทุกครั้งที่มีการหยิบจับกฎหมายดังกล่าวขึ้น ทุกสายตาจะจับจ้องไปที่เนื้อหาว่าเอื้อประโยชน์ให้กับ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ และยิ่งหากมีความคลุมเคลือในเนื้อหา แรงเสียดทานจากสังคมจะสูงขึ้นทันที
อุณภูมิร้อนๆ ก้อนที่สองคือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังค้างเติ่งอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่ 3 ที่ขณะนี้คณะทำงานศึกษาแนวทางการทำประชามติได้มอบให้สถาบันศึกษาไปทำการศึกษามาตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ก็จวนจะครบกำหนดส่งผลการศึกษาคืนคณะทำงานดังกล่าวใน “มีนาคม” นี้แล้วเช่นกัน
ซึ่งเมื่อได้รับผลการศึกษาแล้ว รัฐบาลก็ต้องมากำหนดท่าทีและแนวทางต่อไปอีกครั้งว่าจะเลือกเดินหน้าต่อไปอย่างไร โดยมีปัจจัยหลายอย่างบีบบังคับ เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะเลือกวิธีใดก็มีอุปสรรคเข้ามาสกัดกั้นแผนการฉีกรัฐธรรมนูญทุกที
จากปฏิทินสองกฎหมายที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อ “นายใหญ่” ข้างต้น อีกปมร้อนที่จะทำให้ “เมษายน” ปีนี้ร้อนแรงเหมือนกับเดือนเมษายนของทุกๆปีที่ผ่านมา คือในคิวชี้ชะตา “คดีปราสาทเขาพระวิหาร” ที่จะมีการแถลงด้วยวาจาครั้งสุดท้ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์
โดยขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังจับจ้องรอดูข้อต่อสู้ที่ทีมทนายความจากไทย ที่มี “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหัวเรือจากฝั่งรัฐบาล ยกไปต่อสู้กับ “กัมพูชา” อย่างใจจดใจจ่อว่า สมศักดิ์ศรี และได้ทำอย่างเต็มที่ชนิดสุดความสามารถหรือไม่
เพราะหากถึงวันจริงแล้วภาพปรากฎออกมาไปในทำนอง “เกี้ยเซี้ย” สมยอมกัน แน่นอนว่ากระแสต่อต้าน “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” และการเคลื่อนไหวใหญ่ จะปะทุขึ้นอีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้องอย่าลืมว่าเรื่องของชาติคือ ปมที่กระตุ้นอารมณ์คนไทยได้ไม่ยากเลย
ดูแล้ว “เมษายน” ในปี “งูเล็ก” หนนี้ จะดุกว่าปี “งูใหญ่” หรือไม่อีกไม่นานคงได้รู้กัน เพราะ “ระเบิดเวลา” ที่เป็นขยะใต้พรมที่รัฐบาลพยายามเขี่ยๆ ซุกเอาไว้เป็นกองพะเนินแบบไม่ได้เหลียวมอง ถึงคิวแผงฤทธิ์เขย่า “รัฐบาลนางลอย” กันแล้ว
อีกทั้งยิ่งน่าสนใจไม่น้อย หากไปนับดูสถิติย้อนหลังสถานการณ์การเมืองในช่วง “เมษายน” ของทุกๆ ปีที่ผ่านๆ มาจะพบว่า แต่ละรัฐบาลมักเจอเรื่องร้อนๆ ให้สะดุ้งสะเทือนกันช่วงนี้อยู่เป็นประจำ
เช็กสภาพการณ์ตั้งแต่เสร็จศึกเลือกผู้ว่าฯ กทม.ไปแล้ว ในเดือนมีนาคม ต่อเนื่องถึงเดือนเมษายนปีนี้ จึงพลาดไม่ได้เลย